xs
xsm
sm
md
lg

หมัดน็อกโควิด! “นพ.รุ่งเรือง” แนะไม้ตายรับมือ ก่อนมีวัคซีน “ปลื้ม” ดื้อตาใส “หมอวรงค์” จัดให้ใคร “บวก-ลบ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ จากแฟ้ม
“นพ.รุ่งเรือง” เผยหมัดน็อกโควิด-19 อยู่ที่ไม้ตาย 3 วิธี ขณะรอวัคซีน เชื่อไทยได้เฮ! “ปลื้ม” มาไม้เดิม ต้าน “ล็อกดาวน์” ดื้อตาใส ด้าน “หมอวรงค์” ชี้ สงครามไวรัส แบ่งคนไทย 1 ประเทศ 2 ระบบ คือ คนมองบวก กับมองลบ

น่าสนใจเป็นอย่างยิง วันนี้ (27 เม.ย. 63) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กถึงการให้สัมภาษณ์ รายการ “ไทยคู่ฟ้า”

“ให้สัมภาษณ์ รายการ “ไทยคู่ฟ้า” ทำเนียบรัฐบาล “โควิด 19” ระบบการแพทย์ และสาธารณสุขของไทยดีมาก โชคดีที่เกิดเป็นคนไทย อาศัยบนพื้นแผ่นดินไทย...ครับ https://www.facebook.com/154553218343826/posts/901600333639107/?vh=e&d=n (สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่นี่)

พร้อมกับระบุว่า “ผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่แทบไม่มีอาการ จนอาการหนักได้เข้ารักษาในโรงพยาบาลทุกคน ช่วยเพิ่มการรอดชีวิต และลดการแพร่ระบาดโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี อัตราป่วยตายของไทย ต่ำมาก ~ 1.7% เรารักษาหายกลับบ้านแล้ว 88.8% (จากผู้ป่วย 2,922 คน) ดูได้จากรายการ

ชื่นชมพลังความร่วมมือ และระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และระบบการตรวจ Lab โดยกระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรคกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) และพลังความร่วมมือทุกหน่วยงาน ทัศนคติ ความรู้ พฤติกรรม พลังความร่วมมือ ประชาชน > 90% สถานการณ์จะอยู่ภายใต้การควบคุม และรอ “หมัดน็อก” = วัคซีนโควิด-19

1) หลังร่างกายได้รับเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่จะแสดงอาการ ~ วันที่ 5 ภายหลังจากการรับเชื้อ ระยะของการฝักตัว (เมื่อได้รับเชื้อจนมีอาการป่วย) 1-14 วัน

2) ความสามารถในการแพร่โรคของผู้ป่วย โควิด-19
2.1) บางกรณีที่มีผู้แพร่โรคให้กับคนอื่นได้มากกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า “super spreader” และการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ความสามารถในการแพร่โรคจะสูงขึ้น เช่น สนามมวย สถานบันเทิง ซึ่งในช่วงนั้นประเทศไทยมีค่าความสามารถในการแพร่โรคอยู่ที่ ผู้ป่วย 1 คนแพร่โรคได้ 3.6 คน 2.2) ขณะนี้ประเทศไทยมีค่าความสามารถในการแพร่โรค ผู้ป่วย 1 คนแพร่โรคได้ 1-2 คน

3) การติดต่อของโรค คือ 2 ทางหลัก
3. 1) ได้รับเชื้อไวรัสโดยตรง เมื่ออยู่ในระยะใกล้ชิดกับผู้ป่วย และมีผู้ที่ไอหรือจาม ที่ไม่มีการป้องกันตนเอง 3.2) ผู้ป่วยไอ จาม และมีละอองเชื้อฝอยทิ้งไว้ในพื้นผิวสัมผัสทั่วไป แล้วผู้อื่นก็มาจับละอองฝอยเชื้อเข้าสู่ร่างกายด้วยการนำมือสัมผัสใบหน้า เช่น ปาก จมูก ตา

4) ขอให้แบ่งง่ายๆ เป็น 2 กลุ่ม
4.1) กลุ่มคล้ายผู้ป่วย (ที่มีอาการคล้ายไข้หวัด) ต้องสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ซึ่งสามารถลดการแพร่กระจายของละอองเชื้อได้ถึงร้อยละ 97 เนื่องจากปริมาณละออง ความเร็ว ระยะทางที่เคลื่อนที่ไปได้จะลดน้อยลง ล้างมือ และทบทวนประวัติเสี่ยง ไปพบแพทย์ “ต้องเล่าความจริงทั้งหมด” ครับ 4.2) กลุ่มผู้ที่ยังไม่ป่วย แนะนำให้สวมหน้ากากชนิดผ้า เพื่อป้องกัน รวมถึงการทำความสะอาดพื้นผิวด้วยการเช็ดน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ และหลีกเลี่ยงการนำมือสัมผัสใบหน้าบ่อยๆ และหมั่นล้างมือให้สะอาด

5) เชื้อไวรัสโควิด-19 โดยทั่วไปจะอยู่ในสภาพแวดล้อม ประเทศไทยอากาศร้อน อยู่ได้ ~ 6 ชั่วโมง และสูงสุด ~ 24-72 ชั่วโมง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นผิวและอุณหภูมิ หากอุณหภูมิสูงเชื้อจะมีอายุที่สั้นลง


6) อาการของโรคโควิด-19

6.1) มีความแตกต่างในเด็กและผู้ใหญ่ คือ เด็กจะมีอาการน้อยกว่า สำหรับเด็ก ร้อยละ 49 มีอาการไอ ร้อยละ 42 จะมีอาการไข้ ร้อยละ 8 มีน้ำมูก ร้อยละ 7 มีอาการอ่อนเพลีย สำหรับผู้ใหญ่ ร้อยละ 89 จะมีอาการไข้ ร้อยละ 68 มีอาการไอ (อาการหลักที่สำคัญ) ร้อยละ 38 มีอาการอ่อนเพลีย ร้อยละ 14 จะมีอาการเจ็บคอ ร้อยละ 15 มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ร้อยละ 5 มีน้ำมูก
7) หากมีอาการของปอดอักเสบจะเริ่มแสดงอาการ เหนื่อย หอบ หายใจเร็ว และลำบาก

7.1) ช่วงอายุมีผลต่ออัตราการเสียชีวิต-กลุ่มอายุ 10-19 ปี มีโอกาสต่ำมาก กลุ่มอายุ 50-59 ปี มีโอกาสเสี่ยงสูง กลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไปมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก (หากมีผู้ป่วยช่วงอายุนี้ 100 คน จะมีอัตราเสียชีวิตถึง ~ 15 คน

7.2) กลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อและมีอาการรุนแรงสูงกว่าคนทั่วไปและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง/หัวใจ อัมพาต โรคไตวายเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคอ้วน โรคตับแข็ง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และคนอ้วน (ผู้ที่มีดัชนีมวลมากกว่า 35 กก./ต่อตารางเมตร)

8) ความรุนแรงของโรค แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยติดเชื้อทุกคนไม่ได้มีอาการที่รุนแรง

8.1) ในผู้ติดเชื้อ 100 คน พบว่า 80 เป็นผู้ป่วยมีอาการน้อยถึงน้อยมาก สามารถหายได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส และ 30 คน ใน 80 คน เป็นการติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันแต่ไม่มีอาการ นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หากจะดีที่สุดคือการไม่ติดเชื้อเลย 8.2) ในผู้ติดเชื้อ 100 คน พบว่า 20 คน เป็นผู้ป่วยที่อาจจะต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล และ 5 คน ใน 20 คน จะมีอาการรุนแรงและจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลในกรณีพิเศษ

9) กรณีการเสียชีวิตจะเฉลี่ย คือ ผู้ป่วย 100 ราย จะมีผู้ที่เสียชีวิตร้อยละ 1.4 แต่ความรุนแรงของการเสียชีวิตจะแตกต่างกัน (น่าเชื้อว่า น่าจะน้อยกว่า ร้อยละ 1)

10) ขณะนี้มีการใช้ยาต้านไวรัสในการรักษาตามอาการ ได้แก่ Favipiravir ที่เป็นยาหลัก Remdesivir อยู่ในขณะศึกษาวิจัย ส่วนยากลุ่มเสริมคือ Lopinavir+Ritonavir / Darunavir+ Ritonavir เป็นยาต้านไวรัสเอดส์ และ Cloroquine ซึ่งเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย โดยในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน และในหลายประเทศได้เร่งทำการศึกษาวิจัยอยู่

สิ่งสำคัญ หมัดน็อกชนะโควิด 19 คือ 1) ลดและชะลอการติดเชื้อให้มากที่สุด (คนติดเชื้อมาก ก็ตายมาก เช่น ถ้าติดเชื้อ จำนวน 1,000,000 คนพร้อมๆ กัน จะมีคนตาย 20,000-100,000 คน เพราะระบบและหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ รับมือไม่ได้ และหมอพยาบาลอาจตายร่วมด้วย)

2) ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก บุกกลุ่มเสี่ยง และตรวจ lab 25,000-50,000 คน กรุณาอย่ากลัวพบผู้ป่วยมาก เราต้องบุก ค้น และตรวจให้มาก จำนวนผู้ป่วยไม่ใช่ความผิด แต่เราต้องรู้ความจริง เพื่อตีวงกลุ่มเสี่ยงเพื่อควบคุมโรคแบบเด็ดขาดครับ นี่คือ “หมัดน็อก"

3) หมัดน็อกง่ายๆ คือ พลังความร่วมมือทุกคน ปฏิบัติตามมาตรการ ที่แนะนำ ถ้าทำได้ มากกว่า ร้อยละ 90 เราชนะแน่นอนครับ”

