สถ.เวียนหนังสือ 7 ข้อ แจ้ง อปท.ทั่วประเทศ จัดงบฯ “จ่ายเงินสด-สิ่งของ” ช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด-19 ได้ ย้ำระเบียบ มท.ไม่ถือเป็นการซ้ำซ้อน เงินเยียวยารัฐ 5,000 บาท เงินเยียวยาเกษตรกร หรือเงินช่วยเหลือประกันสังคม เผยข้อ 7 อปท.ใด จำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชน นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ ให้แจ้ง “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ก่อนให้การช่วยเหลือได้
วันนี้ (24 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) มีหนังสือด่วนที่สุดถึง สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ทุกจังหวัด (ยกเว้นจังหวัดนครนายก) ภายหลังได้พิจารณาตอบข้อหารือของจังหวัดนครนายก ต่อแนวทางการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันปัญหา โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่า กรณีประชาชนได้รับเงินช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยาจากรัฐ 5,000 บาท หรือเงินเยียวยาในฐานะเกษตรกร หรือเงินช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคมแล้ว อปท.สามารถให้การช่วยเหลือได้อีกหรือไม่ จะถือว่าเป็นการซํ้าซ้อนหรือไม่ หากไม่ถือเป็นการซํ้าซ้อน อปท.สามารถให้การช่วยเหลือเป็นเงินสดหรือสิ่งของใช่หรือไม่
ข้อ 1 กรณีประชาชนได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ 5,000 บาท หรือเงินเยียวยาในฐานะเกษตรกร หรือเงินช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคมแล้ว เห็นว่า ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 12 กำหนดว่า การให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากกรณีการช่วยเหลือด้านสาธารณภัย ฉุกเฉิน ให้ อปท.ประกาศให้ประชาชนที่ประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือ ยื่นลงทะเบียน เพื่อขอรับความช่วยเหลือต่อ อปท.
เพื่อเสนอคณะกรรมการตามข้อ 9 และข้อ 12 (2) กำหนดว่า การช่วยเหลือด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้อปท.พิจารณาใช้จ่ายงบประมาณช่วยเหลือประชาชน ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด หรือหลักเกณฑ์ของกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยอนุโลม ประกอบกับระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ว่าด้วยการสงเคราะให้ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พื่ง พ.ศ. 2552 ข้อ 4 กำหนดคำนิยาม “ครอบครัว ที่ประสบความเดือดร้อน” หมายความว่า ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยที่ประสบความเดือดร้อน เพราะสาเหตุหัวหน้าครอบครัวประสบภาวะยากลำบากในการดำรงชีพ หรือไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ด้วยเหตุอื่นใด
“ดังนั้น ในกรณีที่บุคคลในครอบครัวได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยาจากรัฐ แล้ว หาก อปท.พิจารณาแล้ว เห็นว่า ประชาชนที่ได้รับเงินช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล ยังได้รับความเดือดร้อน อปท.ก็สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามระเบียบดังกล่าวได้ ตามความจำเป็น เหมาะสม ทั้งนี้ เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนของ อปท. ที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยไม่ถือเป็นการซํ้าซ้อนกับมาตรการเยียวยาจากรัฐหรือเงินเยียวยาในฐานะเกษตรกร หรือเงินช่วยเหลือ จากสำนักงานประกับสังคม แต่อย่างใด”
โดย ข้อ 2 กรณีที่ถือว่าเป็นการช่วยเหลือซํ้าซ้อน เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยตามข้อ 1 แล้วจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยตามประเด็นนี้อีก
ข้อ 3 หาก อปท.สามารถให้การช่วยเหลือได้ไม่เป็นการซํ้าซ้อน สามารถให้การช่วยเหลือโดยช่วยเหลือเป็นเงินสดหรือสิ่งของใช่หรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากระบบ Thai QM จัดเก็บข้อมูลประชาชนเป็นรายบุคคล แต่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใข้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ของ อปท. พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้ช่วยเหลือเป็นรายครัวเรือน ดังนั้น ในการช่วยเหลืออปท.จะต้องช่วยเหลือเป็นรายครัวเรือนมิใช่เป็นรายบุคคล ใช่หรือไม่ อย่างไร
เห็นว่า ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใข้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ของ อปท. พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 3 กำหนดคำนิยาม “การช่วยเหลือประชาชน” หมายความว่า การให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน หรือไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในการดำรงชีพ โดยอาจให้เป็นสิ่งของหรือจ่ายเป็นเงิน หรือการจัดบริการสาธารณะ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในระดับเขตพื้นที่หรือท้องถิ่น ตามอำนาจหน้าที่ของ อปท.
