xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” เคาะแล้ว! ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมโควิด-19 มะรืนนี้ (26 มี.ค.)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ เผย ครม.มีมติประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกระดับป้องกันโควิด-19 วันที่ 26 มี.ค.นี้ ประเดิม “ศอฉ.” จัดคณะทำงาน แย้มมาตรการมีทั้งขอความร่วมมือ-บังคับ ขู่ถ้ายังแก้ไม่ได้ “ปิดล็อก” หมด เตือนนักเลงคีย์บอร์ด ปล่อยเฟกนิวส์โดนแน่



วันนี้ (24 มี.ค.) เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการเพิ่มเติมในการรับมือโควิด-19 ว่า เรื่องสุดท้ายที่จะกราบเรียนให้ทราบคือสิ่งที่รัฐบาลได้พิจารณามาโดยตลอด เรื่องการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 วันนี้จะนำ พ.ร.ก.ดังกล่าวมาประกาศ โดยจะประกาศใช้ในวันมะรืนนี้ (26 มี.ค.) ซึ่งวันนี้ได้หารือมาตรการที่จำเป็นแล้ว ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือการจัดระเบียบเรื่องการทำงาน ยกระดับเป็นศูนย์ฉุกเฉินในเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 หรือเรียกง่ายๆ ว่า ศอฉ.โควิด-19 ข้างล่างจะมีคณะทำงานสอดประสานกันโดยมีปลัดกระทรวงของแต่ละภารกิจเป็นหัวหน้าส่วนงานรับผิดชอบ เพื่อติดตามมาตรการที่ประกาศไว้เดิม อาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอะไรก็ว่ากันไป ทั้งนี้จะมีการเสนอมาตรการเพิ่มเติมมาที่ ศอฉ.โควิด-19 โดยตนเป็นผู้อนุมัติ เพราะอำนาจทางกฎหมาย 38 ฉบับของทุกกระทรวงมาอยู่ที่นายกฯ หมด เป็นการบูรณาการอย่างแท้จริงในการบริหารงานตรงนี้ ฉะนั้น การทำงานตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 26 มี.ค. เวลา 09.30 น.จะมีการประชุม โดยนำหัวหน้าส่วนราชการทั้งหมดมาเสนอ รายงานสถานการณ์ให้ทราบถ้ามีอะไรเพิ่มเติมจะประกาศออกไปเป็นข้อกำหนดเพิ่มเติม

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนข้อกำหนดตนกราบเรียนว่าเมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว สิ่งสำคัญคือจัดตั้งคณะทำงาน ผู้รับผิดชอบภายในศูนย์ฯ ว่าจะทำงานกันอย่างไร ประเด็นสำคัญคือข้อกำหนดที่ทุกคนอยากทราบว่ามีอะไรบ้าง ต้องขอเรียนว่าข้อกำหนดนั้นสามารถออกได้ตลอดเวลาทุกวัน ดังนั้น ระยะที่ 1 ที่จะประกาศนั้นคือการทำอย่างไรที่จะลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ อาจจะเป็นการขอความร่วมมือหรือบังคับบ้างอะไรบ้าง แต่ในส่วนที่ว่าจะปิดจะเปิดอะไรต่างๆ จะเป็นมาตรการในระยะต่อไป อาจจะเข้มข้นขึ้น อยู่ที่ความร่วมมือของประชาชน ตนไม่อยากให้ใครเดือดร้อน แต่สถานการณ์มีความจำเป็นเพื่อสุขภาพประชาชนโดยรวม

