xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ชงศาล รธน.วินิจฉัยรัฐผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าร้อยละ 51 ทำ ปชช.จ่ายแพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพ)
มติผู้ตรวจฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าร้อยละ 51 ตามแผนพลังงาน ละเมิดสิทธิประชาชนทำต้องแบกรับภาระจ่ายค่าไฟฟ้าแพง

วันนี้ (1 มิ.ย.) มีรายงานว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่าการที่รัฐผลิตกระแสไฟฟ้าน้อยกว่าร้อยละ 51 ตามยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (2559-2563) และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2018) มีผลทำให้ค่าไฟฟ้าแพง และเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองไว้ โดย พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มติดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับคำร้องเพิ่มเติมของนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) จากที่ก่อนหน้านี้นายสุทธิพรได้ยื่นเรื่องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาตรวจสอบว่าการที่กระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าในการให้เอกชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐ ลดลงต่ำกว่าร้อย 51 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรคสองหรือไม่ และผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยเมื่อ 25 มิ.ย. 62 ว่า การที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐมีน้อยกว่าร้อยละ 51 ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง พร้อมมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงพลังงานทบทวน ปรับแผน PDP 2015 และ PDP 2018 กำหนดแนวทางให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ให้แล้วเสร็จใน 120 วัน และทำให้รัฐมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ภายใน 10 ปี นับจากปี พ.ศ. 2562 แต่กระทรวงพลังงานยังโต้แย้งว่า นอกเหนือจากที่รัฐผลิตเองแล้วรัฐยังถือหุ้นอยู่ ก็เท่ากับว่ารัฐมีสัดส่วนเป็นเจ้าของอยู่เกินกว่าร้อยละ 51 แต่เอกสารหลักฐานยังไม่ครบ จึงมีการขอขยายเวลาในการชี้แจงต่อผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่


ต่อมานายสุทธิพรได้ยื่นคำร้องอ้างว่า ผลจากการที่รัฐผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าร้อยละ 51 ตามแผนดังกล่าว ทำให้ตนเองในฐานะประชาชนผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าแพงด้วย ยิ่งช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และประชาชนต้องทำงานที่บ้าน ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เห็นได้อย่างชัดเจน และที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีมติเห็นว่านายสุทธิพรถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่คุ้มครองไว้จากการกระทำของกระทรวงพลังงานที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงได้ยื่นคำร้องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบ มาตรา 46 มาตรา 56 วรรคสอง


กำลังโหลดความคิดเห็น