xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ทสส.เตือนไม่ปรับตัว ศุกร์หน้าติดเชื้อถึงหมื่น ตร.แจงไม่ใส่หน้ากากปรับ 200 เป็นเฟกนิวส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บิ๊กกบ” แจงออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหตุคนไม่ปรับตัว ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ศุกร์หน้าติดเชื้อถึงหมื่น วอนอยู่บ้าน ก่อนบังคับปิดประเทศ ด้านโฆษก ศบค.ประชุมนัดแรกระดมทีมแพทย์-เวชภัณฑ์ ลดข้อจำกัดนำเข้า ตร.แจงข่าวไม่ใส่หน้ากากปรับ 200 เป็นเฟกนิวส์

วันนี้ (26 มี.ค.) เวลา 13.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน เป็นโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนเป็นเลขาฯ โดยในที่ประชุมนายกฯ ได้แจ้งถึงสาระสำคัญการแพร่ระบาดสถานการณ์โควิด-19 ดำเนินมาถึงจุดที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อระดมทุกสรรพกำลังหยุดยั้งการแพร่ระบาดและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

โดยนายกฯ ให้แนวทางการทำงาน 6 ข้อ คือ 1. ให้ผู้รับผิดชอบงานแต่ละด้านเสนอแผน และแนวทางปฏิบัติโดยละเอียด 2. ให้บูรณาการจัดระบบความร่วมมือดึงทุกภาคส่วนในสังคม 3. ติดตามผลกระทบที่เกิดกับประชาชนทุกกลุ่มจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเสนอแนวทางแก้ปัญหาพร้อมกับมาตรการเยียวยา 4. ให้ความเชื่อมั่นระบบการแพทย์ต่อประชาชน พร้อมระดมสรรพกำลังทั้งบุคลากรทางการแพทย์ทั้งจากรัฐและเอกชน ซึ่งวันนี้ที่ประชุมเน้นย้ำเรื่องเวชภัณฑ์ สถานพยาบาลที่ขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องประสานกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ เพื่อละในข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการนำเข้า เป็นต้น 5. เน้นสื่อสารในยามวิกฤต ประสานผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และสื่อมวลชน เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างของบุคคลในสังคม และ 6. เรื่องงบประมาณขอให้ทุกส่วนราชการ ปรับแผนโครงการ เพื่อเน้นเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านสาธารณสุข

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ปลัดกระทรวงต่างๆ ได้นำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขในสน่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด การประชุมวันนี้ภาพรวมได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี และยังมีรัฐมนตรีว่าการทุกกระทรวงเข้าร่วม โดยในภาคนโยบายและภาคปฏิบัติลงรายละเอียดกันทุกเรื่อง โดยเฉพาะสาระสำคัญเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อโรคให้ออกไปจากแผ่นดินไทย เรื่องนี้ลงรายละเอียดเป็นอย่างมาก และได้รายงานเพื่อให้ลดข้อจำกัดต่างๆ เรื่องการนำเข้า เรื่องภาษี และการจัดส่ง ซึ่งล้วนถูกแก้ไขแล้วทั้งสิ้น ทั้งนี้ นายกฯ ให้แนวทางการประชุมของ ศบค.ในช่วงต้นให้มีประชุม ศบค.ทุกวันใช้เวลาวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อให้การทำงานกระชับ และกลับไปปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม สำคัญที่สุด นายกฯ ห่วงใยสุขภาพประชาชนทุกคน แต่ประชาชนต้องให้ความร่วมมือตามข้อปฏิบัติต่างๆ ช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคมจะทำให้โรคระบาดยุติโดยเร็ว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมไม่ได้พิจารณาออกข้อกำหนดเพิ่มเติมแต่อย่างใด รวมถึงเรื่องการออกเคอร์ฟิว หรือห้ามประชาชนออกจากบ้านในเวลาที่กำหนด ก็ยังไม่ได้มีการหารือในที่ประชุมวันนี้ แต่แนวทางต่างๆ มีการเสนอมาหลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกจากมาตรการเบาไปหาหนัก ถ้าประชาชนร่วมมือก็ไม่ต้องใช้กฎอะไรมาบังคับเลย


ด้าน พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคง กล่าวว่า ขณะมีการจัดตั้งจุดควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วประเทศแล้ว 357 จุด เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จะเป็นตำรวจและฝ่ายปกครองมีทหารเข้าร่วมเพียง 7 จุดใน กทม. จุดตรวจดังกล่าวจะดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามข้อแนะนำที่สาธารณสุข เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม และการสวมหน้ากากอนามัย หลังจากนี้ถ้ามีการกำหนดข้อปฏิบัติเพิ่มเติม เช่น ถ้ากระกระทรวงพาณิชย์กำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติมก็จะตรวจตราตรงนี้ ซึ่งการคัดกรองจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ยืนยันว่าเราจะอำนวยความสะดวกประชาชนให้ได้มากที่สุด ที่ผ่านมาภาครัฐเชิญชวนให้ประชาชนปฏิบัติตัวป้องกันโรคหลายอย่าง แต่ทุกคนยังใช้ชีวิตปกติ จึงทำให้ตัวเลขสูงขึ้นหลังจากนี้ถ้าเชิญชวนแล้วไม่ปฏิบัติ รณรงค์แล้วไม่ทำตัวเลขก็จะยิ่งสูงขึ้น และไม่รู้ตัวเลขจะจบตรงไหน จึงเป็นที่มาของการกำหนดมาตรการขณะนี้ยังไม่ปิดประเทศ ปิดเมือง และปิดการสัญจร แต่ถ้าพฤติกรรมยังไม่เปลี่ยนและตัวเลขสูงขึ้นก็จะนำไปสู่การปิดประเทศ ผลกระทบการดำเนินชีวิตของประชาชนจะสูงขึ้น

