xs
xsm
sm
md
lg

ฝุ่นตลบ! ชงทีมกลั่นกรองฯ ขอเงินกู้สู้โควิดแล้ว! 3.7 แสนล้าน "สภาพัฒน์"ไม่เชื่อ ส.ส.ตั้้งโต๊ะแบ่งเค้กเงินกู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




สารพัดหน่วยราชการ/จังหวัด ใช้เวลา 4 วัน เสนอโครงการขอใช้เงินกู้สู้โควิด-19 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ/ชุมชนฐานราก ให้ทีมกลั่นกรองแล้ว 3.7 แสนล้านบาท จำนวน 28,331 โครงการ ผ่าน 13 กระทรวง 55 จังหวัด "จังหวัด/อำเภอ" ขอ 5.3 หมื่นล้าน ส่วน อปท. 3 ระดับ ชง 2.2 หมื่นโครงการ ของบฯ เกือบ 1 แสนล้าน "ส่วนราชการประจำจังหวัด" ชงผ่านจังหวัด 5.4 หมื่นล้าน ด้าน "ส่วนกลาง" ไม่น้อยหน้า 13 กระทรวง พ่วง 4 หน่วยงานสังกัดนายกฯ ชงแล้ว 115 โครงการ ของบฯ 1.68 แสนล้านบาท ส่วน "ประธานทีมกลั่นกรองฯ" เปิดช่องทาง วอนประชาชนเจ้าของเงิน ร่วมตรวจสอบทุกขั้นตอน ยัน "คงทำไม่ได้" หาก ส.ส. ตั้้งโต๊ะแบ่งเค้กเงินกู้

วันนี้( 8 มิ.ย.) มีรายงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ นำแถลงข่าว ในฐานะประธานกรรมการ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามมาตรา 7 ของ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 "โควิด-19" พ.ศ.2563” ตามแผนงาน หรือโครงการที่ 3 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม (วงเงิน 400,000 ล้านบาท)

โดยล่าสุด มีความคืบหน้าภายหลัง จากเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. สภาพัฒน์เพิ่ง ชี้แจงแผนงาน โดยมีหน่วยงานรัฐได้เสนอโครงการมาเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. หลัง ดังนี้

แผนงาน 3.1 การพลิกฟื้นกิจกรรมเศรษฐกิจ เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เกษตรเพิ่มมูลค่า เศรษฐกิจชีวภาพ การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพสูง เพื่อพัฒนายั่งยืน ขณะนี้กำลังอยู่ขั้นตอนวิเคราะห์ มีโครงการที่น่าสนใจ ที่เสนอมา 91 โครงการ วงเงิน 220,000 ล้านบาทเศษ ส่งมายังคณะกลั่นกรองฯ เช่น โครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการสร้างแพลทฟอร์มจากเครื่องจักร "ยืมใช้เครื่องจักร" เป็นต้น แต่จะต้องกลั่นกรองตามกรอบต่อไป

แผนงาน 3.2 เศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชน ด้านการเกษตร/การพัฒนาแห่งน้ำเพื่อชุมชน/การท่องเที่ยวชุมชน ล่าสุดถึงวันที่ 5 มิ.ย. มีหน่วยงานเสนอโครงการ มาแล้ว 28,331 โครงการ ขอรับจัดสรรงบประมาณ 372,532.65 ล้านบาท

ประกอบด้วย โครงการที่เสนอมาแล้ว 55 จังหวัด จาก 77 จังหวัด จำนวน 28,196 โครงการ ขอรับงบฯ 203,643.48 ล้านบาท เพื่อจัดสรรผ่านช่องทาง "จังหวัด/อำเภอ" รวม 4,185 โครงการ ขอรับงบฯ 53,779.91 ล้านบาท ผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น( อปท.) ระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวม 823 โครงการ ขอรับงบฯ 16,559.77 ล้านบาท ระดับเทศบาล-องค์การบริหารสว่นตำบล (อบต.) รวม 20,407 โครงการ งบรับงบฯ 79,141.83 ล้านบาท

"ขณะที่ ส่วนราชการประจำจังหวัดที่เสนอผ่านจังหวัด รวม 2,781 โครงการ ขอรบงบฯ 54,161.96 ล้านบาท นอกจากนั้นในส่วนราชการ (ส่วนกลาง) เสนอโครงการจาก 13 กระทรวง และ 4 หน่วยงาน ที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี รวม 115 โครงการ ขอรับจัดสรรงบฯ 168,889.17 ล้านบาท"

ขณะที่ แผนงาน 3.3 การกระตุ้นบริโภค และครัวเรือน อยู่ระหว่างพิจารณา ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา (ทท.) และกระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการโครงการคูปอง 3 พันล้าน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว "ไทยเที่ยวไทย" และขณะที่แผนงาน 3.4 ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่เสนอผ่านพื้นที่และมี 3 โครงการที่ทำแพลทฟอร์มด้านดิจิทัล

"กระบวนการต่อไปนี้ จะเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่เป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน หลังจากได้รับโครงการเบื้องต้นของแต่ละจังหวัด (project brief) ที่ส่งเข้ามาภายในวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทั้งหมดเป็นแผนชุมชน จากหมู่บ้าน อำเภอที่ต้องการ โครงการไหนที่ตรงก็สามารถมาใช้ได้ โครงการที่ไม่ตรงก็สามารถดึงมาใหม่ได้ โดยต้องผ่านประชาคม"ดร.ทศพร กล่าว

