รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบ ให้ 4 ธ.ค.ของทุกปี เป็น “วันรู้รักสามัคคี” แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ สร้างแรงจูงใจตระหนักคุณค่า-ความสำคัญความสามัคคี "วิษณุ" เผยที่มาจากกระแสรับสั่ง ในหลวงรัชกาลที่ 9
วันนี้ (12พ.ค.) นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันรู้รักสามัคคี” เป็นวันสำคัญของชาติ โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญและนำไปสู่การปฏิบัติด้วยความสามัคคี รู้จักหน้าที่และส่งเสริมกันให้เกิดความเจริญแก่ประเทศชาติ
ทั้งนี้ แนวคิดการกำหนดวันรู้รักสามัคคีปรากฏขึ้นครั้งแรกในกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 โดยคำว่า “รู้ รัก สามัคคี” มีความหมายลึกซึ้ง สามารถปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย รู้ คือ การลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อนรู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้วิธีการแก้ปัญหา รัก คือ ความรัก เมื่อเรารู้ครบถ้วนด้วยกระบวนความแล้วจะมีแรงกระตุ้นให้ทำงานด้วยความเต็มใจ และสามัคคี คือ การที่จะลงมือปฏิบัตินั้น ควรคำนึงถึงเสมอว่าเราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจ เป็นองค์กร เป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ประกอบกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันชาติ ดังนั้น การกำหนดให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรู้รักสามัคคี ก็จะสามารถลำดับและดำเนินกิจกรรมได้สอดคล้องให้ตระหนักถึงความสามัคคีนำไปสู่ความเป็นชาติ
ดังนั้น การกำหนดให้มีวันรู้รักสามัคคี ดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นการเทิดพระเกียรติ น้อมรำลึกและสืบสานพระราชปณิธานของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงห่วงใยประชาชน และแสดงถึงการมีจิตใจเสียสละร่วมกันดำเนินการด้วยความรัก ความสามัคคี
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่อนุมัติให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรู้รักสามัคคีว่า ข้อเสนอดังกล่าวมาจากมูลนิธิส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ ที่มีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธาน โดยเสนอเข้ามาตั้งแต่ปี 2561 หลังเหตุการณ์ทีมเยาวชนหมูป่า อคาเดมี ติดถ้ำหลวงนานอน จ.เชียงราย ซึ่งวันที่ 2 กรกฎาคม เป็นวันที่พบทีมหมูป่าฯครั้งแรก และเป็นกระแสไปทั่วโลก จึงเสนอให้วันดังกล่าวเป็น”วันรู้รักสามัคคี” ซึ่งคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ที่ตนเป็นประธาน มีความเห็นว่าการมีวันรู้รักษาสามัคคีเป็นเรื่องดี แต่จะยึดวันที่ 2 กรกฏาคม ที่พบทีมหมูป่าฯวันแรกก็ไม่ถูก และมีการเสนอวันต่างๆออกมาอีกหลายวัน แต่ไปเจอประวัติศาสตร์ว่าประเทศไทยได้ยินคำว่า”รู้รักสามัคคี” ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระแสเริ่มคำนี้ขึ้นมา และพระองค์รับสั่งในวันนั้นด้วยว่า
“ว่าไม่ได้ อีกหน่อยอาจจะมีวันรู้รักสามัคคีเกิดขึ้น คิดว่าถ้าไม่ม่ีตอนนี้ อีกกี่ปีก็สามารถจะรอได้ “
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า และบัดนี้ เมื่อจะมีวัน”รู้รักสามัคคี” ก็ใช้วันที่ 4ธันวาคม ซึ่งติดกับวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่มีกิจกรรมอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่วันหยุดราชการ มีการนำเรื่องราวต่างๆมาแสดง