xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ก้าวข้าม “โควิด-19” แม้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สั่งเดินหน้า “เลือกตั้งภายใน” กำหนดผู้มีสิทธิหน่วยละ 1,500 คน ใน 50 เขต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทม.ก้าวข้าม "โควิด-19" แม้มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามมิให้มีการชุมนุม สั่งการเลือกตั้งภายใน กรรมการข้าราชการสามัญ กำหนด 9 เม.ย. ให้ ผอ.เขต สำรวจรายชื่อ กำหนดผู้มีสิทธิหน่วยเลือกตั้งละ 1,500 คน ใน 50 เขต

วันนี้ (26 มี.ค.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งกรรมการข้าราชการกทม.สามัญ มีหนังสือเวียน กำหนดแนวทางดำเนินการเลือกตั้ง การดำเนินการในวันเลือกตั้งและการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งกรรมการข้าราชการกม.สามัญ

แม้รัฐบาลจะมีประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ทั้งประเทศ ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย. โดยเฉพาะห้ามมีการชุมนุมกันเพื่อป้องกัน โรคโควิด-19

"ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายใน เขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกําหนด"

หนังสือเวียน ระบุถึง การกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ดังกล่าวในวันที่ 9 เม.ย.2563 เวลา 08.00 น.-15.00 น. หลังจากมีการรับสมัครเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 16-18 มี.ค.ที่ผ่านมา ลงนามโดย นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกทม. ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการเลือกตั้ง

"ในวันที่ 27 มี.ค.นี้ ผอ.สำนักงานเขต จะต้องประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งกรรมการข้าราชการกทม.สามัญ โดยถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งละไม่เกิน 1,500 คน และให้ปิดประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งไว้ ณ ที่เลือกตั้งด้วย รวมถึงดำเนินการสำรวจรายชื่อข้าราชการ กทม.ของสำนักงานเขตและของหน่วยงานที่ปฏิบัติอยู่ในพื้นที่ภายในวันเดียวกัน ก่อนเลือกตั้งในวันที่ 9 เม.ย.ต่อไป"

ในตอนท้ายประกาศฉบับนี้ ยังกำหนดให้สำนักงานเขต กำหนดที่ตั้งของหน่วยเลือกตั้งในสถานที่โล่งโปร่งมีอากาศถ่ายเท โดยให้เพิ่มหน่วย จุดตรวจสิทธิ และจุดลงทะเบียนรับบัตรเลือกตั้งให้มากขึ้นเพื่อป้องกันการแออัด"

ทั้งนี้ กทม.มีสำนักงานเขต 50 เขต รวมถึง ศาลาว่ากทม. และหน่วยงานในสังกัด มีข้าราชการ กทม.สามัญ มีสิทธิเลือกตั้ง ณ วันที่ 30 ก.ย.2562 จำนวน 23,467 คน

วันเดียวกัน กทม.ยังเวียนหนังสือ แนวทางปฏิบัติแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนกรณีโควิด-19 ผ่านศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ เช่น ห้ามเปิดเผยข้อมูลผู้แจ้งเบาะแส ข้อมูลผู้ป่วยติดเชื้อ ข้อมูลบุคคลที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง กลุ่มที่ต้องกักตัว รวมถึงเรื่องร้องเรียนที่อาจส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงการคุ้มครองผู้ร้องและผู้เกี่ยวข้องอย่าให้ต้องรับภัยหรือความไม่ชอบธรรม.


กำลังโหลดความคิดเห็น