xs
xsm
sm
md
lg

“พิธา” เตือนรัฐอย่าฉวยช่วงชุลมุนเพื่ออุ้มทุน ชี้เข้า CPTPP ได้ไม่คุ้มเสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และว่าที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล
ว่าที่หัวหน้าก้าวไกล ชี้ไทยเข้า CPTPP ได้ไม่คุ้มเสีย บอกไม่ควรรีบหลังสหรัฐฯ ถอนตัว แนะทำข้อตกลงทวิภาคีเม็กซิโก-แคนาดาแทน ห่วงเสียอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจ แถมน่ากังวลเรื่องเกษตร ยา โวย รธน.60 ตัดข้อบังคับขอสภาอนุมัติเจรจาสัญญาระหว่างประเทศออกทำขาดการตรวจสอบจากนิติบัญญัติ เตือนอย่าฉวยช่วงชุลมุนเพื่ออุ้มทุน

วันนี้ (27 เม.ย.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และว่าที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่กำลังจะหารือการอนุมัติให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) หรือ CPTPP ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบหลายอย่าง โดยภาพรวมเห็นได้ชัดว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย และเรื่องนี้ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน รัฐควรต้องฟังเสียงประชาชนมากกว่านี้ ใช้เวลาพิจารณาให้รอบคอบ โดยประการแรกที่ไม่มีความจำเป็นต้องรีบเร่ง คือ สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไปแล้ว หากไทยเข้า CPTPP ตลาดที่ไทยจะได้เพิ่มหากเป็นสมาชิก คือ ประเทศเม็กซิโก และแคนาดาเท่านั้น ขณะที่อีก 9 ประเทศสมาชิกที่เหลือนั้นไทยมีข้อตกลงการการค้าเสรี FTA แล้วทั้งหมด ตนอยากให้พิจารณาว่าเพราะเหตุุใดไทยถึงต้องเข้าร่วมในลักษณะนี้ ควรจะพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าจะดีกว่าหรือไม่ ถ้าทำข้อตกลงทวิภาคีกับเม็กซิโก และแคนาดา เพื่อที่จะได้ไม่ต้องขี่ช้างจับตั๊กแตน

นายพิธากล่าวต่อว่า ประกอบกับที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แจงว่า หากไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP คาดว่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้น 0.12% หากคิดเป็นมูลค่าถือว่าน้อยมากและเมื่อเปรียบเทียบการเข้าเป็นสมาชิกครั้งอื่นๆ ตนคิดว่าครั้งนี้จะได้ไม่คุ้มเสีย การดึงจีดีพีขึ้นมีหลายวิธี ตกลงกันได้หลายแบบ ไม่ควรจะต้องยอมให้ประเทศไทยเสียอํานาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจถึงขั้นนี้ และหากเข้าไปดูในรายละเอียดแล้ว มีข้อน่ากังวลเกี่ยวกับการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ ต้นทุนของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางยา รวมถึงว่าการที่นักลงทุนต่างชาติจะสามารถฟ้องรัฐบาลไทยผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และอื่นๆ อีกมากมาย

“ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ไม่มีข้อบังคับให้รัฐบาลต้องการขออนุมัติกรอบเจรจาจากรัฐสภาเพื่อไปเจรจาทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ขาดการตรวจสอบจากนิติบัญญัติ ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีเพียงกลไกให้รัฐสภาเห็นชอบเมื่อเจรจาแล้วเสร็จเพื่อลงนามรอการอนุมัติตามเท่านั้น ทำให้เรื่องที่ใหญ่ขนาดนี้จะได้รับการอนุมัติไปง่ายๆ นี่คือหนึ่งในปัญหาที่เป็นรูปธรรม แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มีปัญหาอย่างไร ทั้งนี้ ผมและพรรคก้าวไกลขอย้ำว่ารัฐควรต้องมารับฟังเสียงจากภาคประชาชนให้มาก และเปิดให้สภาได้ถกเถียงกันในรายละเอียด ในสถานการณ์ชุลมุนเช่นนี้รัฐอย่าฉวยโอกาสเพื่อที่จะได้อุ้มทุนหนา ฆ่าทุนน้อย” นายพิธากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น