xs
xsm
sm
md
lg

“เชาว์” หนุนรัฐสร้างงานกระจายรายได้ ศก.ฐานราก ใช้เงินกู้เพิ่มรายได้คนจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตโฆษก ปชป. หนุน รัฐเร่งสร้างงาน กระจายรายได้สู่ ศก.ฐานราก แนะ พม.ใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้ 4 แสน ล. ต่อยอดโครงการ สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน เพิ่มคนจนมีรายได้ ช่วยชุมชน กทม. ทั้งด้าน สธ.- ปากท้อง จ้างงานอย่างน้อย 3-6 เดือน

วันนี้ (6 พ.ค.) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง เร่งจ้างงาน “ชุมชนเมือง” ต่อลมหายใจให้คนจนสู้โควิด เนื้อหาระบุว่า หลายหน่วยงานเริ่มมีการประกาศจ้างงานจำนวนมากน้อยแตกต่างกันไป ในภาพรวมยังเป็นลักษณะการช่วยเหลือแบบเหวี่ยงแห และดูเหมือนว่าจะพุ่งเป้าไปที่ต่างจังหวัดเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะการแจกเงิน 5 พัน เป็นแค่การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การรักษาที่แท้จริง คือ การสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลเตรียมไว้สำหรับการฟื้นฟูชีวิตประชาชน ผมอยากให้เร่งนำมาสร้างอาชีพ โดยควรมีการล็อกกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อสะดวกในการรวบรวมเป็นคลังข้อมูลให้กับภาครัฐในระยะยาวด้วย กลุ่มที่อยากเสนอให้รัฐเข้าไปดูแลเพิ่มเติมคือ คนจนเมืองทั่วประเทศ อยากให้มีโครงการนำร่องเริ่มจากคนจนเมืองใน กทม.ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 286 ชุมชนก่อน เพราะกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีฐานข้อมูลอยู่แล้วจากโครงการ “สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน” เพียงแต่ต้องต่อยอดเพิ่มจากการดูแลเรื่องสาธารณสุข มาส่งเสริมให้เกิดการฝึกอาชีพ นำไปสู่การสร้างรายได้อย่างมั่นคงในอนาคต ทำให้เป็นโครงการ “สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน คนจนมีรายได้” เป็นการกระจายเงินไหลเวียนในเศรษฐกิจฐานราก

อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังแนะนำว่า อาจใช้วิธีการจ้างคนตกงานในชุมชน เช่น ให้มาเข้ารับการอบรมฝึกอาชีพวันละ 150-200 บาท มีข้าวกลางวันบริการให้ ชาวบ้านได้ความรู้ มีรายได้ ไม่อดอยาก หรือ กทม.อาจจ้างงานให้คนเหล่านี้ช่วยซ่อมแซมพื้นที่สาธารณะในความดูแลของ กทม. แทนการจ้างผู้รับเหมา ด้วยการประสานทหารช่างดูแลด้านการก่อสร้าง แต่ใช้แรงงานจากคนจนเมืองเพื่อสร้างรายได้ในภาวะที่ไม่สามารถหางานทำได้ โดยให้ค่าจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

“ใช้วิธีคิดลักษณะนี้จ้างงานในชุมชน ไม่ต้องทำเป็นโครงการใหญ่แต่ดูแลให้ทั่วถึง เป็นโครงการต่อเนื่องให้มีการลงทะเบียนเพื่อดูความถนัดของแต่ละคน บางคนอาจที่มีความรู้ รัฐอาจจ้างให้เป็นผู้รวบรวมเก็บข้อมูล สถิติที่จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายในอนาคตก็ได้ เพื่อให้เกิดการจ้างงานอย่างน้อยสามถึงหกเดือน ทำให้ประชาชนมีความเข้มแข็งยืนหยัดได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง แทนการรอความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว ให้คนจนได้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เชื่อผมเถอะครับไม่มีใครอยากแบมือขอ รอเงินรัฐหรอก แต่ตอนนี้มันสิ้นหนทาง เป็นหน้าที่รัฐบาลต้องถางทางให้ประชาชน เพราะโควิด-19 ยังอยู่กับเราไปอีกนาน ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน โจทก์ใหญ่ของรัฐบาล คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนใช้ชีวิตร่วมกับโควิดให้รอดปลอดภัยโดยไม่อดตาย” นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น