xs
xsm
sm
md
lg

มท.สั่งอีกชุด ผุด “ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคระดับภูมิภาค” ร่วมฝ่ายปกครอง-ทหาร-ตร.ดูแลติดตาม รองรับ ม.9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มท.สั่งอีกชุด ผุด “ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคระดับในภูมิภาค” เน้นปกครอง-ทหาร-ตร. ลงลึกระดับจังหวัด-อำเภอ-ตำบล-เทศบาล/เทศบาลเมือง ให้อำนาจหน้าที่ทำตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เน้นดูแล/ติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคในพื้นที่โดยเคร่งครัด

วันนี้ (9 เม.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า ช่วงเช้า นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 7 พ.ค. ถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ดำเนินการตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) ในแต่ละระดับ”

ใจความว่า ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 2/2563 ลงวันที่ 1 พ.ค. 2563 เรื่องแนวทางปฎิบัติตามข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ทุกเฉิน พ.ศ. 2548 กำหนดให้ ศปก.จังหวัด ศปก.อำเภอ ศปก.ตำบล และอปท.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบกำกับดูแลตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงมหาดไทย พิจารณาแล้ว เพื่อให้การกำกับดูแลตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

“ขอให้จังหวัดดำเนินการตั้ง “ศูนย์ปฎิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) ในแต่ละระดับ” โดยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้แต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด (ศปก.จ.) นายอำเภอ เป็นผู้แต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) และศูนย์ปฎิบัติการควบคุมโรคตำบล (ศปก.ต.) และนายกเทศมนตรีเทศบาล/เทศบาลเมือง เป็นผู้แต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคเทศบาลนคร/เทศบาลเมือง (ศปก.ทน./ศปก.ทม.) ตามโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดพร้อมทั้งกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคในพื้นที่โดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด (ศปก.จ.) ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการ รอง ผอ.รมน.จังหวัด(ทหาร) ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการอื่นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควร เป็นคณะทำงาน ปลัดจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นเลขานุการร่วม

ให้มีอำนาจหน้าที่ ประกอบด้วย 1. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่2/2563 ลงวันที่ 1 พ.ค. 2563 เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 2. ปฏิบัติหน้าที่อื่น ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย

นายฉัตรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น จะมีทั้งมาตรการควบคุมหลัก เช่น การทำความสะอาดในบริเวณสถานที่สำหรับให้บริการประชาชน การสวมหน้ากากอนามัย การให้มีจุดบริการล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อโรค การให้เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะและระหว่างที่นั่ง รวมถึงระยะห่างระหว่างการเดินอย่างน้อย 1 เมตร และการให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการมิให้แออัด เป็นต้น

มาตรการเสริม อาทิ มาตรการคัดกรองอาการป่วย มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้ให้บริการ มาตรการป้องกันการชุมนุมของคนหมู่มาก การลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น การงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในสถานที่จำหน่ายอาหาร การจัดให้มีพื้นที่ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร และอาจเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานในบางพื้นที่ก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น