และข้อ 16 (2) กำหนดว่า การช่วยเหลือด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ อปท. พิจารณาใข้จ่ายจากงบประมาณช่วยเหลือประชาชน ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด หรือหลักเกณฑ์ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยอนุโลม ซึ่งตามระเบียบกรมพัฒนาสังคม และสวัสดิการว่าด้วยการสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พื่ง พ.ศ. 2552 ข้อ 8 กำหนดว่า การดำเนินงานสงเคราะห์ครอบครัวที่ประสบความเดือดร้อน ตามข้อ 7 ให้ดำเนินการตามความจำเป็น
“ดังต่อไปนี้ (8.1) ช่วยเหลือด้านการเงินหรือสิ่งของเป็นวงเงินในการช่วยเหลือไม่เกิน ครั้งละ 3,000 บาทต่อครอบครัว และช่วยติดต่อกันไม่เกิน 3 ครั้งต่อครอบครัวต่อปีงบประมาณ ตามรายการ ดังนี้ (8.1.1) ค่าเครื่องอุปโภคบริโภค และหรือค่าใข้จ่ายในการครองชีพตามความจำเป็น ดังนั้น อปท.จึงสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นเงินหรือสิ่งของ โดยช่วยเหลือเป็นรายครอบครัวมิใช่รายบุคคล”
ข้อ 4 ในกรณีที่ อปท.สามารถจ่ายเป็นเงินได้นั้น สามารถจ่ายเป็นเงินสด หรือต้องดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ ทั้งนี้ สามารถใช้แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online ของสำนักงานพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครนายก ได้หรือไม่
เห็นว่า ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินของอปท. พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 68 กำหนดว่า การจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิให้จ่ายเป็นเช็ค กรณีจำเป็นที่ไม่อาจจ่ายเป็นเช็คได้ ให้จัดทำใบถอนเงินฝากธนาคารเพื่อให้ธนาคารออกตั๋วแลกเงินสั่งจ่ายให้เจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิ การจ่ายเงินผ่านธนาคาร หรือด้วยวิธีอื่นใด ให้เป็นไปตามที่ สถ.กำหนด ซึ่งตามหนังสือ สถ. ที่ มท 0808.4/ว 1088 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2548 เรื่อง การจ่ายเงินโดยวิธี ผ่านธนาคารของ อปท. ได้กำหนดให้อปท.จ่ายเงินให้เจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิผ่านธนาคารได้
ดังนั้น อปท. จึงสามารถโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ ตามรายชื่อประชาชนที่ได้ลงทะเบียนไว้ได้ ส่วนการจ่ายเป็นเงินสดให้ผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานดังกล่าว ของ อปท. ยืมเงินไปจ่ายให้กับผู้มีสิทธิได้รับเงิน โดยถือปฏิบัติตาม ข้อ 84 ของระเบียบ ข้างต้น
ข้อ 5 การใช้ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการ COVID-19 กระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งให้ อปท. พิจารณาใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบฯ จากระบบ Thai QM ดังนั้น อปท.จะต้องใช้ข้อมูลจากระบบ Thai QM ใช่หรือไม่ หรือ อปท.สามารถประกาศให้ประชาชนที่ประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือยืนลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือ และนำข้อมูลดังกล่าวเข้าที่ประชุมเพื่อให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนของ อปท.พิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป
เห็นว่า ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ของ อปท. พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 12 กำหนดว่า การให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากกรณีการช่วยเหลือด้านสาธารณภัย ฉุกเฉิน ให้ อปท.ประกาศให้ประชาชนที่ประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือ ยื่นลงทะเบียน เพื่อขอรับความช่วยเหลือต่อ อปท.
