xs
xsm
sm
md
lg

การศึกษาที่ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 คือการศึกษาที่นำพาสู่ความยั่งยืน /ศุภชัย เจียรวนนท์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายอย่างท่ามกลางภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ทั้งหมดนี้เรายังไม่ได้แก้ปัญหาที่ “ต้นเหตุ” อย่างจริงจังเท่าที่ควร
ฉะนั้นการแก้ที่ต้นเหตุ คือ การเริ่มต้นสร้าง “กระบวนการศึกษา” ที่ใช้ความพร้อมของระบบเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศเป็นพื้นฐาน เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ถ้าเราจะสร้างให้โลกนี้น่าอยู่และอยู่ได้อย่าง “ยั่งยืน” จึงควรเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราทำอยู่ทุกวันนี้
“ผมเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยเปลี่ยนโลกได้” เพราะการศึกษาคือพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ทุกคนมีคุณค่า มีความพร้อม มีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ และยังเป็นรากลึกหล่อเลี้ยงให้ทุกชีวิตเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าโลกของเราจะเปลี่ยนไปเร็วแค่ไหนก็ตาม
ท่ามกลางภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของโลก ผมรู้สึกว่าเราแก้ปัญหาทุกอย่างที่ปลายเหชตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ เราไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับไปแก้ที่ต้นเหตุ ไปเริ่มต้นที่ตัวเด็ก เริ่มต้นที่กระบวนการศึกษาซึ่งสำคัญที่สุด
แล้วระบบการศึกษาแบบใดที่จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ผู้นำองค์กรที่คลุกคลีกับการศึกษามาโดยตลอดให้ความเห็นว่า ระบบการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญกับการผลิตคนให้เป็น “คนเก่งและดี” มีคุณสมบัติที่เป็นที่ต้องการในตลาดโลกได้ไปพร้อมๆ กัน
ผมมองว่าที่สุดเราจึงต้องกลับมามองในเรื่อง “คุณค่าและคุณธรรม” ที่ต้องทำขนานไปกับเทคโนโลยี เด็กเกิดมามีความอยากรู้อยากเห็น ทำให้เขารักในการเรียน การอ่าน การค้นคว้า วิจัย และนำไปสู่การพัฒนาสิ่งที่ใกล้ตัว เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด สำคัญกว่าการให้เด็กจำได้จากบทเรียน หรือจำได้จากวิธีทดเลขคำนวณ แต่หัวใจของการเรียนรู้จะต้องเรียนรู้จากใจ จากสิ่งที่เป็นธรรมชาติของเขา

