“บิ๊กป้อม” ห่วงภัยแล้งลุ่มน้ำโขง กำชับ “สทนช.” เร่งขับเคลื่อนคณะกรรมาธิการฯ ประสานเพื่อนบ้านใกล้ชิดบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ด้าน “เลขาฯ สทนช.” ติดตามระดับแม่น้ำโขง พร้อมเพิ่มอีก 2 สถานีวัดที่บึงกาฬ-อำนาจเจริญ ภายใน 30 มิ.ย.นี้
วันนี้ (25 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 1/2563 โดยภายหลังการประชุม พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานประธานคณะกรรมการร่วมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงของประเทศเวียดนามได้ครบวาระ และได้แจ้งต่อสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ไทย, สปป.ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม โดยคณะกรรมการร่วมฝ่ายไทย ซึ่งมี นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะประธาน ได้เข้ารับตำแหน่งแทนเป็นระยะเวลา1 ปี ในวันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 63 สำหรับสถานการณ์ลุ่มน้ำโขงปัจจุบันมีระดับน้ำลดลงมาก ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้แก่ จ.เชียงราย, จ.เลย จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี
พล.ต.พัชร์ชศักดิ์กล่าวอีกว่า คณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบร่างท่าทีประเทศไทยต่อโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สปป.ลาว ที่อาจส่งผลกระทบในภาพรวมตามลุ่มน้ำโขงฝั่งไทย เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยาและชลศาสตร์ระดับน้ำขึ้น-ลงอย่างฉับพลัน และช่วงเวลาไม่เป็นไปตามฤดูกาล ตะกอนและสารอาหาร การเปลี่ยนแปลงด้านการให้บริการของระบบนิเวศ การประมงและทางปลาผ่าน ด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการถอดบทเรียนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ผ่านมายังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้อย่างชัดเจน เป็นต้น
“พล.อ.ประวิตรได้กำชับ สทนช.ให้นำมติคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นท่าทีของไทยต่อโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สปป.ลาว เพื่อขับเคลื่อนการทำงานในกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขงให้มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ร่วมกัน มีความยั่งยืน และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ รวมทั้งมีการกำหนดมาตรการ และแนวทางร่วมกันเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง” พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ระบุ
ด้านนายสมเกียรติกล่าวว่า ปัจจุบันมีการติดตามระดับแม่น้ำโขงจำนวน 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีเชียงแสน จ.เชียงราย สถานีเชียงคาน จ.เลย สถานีหนองคาย สถานีนครพนม สถานีมุกดาหาร และสถานีโขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้จะมีสถานีวัดเพิ่มอีก 2 สถานี คือ สถานีบึงกาฬ และสถานีอำนาจเจริญ เพื่อตรวจสอบและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ครอบคลุม 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงให้รับทราบการศึกษาผลกระทบจากปรากฏการณ์แม่น้ำโขงเปลี่ยนสีจากสีน้ำตาลของตะกอนที่พัดพาเป็นสีครามใสในภาวะตะกอนต่ำมาก ซึ่งจากการวิเคราะห์คุณภาพแม่น้ำโขง อ.เมืองนครพนม และเมืองท่าแขก สปป.ลาว พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ คาดว่าถ้าเข้าสู่ภาวะหน้าน้ำในปีนี้คุณภาพน้ำในแม่น้ำโขงจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