“วิษณุ” รับนายกฯ สั่งเปรียบเทียบกฎหมายรองรับหากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยืนยันสถานการณ์โควิด-19 ใช้กฎอัยการศึก-พ.ร.บ.ความมั่นคง ไม่ได้ ชี้แม้คงไว้แต่ยกเลิกข้อกำหนดได้ แจงเลื่อนเปิดสนามบิน เพราะความเสี่ยงสูง
วันนี้ (16 พ.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีกรณีให้ไปพิจารณาศึกษาเปรียบเทียบความจำเป็นในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับการใช้กฎหมายปกติ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า นายกรัฐมนตรี ให้มีการไปเปรียบเทียบว่าหากมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว จะมีกฎหมายใดมารองรับและจะทำให้เกิดผลดีหรือผลเสียต่อการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงหากมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ก็ยังมีในส่วน พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะใช้กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาใช้แทน
นายวิษณุ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การให้อำนาจผู้ว่าฯ บริหารจัดการ อาจเกิดความลักลั่นได้ เช่น บางจังหวัดอาจตรึงแต่บางจังหวัดอาจหย่อนยาน เช่น ภูเก็ต กระบี่ และ พังงา ที่เคยเกิดปัญหาก่อนหน้านี้ที่มีการโยกย้ายของคน จึงจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาคุมอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลได้ใช้กฎหมายทั้งสองฉบับนี้คู่ขนานกันมาตลอด แต่หากเลิกประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ก็จะเหลือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เท่านั้น
“หากคิดว่าเอาสถานการณ์อยู่ก็โอเค ถ้าคิดว่าเอาไม่อยู่ ก็ต้องใช้กฎหมายสองชั้นซ้อนกันอยู่ เพียงแต่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้รัฐมีอำนาจในการประกาศใช้ข้อกำหนดถึง 9 ประการ ซึ่งวันนี้ได้ใช้ครบทั้ง 9 ประการแล้ว แต่บางโอกาสก็อาจจะใช้เพียง 1-2 ข้อกำหนดก็ได้ เหมือนกับมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อควบคุมการชุมนุม ก็ไม่ได้ประกาศใช้ข้อกำหนดครบทุกประการ นำมาใช้เพียงบางประการเท่านั้น เช่นเดียวกับการแพร่ระบาดโควิด ที่เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็อาจจะไม่ประกาศข้อกำหนดใดๆ เลยก็ได้ แต่เหตุที่ต้องประกาศไว้ เนื่องจากหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นก็สามารถนำข้อกำหนดมาใช้ได้ทันที แต่ถ้าจะเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปเลยก็ได้ ถ้าคิดว่าสถานการณ์มันไว้วางใจได้ เหมือนกับที่ฝ่ายค้านออกมาระบุ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็อาจเพียงพอ แต่ที่กลัวอย่างเดียวคือ 77 มาตรฐาน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นี้ ยังเป็นการช่วยงานผู้ว่าฯ ด้วย โดยเฉพาะเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการที่จังหวัดนั้นปิดกิจการ ซึ่งผู้ว่าฯ ไม่สามารถตามไปรับผิดชอบที่เกิดขึ้นตามมาทั้งหมดนี้ได้ก็จะวิ่งมาหาให้รัฐบาลช่วยเหลือ ดังนั้น ในวันนี้รัฐบาลก็ต้องมาหารือว่าควรขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีกหรือไม่ ซึ่งยังมีเวลาอีก 15 วัน” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ออกประกาศให้เลื่อนการเปิดสนามบินออกไปอีก 1 เดือน ว่า มาตรการดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เป็นการมองว่า อาจเป็นความเสี่ยงที่จะนำเชื้อเข้ามาในประเทศ ซึ่งหากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ก็ยังสามารถควบคุมการบินได้ เพราะยังถือเป็นจุดเสี่ยง