xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม “ลุงตู่” ไม่ระดมความทุกข์ยากหารือประชาชนแทนเดินสายคุยแค่ “เศรษฐี” ให้คนเขาว่าเป็น “รัฐบาลขอทาน” **ช็อกค่าไฟแพงซ้ำเติม “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” การไฟฟ้าอู้ฟู่แต่ประชาชนจะตาย ? **กทพ.รีบปัดเยียวยาทางด่วน ดิสเครดิตรัฐบาล งานนี้มีเบื้องหลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

** ทำไม “ลุงตู่” ไม่คิดระดมรวบรวมความทุกข์ยากเดือดร้อนหารือประชาชนแทนเดินสายคุยแค่กับ “เศรษฐี” ให้คนเขาว่าเป็น “รัฐบาลขอทาน”

“ลุงตู่” พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำ “ปืนลั่น” เมื่อวันศุกร์ (17 เม.ย) ด้วยการประกาศเตรียมออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 คน มาช่วยแก้ไขปัญหาของชาติ

เท่านั้นละครับพี่น้อง ปรากฏว่า แฮชแท็ก #รัฐบาลขอทาน ถูกโซเชียลรุมถล่มมืดฟ้ามัวดิน ประชดประชันแดกดันไปถึง อย่างนี้ต้องร่อนจดหมายไปถึงมหาเศรษฐีหนีคุก อย่าง ทักษิณ ชินวัตร ด้วยมั้ย

เผือกร้อนนี้ จึงไปตกที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ เนติบริกรเจ้าเก่าต้องออกโรงมาแก้ต่าง แปลงสารให้เข้าที่เข้าทางแทน ลุงตู่ปากไว พูดจาไม่ปรึกษา ใครว่าที่นายกฯ เตรียมทำจดหมายเชิญชวน 20 มหาเศรษฐีไทย และภาคเอกชนของไทย ร่วมหาทางออกในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในสัปดาห์หน้านี้มีการบิดเบือนในโซเชียลมีเดีย ว่า รัฐบาลเตรียมขอเงินจากมหาเศรษฐีนั้น ไม่จริ๊ง ไม่จริง และขอชี้แจงว่า กรณีดังกล่าว ในส่วนของรายชื่อนักธุรกิจที่จะส่งจดหมายเชิญนั้น ตัวเองไม่ได้ดูในส่วนนี้ แต่ดูในส่วนของเนื้อหาและข้อความ ที่จะเขียนในจดหมายเท่านั้น

ที่แน่ๆ ในเนื้อหา “รองฯ วิษณุ” ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ทำหนังสือไปขอเงิน ขอให้ดูข้อความในจดหมายว่าเขียนไปขออะไร ในสัปดาห์หน้าทุกอย่างจะชัดเจน เพราะนายกฯ จะเป็นผู้ดูในรายละเอียดเองทั้งหมด ขณะที่ปล่อย “วงใน” มาชี้แจงอีกรอบว่า ความตั้งใจของนายกฯ เพื่อระดมสมองจากคนที่มีประสบการณ์ ไม่ใช่แค่ มหาเศรษฐี 20 อันดับ เพราะลุงมองว่า ถึงเวลาสำคัญที่ต้องร่วมมือกันอีกครั้ง โดยนายกฯ อยากได้ยินความเห็นด้วยตัวเอง ก่อนหน้านี้ก็มีการพูดคุยกับบางส่วนมาบ้างแล้ว

ขณะที่รายชื่อมหาเศรษฐีนั้นคงไม่ได้เจาะจงเฉพาะ 20 มหาเศรษฐี ที่ถูกจัดอันดับว่ารวยที่สุดของประเทศเท่านั้น จะกระจายไปยังผู้นำในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศที่ยังดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน บางคนก็ไม่ได้มีชื่อติดใน 20 อันดับแรก แต่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เช่น นิคมอุตสาหกรรม ธนาคาร ท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน การค้า การส่งออกเป็นต้น

คาดว่า สัปดาห์หน้านายกฯ จะได้ทยอยเชิญเข้ามาพูดคุยกันต่อไป แต่... งานนี้กระทบใจคนในสังคม มันไม่ได้หยุดอยู่แค่ว่า นายกฯ จะเรียก “มหาเศรษฐี” หรือ “นักธุรกิจ” ใครบ้างอย่างไร

