xs
xsm
sm
md
lg

คาดเดามั้ง? “ดร.กิตติธัช” งง เรียกข้อมูล “ฆ่าตัวตาย” ทางเน็ตว่า “งานวิจัย” จากนั้น “งับ” กันต่อเป็นทอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก เฟซบุ๊ก Kittitouch Chaiprasith
“ดร.กิตติธัช” โต้งานวิจัย 7 นักวิชาการ ที่ชี้ว่ารัฐบาลล้มเหลวในการบริหารท่ามกลาง “โควิด 19” แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง แต่คนฆ่าตัวตาย ก็เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับเดียวกัน จวก แค่เก็บข้อมูลทางเน็ตก็เรียกงานวิจัยเหรอ???

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (26 เม.ย. 63) เฟซบุ๊ก Kittitouch Chaiprasith ของ ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้าน ปรัชญาการเมือง โพสต์ข้อความระบุว่า

“ข้อเท็จจริงทางสถิติ กรณีเอาเรื่องฆ่าตัวตายมาปั่นกับกระแสโควิด ก็คือ สถิติปกติของประเทศไทย คนไทยมีสถิติการฆ่าตัวตายปี 2561 อยู่ที่ 4,137 ราย หรือฆ่าตัวตายเดือนละ 344 รายต่อเดือน

https://www.dmh.go.th/report/suicide/(อ้างข้อมูลกรมสุขภาพจิต)

ส่วนการที่นักวิชาการ 7 ราย แถลงการณ์โดยอ้าง “การวิจัย” โดยเอาตัวเลขฆ่าตัวตาย 38 คน ระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน 63 มาโยงว่า เป็นเพราะความผิดพลาดในนโยบายของรัฐนั้น

ถือเป็นงานวิจัย(?)มีแต่ความพิลึกพิลั่น ทั้งกระบวนการเปรียบเทียบ การเก็บข้อมูล (ที่เอามาจากแค่ข่าวในอินเทอร์เน็ต)

1. มีอะไรบอกได้ว่า 38 คนนั้น ฆ่าตัวตายเพราะนโยบายของภาครัฐ ตามแบบที่สรุปกันไปเอง โดยพิสูจน์ได้ว่าไม่มีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง (ช่วงนี้ใครฆ่าตัวตายเพราะอกหักรักคุด เครียดการเรียน โดนเหมารวมหมด?)

2. การฆ่าตัวตาย 38 คน คิดเป็นเพียง 12% จากการฆ่าตัวตายปกติต่อเดือนในปี 2561 (344 ราย/เดือน) เท่านั้น ตัวเลขนี้มีผล/นัยสำคัญอย่างไร ต่อสถานการณ์โควิดหรือมาตรการของรัฐ?

*** เอาจริงๆ ไม่ต้องอ้างงานวิจัยอะไรหรอกครับ คิดโดย “ตรรกะ” และ “สามัญสำนึก” (common sense) โดยใช้หลัก Critical Thinking ขั้นพื้นฐานก็น่าจะทราบได้ว่า “มันไม่สมเหตุผล”

จนถึงขั้นที่ แพทย์/นักวิชาการ/นักวิจัยด้านจิตเวช หลายท่านถึงกับออกมาตั้งคำถามในโซเชียล ว่า แถลงการณ์นี้มันเรียก “งานวิจัย” ได้ด้วยหรือ?
--------------------------
หากต้องการทำงานวิจัยเรื่องนี้จริงๆ ควรจะเก็บสถิติตั้งแต่ก่อนโควิด ไปจนถึงหลังจบโควิด แล้วค่อยมาดูเปรียบเทียบ กับปีก่อนๆ

แล้วเมื่อเห็นความต่างที่มีนัยสำคัญ จึงหาปัจจัยมาวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ในเชิงวิชาการ
--------------------------

ทั้งนี้ งานวิจัยที่พิลึกพิลั่นนี้ ทำโดย 7 นักวิชาการที่ค่อนข้างมีท่าทีทางการเมืองชัดเจนพอสมควร ซึ่งหลังปล่อยมา นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหน้าเดิมๆ ก็กระโดดกันออกมารับลูกปั่นกระแสกันเป็นทอดๆ

จนทำให้หลายครั้งก็นึกว่า ทำไมคนเหล่านี้ เขาจึง “ดูถูก” มวลชนของเขาเองได้ขนาดนี้ ?

#ฆ่าตัวตายทางวิชาการ

ขณะที่ เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ ข้อความระบุว่า

“เท่าที่ไล่อ่านข่าววันนี้ จำนวนคนไทยฆ่าตัวตาย เนื่องจากผลพวงของโรคโควิด 19 น่าจะมากกว่าตายเพราะตัวเชื้อโรคแล้วนะ”

ย้อนไปก่อนหน้านี้ ก่อนที่ 7 นักวิชาการจะออกมาแถลงผลงานการเก็บข้อมูลข่าวทางอินเทอร์เน็ต เป็นงานวิจัย ซึ่งน่าคิดว่า เธอไปล้วงข้อมูลมาได้ก่อน หรือว่า มีตาทิพย์ไม่รู้ จึงกล้าฟันธง ว่าจะมีข่าวเรื่องฆ่าตัวตาย ที่ค่อนข้างแม่นยำ หรือบังเอิญ ก็ยากจะเดา

กล่าวคือ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.63 “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา ที่แนะนำตัวเองว่าเป็นนักกิจกรรมอิสระ ทำประโยชน์ผ่านการสื่อสาร งานครู อาจารย์ วิทยากรเพื่อพัฒนาบุคลากร พิธีกร และเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ Bow Nuttaa Mahattana @NuttaaBow ว่า

“วันนี้ผู้ติดเชื้อใหม่ 19 ราย เหลือผู้ป่วยโควิด 655 คน ในประเทศที่มีประชากร 70 ล้านคน และอุณหภูมิเกือบ 40 องศา โฆษกกล่อมประสาทคนบอกให้ตัวเลขเหลือต่ำสิบต่อเนื่อง 14 วัน (จึงจะหยุดล็อกดาวน์?) ขอเรียกร้อง ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ นับตัวเลขคนผูกคอตายสะสมเอามาแถลงด้วยค่ะ #รัฐบาลประสาท.”