“รัฐบาลมีความมุ่งมั่นเต็มที่ที่จะดูแลสุขภาพประชาชนให้ได้มากที่สุด ขอความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่ออกไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอความร่วมมืออย่าเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา หากจะต้องกลับจะต้องเจอมาตรการต่างๆ การคัดกรอง การตรวจสอบระหว่างทางมากมาย ซึ่งจะแบริเออร์สำคัญในการป้องกันเวลานี้ เช่นเดียวกับการที่เราทำมาตลอดกับคนที่เดินทางจากต่างประเทศ จะต้องมีการกักตัวที่บ้าน หรือในพื้นที่ หากมีความจำเป็นจะต้องกักตัวในสถานที่ของรัฐเพิ่มเติม หากมีการพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องหามาตรการอื่นรองรับ ไม่ว่าโรงพยาบาลสนาม พื้นที่กักตัวขนาดใหญ่เป็นร้อยเป็นพัน ในเรื่องเวชภัณฑ์ต่างๆ ก็ต้องจัดหาให้เพียงพอ วันนี้แม้จะมีการช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามาแต่ยังไม่เพียงพอกับสิ่งที่เราต้องการในขณะนี้ จึงต้องจัดซื้อจัดหาเพิ่มเติม และจะซื้อจากที่ไหนในเมื่อทุกประเทศมีความต้องการสิ่งต่างๆ เหล่านี้มากในปัจจุบัน อันนี้จะเป็นการหารือในแต่ละวันใน ศอฉ. ขอให้ทุกคนอย่าตื่นตระหนก วันนี้ถ้าตื่นตระหนกมันก็คือปัญหา ขอให้ฟังรัฐบาลในการให้ข่าวข้อมูล ซึ่งจะมีการให้ข้อมูลทั้งวันในสื่อโซเชียลต่างๆ ตั้งแต่เช้าถึงเย็นจะมีศูนย์บัญชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข คมนาคม ต่างประเทศ ซึ่งจะแถลงทั้งวัน จะมีช่องทางให้ทุกคนสอบถาม และทาง ศอฉ.จะสรุปประเด็นสำคัญแต่ละวันให้ประชาชนทราบด้วย ขอให้รีบฟังช่องทางรัฐบาลเป็นหลัก” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ขอให้ทุกคนระวังการใช้สื่อโซเชียล การให้ข่าวสารบิดเบือน เดิมใช้กฎหมายปกติอยู่ แต่จากนี้จะแต่งตั้งเจ้าพนักงาน พลเรือน ตำรวจ ทหาร จัดตั้งด้านตรวจ จุดสกัด เตรียมพร้อมช่วยเหลือส่วนต่างๆ ในการทำงาน

“จะมีการปรับมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ก็จำเป็นต้องปิดล็อกต่างๆ ทั้งหมด อันนี้ขอให้เป็นไปตามขั้นตอนแล้วกัน” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาออกมาในวันนี้ ทั้งคนในระบบประกันตนและนอกระบบประกันตน เราทำถึงประชาชนทุกกลุ่ม ขอให้เข้าใจและฝากสื่อด้วย ผู้ที่ใช้โซเชียลในการบิดเบือนต่างๆ จะต้องได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทุกคนมีอำนาจในทางคดีอาญาด้วย สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ ไม่ว่าจะกักตุนสินค้าหรืออะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ รวมถึงการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค สิ่งเหล่านี้จะมีความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ จึงขอเตือนไว้ด้วย ตนเข้าใจว่าประชาชนทุกคนรักประเทศเหมือนกัน แต่ต้องรักในวิธีการที่ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายและขอให้เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล อันนี้เป็นสิ่งที่ตนจะขอร้อง

เมื่อถามว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีระยะประกาศใช้ถึงเมื่อไหร่ นายกฯ กล่าวว่า “หนึ่งเดือน”

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่รัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 26 มี.ค.นั้นก็เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบได้มีเวลาเตรียมตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายกฯ ให้สัมภาษณ์เสร็จได้เดินออกจากตึกบัญชาการ 1 เพื่อไปยังห้องทำงานที่ตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งระหว่างนั้นสื่อมวลชนได้สอบถึงว่ามีการประกาศ พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แล้วสบายใจขึ้นหรือไม่ โดยนายกฯ ไม่ตอบคำถามดังกล่าว และทำมือให้ฟังการแถลงข่าว พร้อมชูกำปั้นสองข้างขึ้นซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าสู้

สำหรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังกล่าว ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 9 ที่ระบุว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด

(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น

(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ

(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

ส่วนมาตรา 18 ได้กำหนดโทษ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ




กำลังโหลดความคิดเห็น