ประเด็นที่คนเขายังคิด คือ “รัฐบาลขอทาน” หรือ “หมดท่า” ต้องพึ่งพามหาเศรษฐี แล้วต้องตอบแทนอะไรเขาหรือไม่ และที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้กลไกของตัวเองเต็มที่หรือยัง

เอาง่ายๆ ชีวิตความเป็นอยู่ ค่าครองชีพ กินอยู่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ขอความร่วมมือประชาชน แต่ก็ยังดูแลได้ไม่เต็มที่ ส่วนของธุรกิจของตระกูลเศรษฐีก็มีบางกลุ่มที่ทำกำไรจากวิกฤต ไม่เดือดร้อน แถมรวบเพิ่ม แบงก์เอกชนยังหวงรายได้ ลดอัตราดอกเบี้ยแบบขอไปที

ไม่นับรวมบทบาทของเศรษฐีบางคนในการช่วยเหลือประเทศ เรียกว่า คลุมๆ เครือๆ ไม่เคยเห็นมาก่อนว่าจะทำอะไรให้ประเทศ นอกจากโกยกำไรเข้ากระเป๋า และหลบเลี่ยงจ่ายภาษีให้รัฐ แต่ลุงกลับเห็นว่าน่าไปขอความช่วยเหลือ ระดมความเห็นจากท่านๆ ทั้งหลาย

มันใช่ทางออกที่ถูกต้องแล้วหรือในเมื่อรัฐก็มีความตั้งใจจะกู้เงินมากมายมหาศาลกว่า 2 ล้านล้าน มาฟื้นฟูและมีภาษีจากประชาชนที่ยังไม่ได้รับการยกเว้น มีแต่ยืดเวลาการเสียภาษีออกไป ซึ่งสามารถนำไปบริหารจัดการอยู่แล้ว

ทำไมลุงตู่ ไม่คิดระดมความเห็นจากประชาชน จากกลุ่มชาวบ้าน จากคนชั้นกลางที่ยังต้องเสียภาษี จากคนตกงาน จากคนหาเช้ากินค่ำ พนักงานบริษัท ธุรกิจ SMEs ห้างร้านเล็กๆ แม่ค้า พ่อขาย จากชาวไร่ ชาวนา เอาความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นตัวรีดแก้ปัญหา

ปัญหาทางตรงแต่ละคนประสบอยู่ ส่งคนลงพื้นที่ ให้นักเรียน นักศึกษาของมหาวิทยาลัยในพื้นที่สำรวจขึ้นมา จัดทำระบบระเบียบดีๆ นอกจากช่วยได้ตรง ให้คนมีงานทำ อะไรที่อัดฉีดเป็นเงินได้ก็ทำทันทีแบบนี้ดีกวาหรือไม่

การพึ่งพามหาเศรษฐีไม่ใช่แค่ห้ามคนไม่ให้คิดว่า รัฐบาลไปขอตังค์เขา ไปขอทาน เท่านั้น แต่เป็นการตอกย้ำ ประเทศนี้รวยกระจุก จนกระจาย รัฐบาลดีแต่อุ้มนายทุน ไม่เคยให้ประชาชนมาก่อน
ความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างออกไปๆ ทุกที ดูฟีดแบ็กหลัง “ลุงตู่” เดินสายคุยกับเศรษฐีดูจากนี้เดี๋ยวก็จะรู้ สังคมจะยอมรับได้มั้ย

หรือไม่เชื่อ “ลุง” ลองกดเข้ามาดูที่คอมเมนต์ท้ายนี้ได้เลย ไม่ต้องรอจดหมายเปิดผนึกจากนายกฯ ใครเดือดร้อนอะไรอย่างไรบ้าง เชิญ “ฝาก” ระดมความเห็นได้เต็มที่เลย.


** ช็อกบิลค่าไฟแพง ซ้ำเติม “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” การไฟฟ้าอยู่ดีมีสุขอู้ฟู่แต่ประชาชนจะตาย...ได้หรือ?