“ถ้าไม่ปิดประเทศโดยบังคับ โดยประชาชนสมัครใจปิดตัวเองไม่ไปไหนมาไหน ไม่ดีกว่าหรือมาถึงตรงนี้ทุกคนอยากให้โควิด-19 ผ่านพ้น” พล.อ.พรพิพัฒน์ กล่าว

พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าวต่อว่า วันนี้อยากขอความร่วมมือนายจ้าง หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาแนวทางเหลื่อมเวลา ลดเวลาการทำงาน ป้องกันการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก วันพฤหัสบดีคิด วันศุกร์สั่ง เสาร์และอาทิตย์ก็ขอให้อยู่กับบ้าน ถ้าทุกคนทำด้วยความสมัครใจตามคำแนะนำอยากให้รอดูผลที่จะเกิดขึ้น เพราะตัวเลขนับพันที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกิดจากความหละหลวม ไม่ทำตามคำแนะนำเมื่อ 10 วันก่อน สิ่งที่จะทำวันนี้ก็จะส่งผลถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อใน 10 วันข้างหน้า และจากการประเมินถ้าทุกคนทำตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัดผู้ติดเชื้อจนถึงวันศุกร์หน้าจะอยู่ที่ 2 พันราย แต่ถ้าไม่ปรับวิธีดำเนินชีวิตตัวเลขจะสูงถึง 7,000-10,000 ราย

เมื่อถามว่า รัฐบาลสั่งห้ามรวมตัวกันในวันที่ 3 มี.ค. แต่หลังจากนั้นมีการจัดมวยทำให้ผู้ที่ติดเชื้อจำนวนมาก พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าวว่า มีเรื่องของอดีต และมีเรื่องของวันข้างหน้า สิ่งที่ตนพูดเป็นเรื่องของวันข้างหน้า แต่ยอมรับเกิดจากความบกพร่องผู้ไม่รัดกุม ผู้เกี่ยวข้องจะตรวจสอบต่อไป และไม่ขอลงไปถึงส่วนที่ผ่านไปแล้ว





ขณะที่ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากที่มีการเริ่มตั้งด่านตรวจ ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้มีด่านตรวจทั่วประเทศ 357 โดยเป็นเส้นทางเข้าออกในกรุงเทพฯ 7 จุด โดยจากการประชุมของตำรวจเมื่อช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ที่ผ่านมา จะมีการเพิ่มเส้นทางเข้าออกในกรุงเทพฯอีก 5 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 ถนนเพชรเกษม รอยต่อจังหวัดนครปฐม จุดที่ 2 ถนนบางนา-ตราด รอยต่อจังหวัดสมุทรปราการ จุดที่ 3 ทางยกระดับบูรพาวิถี จุดที่ 4 ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณอนุสรณ์สถาน และจุดที่ 5 ทางยกระดับดอนเมือง-โทลล์เวย์ อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่จำเป็นต้องเดินทางขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข คือ พกบัตรประชาชนติดตัว สาหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างที่นั่งบนรถ 1 เมตร และถ้าหากมีกลุ่มเสี่ยงอยู่ในรถเจ้าหน้าที่จะเชิญตัวลงมาจากรถ เพื่อมาสอบประวัติอย่างละเอียด

พล.ต.ท.ปิยะกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลว่า หากผ่านจุดตรวจแล้วไม่สวมหน้ากากอนามัยจะถูกปรับ 200 บาทนั้นเป็นข่าวปลอม เราไม่มีการปรับ แต่ขอแนะนำประชาชนให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อความปลอดภัย ส่วนกรณีรถขนส่งที่จำเป็น เช่น การขนส่งหนังสือพิมพ์ที่จะต้องข้ามจังหวัด ตรงนี้จะมีการตรวจอย่างไรนั้น ยังไม่มีข้อห้าม หลักๆเน้นการเดินทางในชีวิตประจำวัน ส่วนการขนส่งสินค้า และการทำงานของสื่อมวลชนสามารถแจ้งได้ที่จุดตรวจได้ ไม่ใช่การเดินทางไปสังสรรค์หรือปาร์ตี้ ในส่วนนี้หาากพบเบาะแสผู้ที่ฝ่าฝืน สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนหมายเลข 1111 และ 191


กำลังโหลดความคิดเห็น