เพื่อเสนอคณะกรรมการตามข้อ 9 ซึ่งข้อ 9 (1) กำหนดว่า ให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนของ อปท.มีอำนาจหน้าที่ในการนำรายชื่อ ของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนที่สำรวจโดยหน่วยงานของรัฐและรายชื่อประชาชนที่ยื่นลงทะเบียน ขอรับความช่วยเหลือต่ออปท. และสถานที่กลางมาใช้ในการพิจารณาช่วยเหลือประชาชน
ดังนั้น อปท. จึงต้องประกาศให้ประชาชนที่ประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือยื่นลงทะเบียน เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากอปท. และนำข้อมูลดังกล่าวเข้าที่ประชุมเพื่อให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนของ อปท.พิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป ส่วนระบบ Thai QM อปท.สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาช่วยเหลือประชาชนได้
ข้อ 6 ในการพิจารณาของคณะกรรมการช่วยเหลือประชาขนของ อปท. ด้านการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิต ต้องยืดตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวง พม. โดยอนุโลม จำเป็นต้องใช้แนวทางหรือเกณฑ์ที่กระทรวง พม.ตามแบบจัดเก็บข้อมูลผู้ประสบปัญหาสังคม ในกรณีได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ของกระทรวง พม. เพื่อตรวจสอบกลั่นกรอง ใช่หรือไม่ และหากประชาชนมีคุณสมบัติเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวง พม. กำหนดก็ถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติใช่หรือไม่ อย่างไร
เห็นว่า ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ของ อปท. พ.ศ. 250 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 16 (2) กำหนดว่า การช่วยเหลือด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ อปท.พิจารณาใช้จ่ายงบประมาณช่วยเหลือประชาชน ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดหรือหลักเกณฑ์ของกระทรวง พม. โดยอนุโลม
ดังนั้น จึงสามารถนำคุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอรับความช่วยเหลือ และหลักเกณฑ์การช่วยเหลือมาใช้บังคับได้ ส่วนวิธีการดำเนินการให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของอปท. พ.ศ. 2560 และที่แก้ไข เพิ่มเติม และหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.7/ว 6768 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติในการช่วยเหลือประชาชนของอปท. ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดแนวทางไว้แล้ว
กล่าวคือ ให้ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนของ อปท.จัดให้มี การสำรวจและลงทะเบียนรับเรื่องขอรับการช่วยเหลือเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้น รวบรวมข้อมูลเสนอคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนของ อปท. พิจารณา ให้ความช่วยเหลือแล้วปิดประกาศรายชื่อประชาชนที่จะได้รับความช่วยเหลือ ณ สำนักงาน อปท. และที่ทำการหมู่บ้าน ชุมชนให้ทราบ และรายงานผลการพิจารณาให้ อปท. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องใช้แนวทางตามแบบจัดเก็บข้อมูลผู้ประสบปัญหาสังคม ของกระทรวง พม. แต่อย่างใด
ข้อ 7 กรณี อปท.ใดมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชนนอกเหนือ จากหลักเกณฑ์ที่กำหนดต้องเสนอขอผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ความเห็นชอบก่อนให้การช่วยเหลือ ตามคำสั่ง กระทรวงมหาดไทย ที่ 330/2563 ลงวันที่ 23 เมษายน 2563 เรื่อง การมอบอำนาจของปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน
ซึ่งหลักเกณฑ์ของกระทรวง พม. กำหนดให้ช่วยเหลือด้านการเงินหรือสิ่งของเป็นวงเงินในการช่วยเหลือไม่เกินครั้งละ 3,000 บาทต่อครอบครัว และช่วยติดต่อกันไม่เกิน 3 ครั้งต่อครอบครัวต่อปีงบประมาณ อปท. จะสามารถกำหนดวงเงินที่สูงกว่า หรือจำนวนครั้งที่ให้การช่วยเหลือต่อปีงบประมาณมากกว่า หลักเกณฑ์ที่กำหนดได้หรือไม่ เช่น รายละ 1,000 บาท จำนวน 9 ครั้ง หรือ 2,000 บาท จำนวน 5 ครั้ง หรือ 4,000 บาท จำนวน 2 ครั้ง เป็นต้น”
เห็นว่า กระทรวงมหาดไทยได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบ กรณี อปท.ใด มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชนนอกเหนือจากหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของอปท. พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้อปท.ขอความเห็นชอบก่อน ให้การช่วยเหลือ
ทั้งนี้ มอบอำนาจให้เฉพาะในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 เท่านั้น ตามคำสั่ง กระทรวงมหาดไทย ที่ 330/2563 เรื่อง การมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน ลงวันที่ 23 เมษายน 2563
ดังนั้น หาก อปท.ใด มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชน นอกเหนือจากหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามระเบียบฯ ก็สามารถรายงานเหตุผลความจำเป็นเพื่อขอความเห็นชอบ จากผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนให้การช่วยเหลือได้