ช็อกซีนีม่ากันเป็นแถบ เมื่อเห็นบิลค่าไฟฟ้าของเดือนล่าสุดพุ่งปรี๊ด จน “ค่าไฟแพง” กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ถูกโซเชียลสามัคคีรุมก่นด่ารัฐบาลที่ไม่ดูแลประชาชนในช่วงเผชิญวิกฤตที่สุดในชีวิตนี้ ทั้งๆ ที่ให้ความร่วมมือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” Work from home

ไม่แปลกใจที่ รัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับการไฟฟ้าทั้งหลายจะโดนก้อนหินและเสียงด่า เพราะงานนี้งามหน้าตั้งแต่คลอดนโยบายลดค่าไฟให้ประชาชน 3% นั่นแล้ว

ลด 3% ก็เหมือนไม่ลด เบื้องหลังว่ากันว่า รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าทั้งสามแห่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยเฉพาะสองรายหลังที่สังกัด กระทรวงมหาดไทย ไม่กล้าที่จะแบกรับความเสี่ยงอะไร รอให้รัฐบาลใส่เงินเข้ามาชดเชยให้ท่าเดียว

อดคิดไม่ได้ว่า รัฐวิสาหกิจ รัฐบาลเป็นเจ้าของสั่งการไป แต่ในองค์กรกับหวงและห่วงผลประโยชน์ของตัวเองมากเกินไปหรือเปล่า?

ว่ากันว่า แต่ละปีแต่ละแห่งทำกำไรกันอู้ฟู่ โบนัสการันตีที่ 2-3 เดือน เงินที่ต้องใช้ตรึงค่าไฟฟ้าให้ประชาชนจึงคิดแล้วคิดอีก เกรงจะกระทบรายได้ สุดท้ายแทนที่จะลดได้มากกลับลดได้แบบขอไปที และ ลดแบบเป็น step ยื้อเวลาไปเผื่อโชคจะช่วยสถานการณ์จะดีขึ้น ไม่ต้องเจ็บตัวมาก

ตอนนี้สมควรคิดได้หรือยัง ต้นทุนเชื่อเพลิงก็ถูกลงมา แผนการหารายได้ก็ไม่ปรับเปลี่ยน ตัวเองอู้ฟู่แต่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ที่กำลังจะตายไม่มีจะกิน รัฐวิสากิจก็ต้องเสียสละเจ็บด้วยถึงจะเรียกว่า “เราไม่ทิ้งกัน” ท่ามกลางความทุกข์กับบิลค่าไฟมหาโหด

แต่ก็พอมีความหวังวิบวับอยู่บ้าง งานนี้ก็ต้องขอชม “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พลังงาน ที่ไม่นิ่งนอนใจ ฟังว่า วันนี้ จะเรียกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาทุบกันอีกรอบ โดยจะพิจารณาว่าจะสามารถลดลงได้เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ลดลง 3% ได้หรือไม่อย่างไร ถ้ารัฐวิสาหกิจจริงใจอะไรๆ ก็คงบรรเทาความเดือดร้อนกันไปได้บ้าง

เป็นไปได้สั่งการลดเยอะๆ ลดให้ทั่วถึงเลยครับท่าน จะเฉือนเนื้อ หมื่นสองหมื่นล้าน ถ้าประชาชนอยู่ไม่ได้ รัฐวิสาหกิจไฟฟ้า ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ขอให้คิดถึงว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุด หากตัวเองอยู่ดีมีสุขอู้ฟู่แต่ประชาชนจะตาย ทำอย่างนี้ได้หรือ?