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Kittitouch Chaiprasith
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา “หมอเอก” นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.พรรคก้าวไกล และอดีตแพทย์ประจำทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ก็ได้หยิบเอางานวิจัยที่ว่านั้น มาเตือนรัฐบาล อย่ารายงานเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตไวรัส โควิด-19 โดยเน้นที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพียงมิติด้านตัวเลขอย่างเดียว แต่ควรต้องรายงานในแง่ของความยากลำบากของประชาชนด้วย

“ส่วนใหญ่ของผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในวัยที่เป็นเสาหลักทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เมื่อประสบกับการตกงาน หรือขาดรายได้แบบเฉียบพลัน จึงทำให้เกิดแรงกดดันมหาศาลจนทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย

จากข้อมูลชุดนี้ น่าจะพอที่จะนำมาพิจารณาให้กลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้บ้างแล้ว ก่อนที่จะเจอภาวะคนฆ่าตัวตายมากกว่าคนติดเชื้อโควิด และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการเปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ก็คือ การพักหนี้ภาคครัวเรือน และพักหนี้สำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กแบบหยุดทั้งต้นทั้งดอก เพื่อเป็นการต่อลมหายใจของคนที่ลำบากเหล่านั้น...”

สำหรับ งานวิจัยดังกล่าวข้างต้น เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “คนจนเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19” เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 63
ระบุว่า

“การแถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ “ฆ่าตัวตาย” จากไวรัสโควิด-19 และข้อเสนอแนะ

โดยคณะนักวิจัย
โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง
(ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

1. ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5. รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยทักษิณ
6. ผศ.ดร.ธนิต โตอดิเทพย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
7. ผศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ระบุเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มาจนถึงวันที่ 21 เมษายน 2563 เป็นต้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากมาตรการของรัฐในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ด้วยการรวบรวมข้อมูลของสื่อมวลชนที่มีการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายและมีข้อมูลรายละเอียดที่ยืนยันหรือแสดงให้เห็นว่า การฆ่าตัวตายนั้นมีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับนโยบายหรือมาตรการของรัฐ เช่น เว็บไซต์มติชน, ไทยรัฐ, ผู้จัดการ, อัมรินทร์, one ช่อง 31 เป็นต้น

จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า นับแต่วันที่ 1 ถึง 21 เมษายน 2563 มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 28 คน อีก 10 คน ยังไม่เสียชีวิต หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน (วันที่ 1 ถึง 21 เมษายน 2563) พบว่า จำนวนของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในจำนวนที่เท่ากัน คือ 38 ราย...

จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายมีจำนวนไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลับให้ความสำคัญเฉพาะการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 โดยตรง ดังที่มีการแถลงข่าวรายวัน, การประกาศใช้มาตรการอย่างเข้มงวด, การทุ่มเททรัพยากรอย่างมหาศาล

แต่แทบไม่ให้ความสำคัญต่อผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐ การฆ่าตัวตายเป็นโศกนาฏกรรมที่สามารถป้องกันได้ หากรัฐบาลมีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้น จึงเป็นข้อบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการจัดการของรัฐอย่างรุนแรงจนกระทั่งมีคนกลุ่มหนึ่งต้องตัดสินใจฆ่าตนเองเพื่อให้หลุดพ้นจากความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่ หลายกรณีปรากฏอย่างชัดเจนว่า ความล่าช้าและความไร้ประสิทธิภาพในกรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท คือสาเหตุแห่งการฆ่าตัวตาย

แน่นอน, โพสต์ของ ดร.กิตติธัช นอกจากจะเป็นการโต้แย้งอย่างมีขอมูลที่น่าเชื่อถือแล้ว ยังเชื่อมโยงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นักวิชาการทั้ง 7 คนนั้น ล้วนแต่มีท่าทางการเมืองที่ชัดเจน คือ มีจุดยืนเป็นฝ่ายตรงข้าม “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสำคัญ เนื่องจากต่อต้านเผด็จการทหาร จึงอาจใช้งานวิชาการ (ที่สุกเอาเผากิน) มาเป็นเครื่องมือเรื่องนี้ด้วย

แล้วก็น่าจะมีขบวนการคิดเอาไว้ล่วงหน้าแล้วด้วย จากคนบางกลุ่ม เห็นได้จากพลพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม “ลุงตู่” หยิบเอาเรื่องนี้มาพูดอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายผลทางการเมือง

นับว่าเป็นเกมที่ทยอยออกมาปั่นสถานการณ์อยู่เรื่อยๆ เพื่อให้รัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 และเศรษฐกิจล้มเหลว อันจะเข้าทางการโจมตีทางการเมือง จึงได้แต่หวังว่า กระแสนี้จะไม่กลายเป็นแรงยุส่ง ให้เกิดการฆ่าตัวตายเอาอย่างเกิดขึ้น ต่อให้รู้ว่า บาปนั้น เป็นของใครก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น