ดังนั้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปประชาชนทุกคน สามารถเข้ามาดูในเว็บไซด์ www.nesdc.go.th ช่วงระหว่างวันที่ 8-15 มิ.ย. ของสภาพัฒน์ได้ (ในรูปแบบ PDF) โดยใช้เวลา 1 สัปดาห์ ก็น่าจะเพียงพอ โดยใครอยู่จังหวัดไหนก็เข้ามาดูจังหวัดตัวเอง เพราะมีการแบ่งประเภทโครงการไว้แล้ว ทั้งเกษตร แหล่งน้ำ ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลให้คณะกลั่นกรองตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

ระหว่งวันที่ 5-15 มิ.ย. ได้มีการตรวจสอบโครงการแล้ว หลังจากได้มาจากจังหวัด และส่วนราชการ เมื่อผ่านการกลั่นกรองรอบแรก จากนั้น จังหวัดจะนำโครงการไปเขียนเป็นโครงการฉบับเต็ม เพื่อส่งมายังสภาพัฒน์กลั่นกรอง โดยทุกขั้นตอนก็จะเปิดให้ประชาชนรับรู้อีกครั้ง เพื่อดูจำนวนเงินงบประมาณที่ใช้ต่อไป

"เราได้โครงการทั้งหมดของพื้นที่และของส่วนราชการมาแล้ว เพราะเราอยากให้ช่วยให้ประชาชนข้อเสนอแนะต่อโครงการในพื้นที่ว่าเหมาะสม ตรงความต้องการหรือไม่ สิ่งที่จะทำใช่ไหม ระหว่างนี้ ก่อนคณะกรรมการกลั่นกรองฯจะดำเนินการ เราจะเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ หลังจากจังหวัดส่งเข้ามา โครงการไหนผ่านเข้ารอบก็จะผ่านอนุกรรมการ ส่งถึงกรรมการ และเสนอครม.ต่อไป อย่างไรก็ตมคณะออนุกรรมการจะมีนักวิชาการภายนอก มาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านนโยบาย เศรษฐศาสตร์ มาเป็นที่ปรึกษา"ดร.ทศพร กล่าว

สำหรับ โครงการใหม่ที่ท้องถิ่นเสนอเข้ามา สามารถจัดส่ง ในวงรอบวันที่ 9 ก.ค.อีกครั้ง โดยต้องผ่าน กบจ. สามารถจัดส่งมาก่อนหน้านั้นได้

ส่วนแนวทางตรวจสอบ ในขั้นนี้นอกจากอนุกรรมการฯ จะมีกลไกการประเมินจากหน่วยงานภานนอก (Third Party Evaluation Mechanism) – UNDP/WB พร้อมเข้ามาช่วยระบบตรวจสอบ การใช้เงินกู้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท นอกจากฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญกลั่นกรองกฎหมายฉบับนี้อยู่

ดังนั้นขอเชิญประชาชน เข้ามาดูโครงการ ว่าอะไรใช่เลย อะไรต้องระมัดระวัง ทีมกลั่นกรองฯ จะได้ตรวจสอบจากข้อมูลของประชาชนเป็นหลัก โดยเราจะเลือกโครงการให้ผ่านรอบแรกก่อน โดยอาจจะรวบโครงการในจังหวัดที่เหมือนหรือคล้ายครึงกันเป็นโครงการเดียว

ต่อข้อถามกรณีมีข่าว ส.ส.อาจไปขอแบ่งเงิน จาก 4 แสนล้านกัน แผนงานทั้งหมดนี้ จะป้องกันตรงนั้นได้หรือไม่ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า "ผมไม่ได้ยินข่าวนั้น แต่คงทำไม่ได้ ซึ่งเราอยากให้ประชาชนช่วยกันดู โครงการอะไรที่เป็นประโยชน์ ตอบโจทย์จริง จะได้รอบครอบ ปัญหาแทรกซ้อน เราสกรีน จังหวัดสกรีน เราอยากได้อินพุดจากประชาชนทั่วไป จะได้รู้ว่าเงินกู้ไปไหน ตามหลักธรรมาภิบาล"

สำหรับขั้นตอน การใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก. ในส่วนของแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท โดยยึดหลักธรรมาภิบาล ของการบริหารกิจการ บ้านเมืองที่ดี

เริ่มจาก "การมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม" โดยมีข้อเสนอหรือคำขอโครงการต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนมาแล้ว ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ผ่านกลไกการตัดสินใจในระดับพื้นที่คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) ประกอบด้วยผู้แทนของทุกภาคส่วนในสังคม ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อมูลบางประการ เกี่ยวกับข้อเสนอหรือคำขอโครงการก่อนคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะพิจารณา และสามารถตรวจสอบความก้าวหน้า แจ้งความผิดปกติในการดำเนินโครงการได้โดยตรง ผ่านทางระบบ THAIme

ขั้นตอน "การเปิดเผยข้อมูล" ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอหรือคำขอโครงการเบื้องต้นของแต่ละจังหวัด (project brief) ที่ส่งเข้ามาภายในวันที่ 5 มิ.ย. สามารถเข้าสืบค้นได้ในเวปไซด์ www.nesdc.go.th ระหว่างวันที่ 8-15 มิ.ย. ที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจาก ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป

ข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการที่ผ่านการวิเคราะห์ เบื้องต้น ก่อนส่งให้คณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการกลั่นกรอง พิจารณา ช่วงระหว่างวันที่ 16-30 มิ.ย. จะเปิดให้ประชาชน และผู้สนใจทั่วไปได้ แสดงความคิดเห็น เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโครงการแล้ว จะเปิดเผยข้อมูลใน THAIme "ไทยมี" เพื่อแสดงสถานะความก้าวหน้าของโครงการ และการใช้จ่ายตามงวดเงิน และประมวลสรุปผลผลิตของโครงการ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโครงการได้ทันที.


กำลังโหลดความคิดเห็น