** กทพ.รีบปัดเยียวยาทางด่วน ดิสเครดิตรัฐบาล งานนี้มีเบื้องหลัง

ต้องยอมรับว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า จากประชาชนไปจนถึงธุรกิจ พลันที่รัฐบาลยกระดับด้วยการออกมาตรการสูงสุด และได้ประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ประชาชนหยุดการเดินทางและอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ส่งผลให้การเดินทางและการบริการขนส่งสาธารณะต่างๆ แทบจะหยุดไปโดยปริยาย ทั้งรถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า รถขนส่ง สายการบิน ทางด่วน

ว่ากันว่า หลังล็อกดาวน์ กทม.และประกาศเคอร์ฟิวในเวลาต่อมา ปริมาณรถและจราจรหายวับ และยอดผู้ใช้ทางด่วนลดลง จากปกติ 80%

ด้วยภาวะบีบคั้นนี้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดย พเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ BEM ได้ทำหนังสือถึง ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 63 ระบุเรื่อง การแจ้งผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อขอความอนุเคราะห์จาก กทพ.พิจารณาแนวทางการชดเชยผลกระทบของบริษัท

หนังสือของ BEM นำส่ง ดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ. นัยสำคัญ เพื่อ “รักษาสิทธิ์” เท่านั้น เอกชนไม่ได้ต้องการเรียกร้อง “เงินเยียวยา” ทันที แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ กทพ.โดยรักษาการ “ผู้ว่าการ กทพ.” ตอบกลับมาก็ดี หรือ “สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ.” บางกลุ่มเอาไป “แปลงสาร” สื่อออกมากลายเป็นดรามาให้สังคม
ตราหน้าด่า “เอกชน” สาดเสียเทเสีย

เรื่องนี้ต้องมองด้วยใจเป็นธรรม เอกชนลงทุนทางด่วน ยอมรับว่า กระทบหนัก รายได้หายไปทันที แต่ค่าใช้จ่ายไม่ได้ลด โดยไม่มีการเลิกจ้างหรือลดคน ขณะที่ พนักงาน กทพ.ที่เอกชนจ้างก็จ่ายเงินเดือนตามปกติไม่ได้เลิกจ้าง

ประเด็นที่ BEM ขอให้รัฐเยียวยาเป็นเหตุสุดวิสัยที่กระทบกับทุกคน ทั้งประชาชน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ เดือดร้อนหมด ที่ผ่านมา “เสี่ยโอ๋” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ก็วางแนวนโยบายไว้ชัดเจน ระบบขนส่งมวลชน จะช่วยเหลือไม่เลือกปฎิบัติ รัฐในฐานะผู้ดูแลจะหารือช่วยกัน

แว่วว่า ท่าทีที่ กทพ.แสดงออกมากับคู่สัญญาสัมปทานทางด่วนครั้งนี้ รัฐบาลได้ตำหนิ กทพ.ไปแล้วไม่ควรทำ กทพ.ปฏิเสธสวนทางนโยบายรัฐ จะเรียกว่า “ดิสเครดิต” รัฐบาลก็ว่าได้ เรื่องนี้ผู้ใหญ่รู้อยู่แล้วว่าเอกชนเค้าก็ต้องขอใชสิทธิตามสัญญาเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ไม่มีปัญหาอะไร สุดท้ายก็มาหารือกัน ซึ่งแฟร์ๆ ว่า มีวิธีแก้ปัญหามากมาย ไม่ใช่เรื่องเงินเท่านั้น

ว่ากันว่า ข่าวที่ออกไปเกิดจากปัญหาใน กทพ. ที่มีมานานแล้ว กลัวว่า ถ้ามีการเยียวยาเอกชน รายได้ของ กทพ.จะลดลง สวัสดิการ Bonus จะลดลง ไม่ได้คิดถึงความถูกต้องเหมาะสม คิดถึงแต่ประโยชน์ตัวเอง กทพ.ไม่พูดอะไรยังดีกว่า

งานนี้ ถ้ามีการเปิดโปงกันออกมาก็คงจะดูกันไม่จืดว่า ปัจจุบัน กทพ. มีรายได้มหาศาลแค่ไหน เงินเดือนสวัสดิการพนักงานเท่าไร ซึ่งก็มีข่าวว่า รัฐกำลังหาวิธีปรับลดลง และนำเงินส่งรัฐให้มากขึ้น

ไม่ให้ใช้ฟุ่มเฟือยเป็นปัญหาระยะยาว นี่เป็นองค์กรรัฐอีกหนึ่งแห่งที่อู้ฟู่เปลือยตัวตนของตัวเอง ออกมาในช่วงวิกฤตโควิด




กำลังโหลดความคิดเห็น