ภาพ หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล จากแฟ้ม
ก่อนหน้านี้ (26 เม.ย. 63) หม่อมหลวง ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ “คุณปลื้ม” พิธีกรและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ เจ้าเก่าที่เคยเรียกร้องปลดล็อก “ล็อกดาวน์” เพื่อให้ประชาชน และนักเรียน นักศึกษา กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ทั้งที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงรุนแรง เหมือนไม่สนใจที่จะรับผิดชอบต่อสังคม กรณีการระบาดคุมไม่ได้ แล้วผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วงเหมือนต่างประเทศ เพราะระบบสาธารณสุขไทย ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ

ก็ยังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก M.L. Nattakorn Devakula ระบุว่า

“ล็อกดาวน์ไม่ได้คุมโรคระบาด เพียงเเต่ทำลายชีวิตคนเเละเศรษฐกิจ ศบค.เลิกมั่วและโอ้อวดว่า เป็นผลงานผลของงานคือชีวิตคนปั่นป่วน”

ภาพ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จากแฟ้ม
วานนี้เช่นกัน “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “1 ประเทศ 2 ระบบ”

โดยระบุว่า “ผมคิดว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ (26 เมษายน) 15 ราย ดูแล้ว ok ครับ อยู่ในทิศทางที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะ 5 ใน 15 รายใหม่ มาจาก state quarantine แสดงว่า กลุ่มหลักๆ ยังน่าจะมาจากต่างประเทศ

แต่ที่น่าแปลกคือ ประเทศไทยเราเปรียบเสมือน 1 ประเทศ 2 ระบบ โดยเฉพาะความคิดเรื่องโควิด จะมีคนกลุ่มหนึ่งมองโลกบวก เชื่อมั่น ชื่นชม รักประเทศและให้กำลังใจรัฐบาล ในการดำเนินมาตรการต่างๆ จัดการโควิด แต่ที่แทบไม่น่าเชื่อว่า ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งมองโลกลบมาก
มองว่า รัฐบาลล้มเหลว จำกัดเสรีภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ ใช้อำนาจเผด็จการในการแก้ปัญหาโควิด เอาแต่ด่า เล่นแต่การเมือง ดูแคลนประเทศ ทั้งๆ ที่คนมองบวกและคนมองลบ กำลังใช้ชีวิตในช่วงเวลาเดียวกัน และเป็นช่วงเวลาเหตุการณ์จริงที่เป็นปัจจุบัน

“แต่โชคดีที่โควิดเป็นไวรัส ไม่ใช่เสียงข้างมากตัดสินถูกผิด แต่ใช้คนที่ติดเชื้อ คนตาย คุณภาพการดูแล เป็นตัวชี้วัด ขณะเดียวกัน สามารถเปรียบเทียบกับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะยุโรปและอเมริกา ที่สำคัญคือคำชื่นชมจากนานาชาติ จึงทำให้พอประเมินได้ว่า คนมองบวกและมองลบนั้น ใครถูกใครผิด”

ต้องยอมรับว่า “นพ.รุ่งเรือง” มองบวกและเชื่อมั่นสูงว่า คนไทย จะสามารถน็อก “โควิด-19” ได้ ถ้าคนไทยร้อยละ 90 ยังคงเชื่อมั่นในแนวทางที่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของกระทรวงสาธารณสุข แนะนำ และรัฐบาลก็ให้ความร่วมมือกับฝ่ายสาธารณสุขอย่างเต็มที่ เหลือก็แต่พวก “โคขวิด” คิดลบ อยู่ประมาณร้อยละ 10 ก็คงต้องปล่อยให้ “ดื้อตาใส” ต่อไป สุดท้ายผลสำเร็จของการต่อสู้ก็จะทำให้ประชาชนตัดสินเอง อย่างที่ “หมอวรงค์” พยายามอธิบาย

เหนืออื่นใด วันนี้แม้ ครม.จะมีการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน แต่การผ่อนปรนให้บางอาชีพ และห้างร้าน เปิดทำการได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดนั้น ถือว่า ลดความกดดันจากการโหนกระแสของ กลุ่มการเมืองที่หวังใช้เป็นเครื่องมือโจมตีรัฐบาลได้มากพอสมควร

ยิ่งถ้าทุกอย่างเดินหน้า ทั้งลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงจนเข้าเป้า และเศรษฐกิจปากท้องประชาชนค่อยๆกลับสู่ภาวะปกติ ก็น่าจับตาดูเช่นกัน ว่า พวกคิดลบ จะมาไม้ไหนอีก หรือว่าจะซ้ำซากจำเจอยู่กับความคิดที่หมักมุ่นอยู่แต่เรื่องประชาธิปไตย โดยหารู้ไม่ว่า ตัวเองตายไปแล้วทางการเมือง ก็ลองดู!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น