“ประยุทธ์” ฝากตั้ง “โรงทาน-ตู้ปันสุข” เพิ่ม แนะติดกล้องตามตู้ดูพฤติกรรม ยันไม่อยากลงโทษ แต่ต้องเผื่อแผ่แบ่งปัน สั่ง สธ.-ศธ.-พม.หาวิธีการเปิดเรียนเหลื่อมเวลา
วันนี้ (13 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่วัดระฆังโฆสิตาราม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พร้อมติดตามการบริหารจัดการของโรงทาน ตามพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่าตนมาดูโรงครัวและโรงทานของวัดระฆังฯ ที่ทำอาหารแจกจ่ายให้แก่ประชาชนทั้งที่มารับที่วัด และนำออกไปแจกจ่ายยังชุมชน
ทั้งนี้ ที่วัดระฆังฯ ดูแลประชาชนวันละกว่าพันคนต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งหลายๆ ที่ควรเอามาเป็นแบบอย่าง สิ่งที่สำคัญวันนี้คือคนที่มีความตั้งใจเผื่อแผ่มีจำนวนมาก ถ้าเราช่วยกันส่งเสริมมีโรงทานตามที่ต่างๆ เขาจะสามารถเข้าไปบริจาคได้ เพราะจะเป็นความสุขทางใจที่เมื่อคนให้เห็นรอยยิ้มของคนรับ
“จึงขอฝากเรื่องการจัดตั้งโรงทาน และจัดตั้งตู้ปันสุข หรือตู้แบ่งปัน ที่เป็นการแสดงออกถึงความรักความสามัคคีระหว่างกัน คนที่มีศักยภาพก็นำของมาบริจาคช่วยเหลือกัน หลายอย่างต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเป็นการแสดงออกถึงวัฒนธรรม การเผื่อแผ่แบ่งปัน ความรัก ความสามัคคี ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาขึ้นมาบ้างก็แก้ไขกันไป เพราะมีมาตราการทางสังคมอยู่แล้ว ผมได้สั่งการให้ดูแลเรื่องตู้แบ่งปันให้มากขึ้น ให้มีคนเฝ้าและติดกล้องเพื่อบันทึกว่าใครมีพฤติกรรมอย่างไร ยันไม่อยากลงโทษใคร เพียงแต่วันนี้เราต้องไม่เห็นแก่ตัว ต้องนึกถึงคนอื่น นำของไปใช้แต่พอดีเพียงพอ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือวันนี้เรากำลังเดินหน้าไปสู่ชีวิตยุคใหม่ วันข้างหน้าประชาชนอาจไม่ออกมานอกบ้านเหมือนเดิม ต้องมีการปรับปรุงขายของออนไลน์ ดีลิเวอรี มีการปลูกพืชผักสวนครัวตามอพาร์ตเมนต์ ตามบ้านเรือน และมีการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมในชีวิตวิถีใหม่ เราต้องเรียนรู้ในระบบเหล่านี้ เพื่อนำมาสร้างอาชีพสร้างรายได้ในอนาคต เพราะหากทำพฤติกรรมเดิมๆ คงไม่ได้แล้ว ตนเป็นห่วงเรื่องนี้ พร้อมฝากซื้อและสังคมช่วยกันเผยแพร่เรื่องเหล่านี้ด้วย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนการขยายมาตรการการทำงานที่บ้านของภาคเอกชนและภาคธุรกิจ ตนคิดว่าการทำงานที่บ้านไม่ใช่แค่การป้องกันโควิด-19 อย่างเดียว แต่ตนนึกถึงการแก้ไขปัญหาการจราจร ทั้งนี้ ตนได้สั่งการไปแล้วว่า การเรียน การสอนที่บ้าน เป็นสิ่งสำคัญที่ตนได้ให้นโยบายไป และขอให้ไปทบทวนว่า การเรียนการสอนในวิชาใดสามารถเรียนออนไลน์และเรียนโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมได้ ซึ่งจะช่วยลดเวลาที่ต้องไปโรงเรียน รวมถึงมาตรการเลื่อมเวลาในการทำงานที่ทำให้การจราจรไม่ติดขัด แต่ต้องคำนึงถึงผู้ปกครองที่ส่งลูกหลานไปโรงเรียน เพื่อให้จัดระเบียบในองค์กรว่าพนักงานคนใดมีลูกวัยไหนเพื่อจัดเวลาเข้าทำงาน ตนได้สั่งการกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไปหาวิธีการที่จะให้โรงเรียนเปิดเลื่อมเวลาโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น วันนี้เราต้องคิดระยะยาวเพื่อลูกหลานของเราในอนาคตนักบริหารจะต้องคิดแบบนี้ แก้ปัญหา ทำปัจจุบัน และคิดอนาคต และเตรียมการสู่อนาคตไปในเวลาเดียวกัน นั่นคือหลักการของผู้บริหารที่ดี
“ผมขอเตือนแม้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะลดลง แต่อย่าประมาท ถึงตัวเลขจะเป็น 0 ก็ประมาทไม่ได้ เพราะเชื้อโรคยังสะสมอยู่ บางคนไม่แสดงอาการ ไม่ใช่ติดเชื้อน้อยแล้วจะผ่อนปรนมากขึ้น ผมอยากให้เปิดใจจะขาด แต่ถ้ามีผู้ติดเชื้อแล้วจะทำอย่างไร” นายกฯ กล่าว