โฆษกรัฐบาล แถลง ครม.เห็นชอบโครงการพัฒนา กปภ.ปี 62-63 ปรับปรุงระบบประปาทั้งระบบปี 63 จำนวน 9 โครงการ วงเงิน 9 พันกว่าล้าน บ.
วันนี้ (15 เม.ย.) เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบในหลักการโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2563 ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จำนวนรวมทั้งสิ้น 9 โครงการ (ประกอบด้วย แผนงานโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. จำนวน 8 โครงการ และแผนงานโครงการก่อสร้างปรับปรุงกิจการประปา จำนวน 1 โครงการ) วงเงินรวมทั้งสิ้น 9,629.991 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ โดยในการดำเนินโครงการฯ จะมีการดำเนินการปรับปรุงระบบประปาทั้งระบบ (ระบบน้ำดิบ ระบบผลิต ระบบจ่ายน้ำ และระบบอื่นๆ) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น ปรับปรุงการให้บริการ และแก้ไขปัญหาอื่นๆ ไปพร้อมกัน และมีแผนบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย ประกอบด้วย กิจกรรมหลัก คือ การบริหารจัดการแรงดัน การซ่อมท่อที่รวดเร็ว การสำรวจหาน้ำสูญเสียเชิงรุก การบริหารจัดการมาตรวัดน้ำ และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงเส้นท่อซึ่งเป็นสาเหตุหลักของน้ำสูญเสียทั้งหมด ทั้งนี้ โครงการมีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,629.991 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินอุดหนุน 5,692.801 ล้านบาท เงินกู้ในประเทศ 1,897.599 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กปภ. 2,039.591 ล้านบาท
นางนฤมล กล่าวต่อว่า ครม.ยังเห็นชอบโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2562 ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2562 ของ กปภ. จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 2,121.144 ล้านบาทในการดำเนินโครงการฯ จะมีการก่อสร้างวางท่อส่งน้ำ ท่อจ่ายน้ำ ปรับปรุงเส้นท่อที่ชำรุดและวางท่อใหม่ในเขตจ่ายน้ำต่างๆ และพื้นที่ข้างเคียง ความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 962.3 กิโลเมตร และมีระบบผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายกำลังผลิต เพิ่มขึ้นอีก 67,200 ลูกบาศก์เมตร/วัน และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำ เพิ่มขึ้นอีก 46,728 ราย ทั้งนี้ โครงการมีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,121.144 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินอุดหนุน 1,237.722 ล้านบาท เงินกู้ในประเทศ 412.573 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กปภ. 470.849 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิต ระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ที่ประสบปัญหาให้สามารถบริการน้ำประปาแก่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างพอเพียง เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค รวมถึงเพื่อบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียในระบบผลิต-จ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