“นักวิชาการ” หวังบทเรียนวิกฤต “โควิด-19” สอนมนุษย์ควรเปลี่ยนวิธีคิด บนหลัก “ป้องกันก่อนวิกฤต” ระบุปัญหาโลกร้อนดีขึ้นได้ เหตุคนหยุดกิจกรรม ก๊าซเรือนกระจกลด
รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชา วิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทำให้มนุษย์ได้รับบทเรียนในการแก้ปัญหาโลกร้อน แม้ทั้ง 2 ปัญหาจะไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่สิ่งที่วิกฤตโควิด-19 กับปัญหาโลกร้อนคล้ายคลึงกัน คือ ปัญหาสำคัญระดับโลกที่สร้างผลกระทบไปทุกประเทศ และสิ่งที่แตกต่างกัน คือ สถานการณ์โควิด-19 เกิดวิกฤตก่อนแล้วมนุษย์จึงหาวิธีการป้องกัน ขณะที่ปัญหาโลกร้อน มนุษย์สามารถป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตได้ นั้นคือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมนุษย์หยุดทำกิจกรรมจากมาตรการกักตัว และ เว้นระยะห่างทางสังคม จึงลดปริมาณก๊าซคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลลงอย่างรวดเร็วในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากหยุดเดินทาง คาดการณ์ว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 5%
นอกจากนี้มนุษย์ยังหยุดทำกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ทิ้งขยะลงทะเล หรือแม่น้ำลำคลองจึงทำให้ขณะนี้มหาสมุทรหรือแม่น้ำลำคลองต่างๆ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติสัตว์ และพืชได้รับการฟื้นฟูเพราะสามารถเติบโตได้ดีตามธรรมชาติ แตกต่างจากก่อนสถานการณ์โควิด-19
“สถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้ ย้ำเตือนว่าเมื่อเกิดวิกฤตถึงจึงมาหาแนวทางป้องกันด้วยการคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัส แต่สำหรับปัญหาโลกร้อนไม่มีวัคซีนชนิดใดๆ ป้องกัน หรือรักษาได้แนวทางแก้ปัญหามีหนทางเดียว คือ มนุษยชาติต้องช่วยกันป้องกันไม่สร้างผลกระทบด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องถูกทำลาย” รศ.ดร.สุชนา ระบุ.