การ “สร้างคน” คือการวางรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศและโลกใบนี้ ทั้งยังเป็นรากลึกหล่อเลี้ยงทุกชีวิตให้เติบโตต่อไปอย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ถึงเวลาที่เราต้องสร้าง Value ที่ดีด้านการศึกษาเพื่อรองรับกับสภาวะในศตวรรษที่ 21 ฉะนั้นวงการศึกษาต้องเปลี่ยนแปลง และมี “Education Ecosystem” ที่ถูกต้องและยั่งยืน จะต้องสร้างให้เกิดระบบที่มุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนโรงเรียน มีการวัดผลเติมเต็มสิ่งที่ขาด บูรณาการจุดแข็งของชุมชน และสังคม เกิดเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต และกลไกการพัฒนายั่งยืน
การสร้าง Value ที่ดีด้านการศึกษา คือการผลักดันเรื่อง Sustainable หรือความยั่งยืน โดยยึดหลัก Human Character Form ของมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 1-12 ปี ซึ่งในช่วงวัยนี้คาแร็กเตอร์ของเด็กจะปรากฏและชัดเจน ดังนั้น ถ้าเราทุ่มกำลังไปกับคนรุ่นใหม่ สร้าง Core Value ให้เขารู้ว่าความยั่งยืนมีแกนอะไรบ้าง เด็กเหล่านี้จะเปลี่ยนประเทศนี้ได้ วิธีนี้ไม่ต้องใช้เวลานานมากนัก เพราะกลุ่มเจนเนอเรชั่นที่จะขึ้นเป็นผู้ใหญ่นี้ใช้เวลาเพียง 20 ปี
หากสร้างสิ่งนี้กับคนรุ่นใหม่ได้ก็จะเป็นคลื่นที่ส่งต่อกันมาแบบ Wave after Wave ขณะเดียวกันเราก็ต้องปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อเตรียมอนาคตเด็กไทยด้วย โดยมีอย่างน้อย 5 ยุทธศาสตร์หลักที่นำมาปรับใช้ในโรงเรียนและสถานศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรมและจะช่วยผลักดันสู่ “การศึกษาที่ยั่งยืน” คือ
1.ความโปร่งใส ที่แสดงข้อมูลและตัวชี้วัดโรงเรียน และนักเรียนที่ชัดเจน
2.กลไกการตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม เชื่อมโยงให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
3.การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนให้มีคุณภาพทุกด้าน ภายใต้ตัวชี้วัดที่มีมาตรฐาน
4.หลักสูตรการเรียนการสอนที่เด็กเป็นศูนย์กลางเสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ ทำให้เด็กได้ค้นพบกระบวนการเรียนรู้ที่รู้จักตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำ และอภิปรายด้วยเหตุผล ทำให้เกิดทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต และต้องปลูกฝังให้พวกเขามีคุณธรรมจริยธรรม ผลิตคนดีคนเก่งที่เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพด้วย
และ 5.การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ไอซีที ดิจิทัลคอนเทนต์ ดิจิทัลเทคโนโลยีในการเรียนการสอน สนับสนุนให้มี Digital Infrastructures ที่มีความพร้อมเพื่อให้เกิดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้ได้อย่างทัดเทียมทุกพื้นที่ แม้อยู่ห่างไกล
หากเราพัฒนาและเตรียมพร้อม “คน” ตั้งแต่เด็กโดยวางพื้นฐานจากการศึกษา คนรุ่นใหม่ในอนาคตจะได้ตระหนักถึงคุณค่าสำคัญทั้งด้านความดี และความเก่ง คู่ขนานไปกับเทคโนโลยี สามารถคิดค้นต่อยอดนวัตกรรม สร้างองค์ความรู้ให้เกิดการส่งต่อพัฒนาต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด
ฉะนั้นการวางเข็มทิศถูกทิศไปที่เรื่องการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนตั้งแต่อายุ 1-12 ปี จะเห็นอนาคตของประเทศไทย เพราะทุกวันนี้เด็กใช้เวลาที่โรงเรียนมากถึง 2 ใน 3 โรงเรียนจึงเป็นครอบครัวที่สองของเด็ก ทั้งครู ผู้อำนวยการ เพื่อนๆ รวมแล้วเป็นอีกหนึ่งครอบครัวสำคัญ เป็นหนึ่งในที่พึ่งสำคัญของเด็กเพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงในชีวิตให้เด็ก

ศุภชัย เจียรวนนท์  ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์
ขณะนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความรู้ พัฒนาความสามารถและศักยภาพ ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมจัดการด้านการศึกษาสำหรับเด็กไทยทุกช่วงวัย และส่งเสริมการเข้าถึงความรู้แก่คนในสังคม โดยมีแนวทางการบริหารจัดการผ่าน 3 แนวทาง คือการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะ การสร้างความพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการสร้างโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ โดยบูรณาการร่วมกันเป็นเครือข่ายที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เครือฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนโอกาสการเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาทักษะที่จำเป็นแก่เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการจัดการประเด็นทางสังคม และสร้างคุณค่าร่วม ผ่านการส่งเสริมอาชีพและรายได้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มเปราะบาง
วันนี้เราไม่สามารถวิ่งไล่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุไปได้เรื่อยๆ ต่อไปอีกแล้ว ถึงเวลาที่ต้องกลับมาตั้งต้นยอมรับว่าจะต้อง “ทำสิ่งที่ยาก” ยอมใช้เวลาและลงทุนลงแรงกลับไปแก้ไขที่ต้นเหตุ ออกแบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 เพื่อช่วยสร้างโลกนี้ให้น่าอยู่ และอยู่ได้อย่างยั่งยืน
แม้จะยังไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชัดเจนได้ใน 2-3 ปี เพราะต้องใช้เวลานับ 10 ปี แต่หากลงมือปฏิรูปและปฏิบัติตั้งแต่วันนี้ “แอคชั่น” จะเกิดผลทันที เพราะเราเสมือนเป็นโดมิโนตัวหนึ่ง ถ้ามันสามารถล้มแล้วพิงไปที่โดมิโนตัวอื่น มันอาจจะเกิดผลกระทบที่ตามมา ซึ่งเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงและต่อเนื่อง เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาของเรา ซึ่งอาจจะไม่เห็นผลในทันที แต่ในอนาคตถ้าเยาวชนของเรามีศักยภาพที่ดี สังคมและประเทศก็จะดีตามไปด้วยจนนำไปสู่วงจรการพัฒนาที่มี “ความยั่งยืน” อย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น