คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติมีมติให้ลูกหนี้กองทุนผู้สูงอายุ 4.1 หมื่นราย พักชำระหนี้ 1 ปี เริ่ม เม.ย. 63 - มี.ค. 64 พร้อมหาเงินจ่ายสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการอีกเกือบ 700 ล้านบาท ให้ผู้ลงทะเบียนช่วง เม.ย.-ก.ค. 63
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (10 เม.ย.) มีการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยรองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมมีความห่วงใยผู้สูงอายุซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งรายได้จากการประกอบอาชีพลดลง และลูกหลานอาจไม่สามารถช่วยเหลือทางการเงินได้เท่าเดิม จึงมีมติออกมาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้กองทุนผู้สูงอายุที่กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุทุกคน ซึงมีประมาณ 4.1 หมื่นราย โดยระยะเวลาพักชำระหนี้ 1 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 2563 - 31 มี.ค. 2564
ทั้งนี้ ให้ผู้กู้แสดงเจตจำนงในการขอพักหนี้โดยติดต่อกองทุนผู้สูงอายุ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด หรือส่งจดหมายขอผ่อนผันการชำระหนี้ตามแบบฟอร์มที่กำหนด โดยให้ผู้ค้ำประกัน และพยาน 2 คนลงนาม พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมรับรองสำเนา และส่งกลับมายังสำนักงานพัฒนาสังคมฯ จังหวัด หรือกองทุนผู้สูงอายุ โดยนายจุรินทร์ได้กำชับให้การดำเนินการในเรื่องนี้ต้องเป็นไปอย่างสะดวกต่อผู้สูงอายุให้มากที่สุด
ในส่วนของเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 4.84 ล้านคน (ไม่ใช่เบี้ยผู้สูงอายุแต่เป็นเงินสงเคราะห์ที่จ่ายเพิ่มเติมจากเบี้ยผู้สูงอายุ) ซึ่งปัจจุบันมีงบประมาณไม่เพียงพอ ที่ประชุมได้ติดตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และทราบว่ากรมกิจการผู้สูงอายุได้ประสานสำนักงบประมาณเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีจัดสรรงบกลาง ประจำปี 2563 จำนวน 689 ล้านบาทแล้ว เพื่อจัดสรรให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ระหว่างเดือน เม.ย-ก.ย. 2563
น.ส.รัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการรองรับสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน 4 มิติ ครอบคลุม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม มีสาระสำคัญ อาทิ การเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่สูงวัย โดยเสนอปรับปรุง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ให้เด็กต่ำกว่า 15 ปีสามารถเป็นสมาชิกกองทุนได้ (พ่อแม่เป็นผู้ออมแทน) การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการบูรณาการและขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน การยกระดับผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพ จัดให้มีศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ทุกอำเภอควบคู่กับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ซึ่งมาตรการทั้งหมดจะนำเสนอสู้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป