ว่าที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอสูตร C-O-V-I-D แก้ปม “โควิด-19” ตั้งจุดคัดกรองโรคเชิงรุก รวมศูนย์สื่อสารไว้แหล่งเดียว อัดงบพัฒนาวัคซีน ใช้มาตรการแยกตัวหรือรักษาระยะห่างทางสังคมกับทุกชนชั้น บูรณาการข้อมูล แนะวางแผนผลพวงไวรัสทำเศรษฐกิจติดหล่มยาว 1 ปี
วันนี้ (18 มี.ค.) เครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กแฟนเพจ Pita Limjaroenrat ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและว่าที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เผยแพร่ข้อความถึงการจัดการปัญหาโรคโควิด-19 โดยเสนอหลักการ 5 ข้อที่เรียกว่า C-O-V-I-D แก้ไข พร้อมอธิบายแต่ละตัวอักษรว่า Check point-จุดตรวจคัดกรองโรค รัฐบาลควรตั้งจุดตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้คนเข้าถึงการตรวจได้ง่ายที่สุด ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ตามแนวทางองค์การอนามัยโลก การกระจายจุดตรวจย่อยทั้งในและนอกกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องมารวมตัวและรอกันที่โรงพยาบาลหลายชั่วโมง เพราะการรอคิวในโรงพยาบาลถือเป็นจุดเสี่ยงอีกจุดหนึ่งที่จะแพร่กระจายเชื้อกันได้ การมีจุดตรวจย่อยมากเพียงพอก็จะช่วยลดความเสี่ยงตรงนี้ลงไปได้
One Voice - สื่อสารเสียงเดียว รัฐบาลจะต้องรวมศูนย์การสื่อสารอย่างเป็นทางการไว้ที่แหล่งเดียวหรือคนเดียว เพื่อป้องกันการให้ข้อมูลที่สับสนและคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดความตื่นตระหนกในสังคมได้ Vaccine - พัฒนาวัคซีน ประเทศเรามีบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีศักยภาพสูง แต่ปีหนึ่งๆ เราลงทุนกับการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพียงแค่ 8,000 ล้านบาท ถ้าเราเพิ่มงบอีกเท่าหนึ่ง 8,000 ล้านบาท เราก็สามารถสร้างอุตสาหกรรมสุขภาพ มีงานเพิ่มขึ้น มีงบวิจัยเพิ่มขึ้น มีห้องทดลองและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ซึ่งผลที่ประเทศไทยจะได้รับไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เรายังเป็นความหวังของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
Isolation - การแยกตัวหรือการรักษาระยะห่างทางสังคม ในประเทศไทยยังมีปัญหาว่าการกักตัวยังสะท้อนความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เมื่อแรงงานไทยที่มาจากต่างประเทศถูกกักตัว ขณะที่ชาวต่างชาติที่มาในเครื่องบินเดียวกันไม่ถูกกักตัว หรือประชาชนส่วนใหญ่คงไม่มีโอกาสที่จะทำตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมได้ หากไม่มีความชัดเจนทางกฎหมาย เช่น หากต้องหยุดงานเพื่อดูอาการถึง 14 วัน แล้วจะยังได้รับค่าตอบแทนจากนายจ้างหรือไม่ อย่างไร นอกจากนั้น ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรี ควรปฏิบัติตัวตามกฎเกณฑ์ของสังคมในการกักตัวเองและทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัดหากอยู่หรือใกล้ชิดกับคนกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าวมีความเท่าเทียมกัน และจูงใจให้ประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญ ให้มีวินัย กับมาตรการดังกล่าวมากขึ้น
Data - บูรณาการข้อมูล รัฐบาลไต้หวันเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการบริหารจัดการวิกฤติ ภายในวันเดียวสามารถรวมข้อมูลจากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อค้นหาบุคคลและประวัติการเดินทาง 14 วันที่ผ่านมาของผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งให้รัฐสามารถระบุตัวตนของผู้ป่วยและสามารถให้คนที่มีความเสี่ยงสูงกักตัวเองอยู่ในบ้าน และติดตามความเคลื่อนไหวผ่านโทรศัพท์ นอกจากนี้ ยังทำเว็บไซต์แผนที่แสดงจุดจำหน่วยหน้ากากอนามัยแบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยให้ประชาชนหาซื้อหน้ากากอนามัยได้ง่ายขึ้น
นายพิธา ระบุปิดท้ายว่า ผลเสียของโรคจะลามไปถึงเศรษฐกิจ มีหลายสำนักได้ออกมาฟันธงแล้วว่า GDP จะติดลบ -0.8 ถึง 1% สำหรับเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับ เศรษฐกิจระหว่างประเทศ เมื่อเริ่มดูสภาพเศรษฐกิจ ภาวะหนี้ของธนาคารขนาดใหญ่ นโยบายของ ECB แล้ว คงต้องคิดว่า ถ้าผลพวงของโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีก 1 ปี เราจะรับมือกันอย่างไร ใช้งบประมาณแค่ไหน วางทัพกันอย่างไร ถ้าเราผ่านวิกฤตินี้กันไปได้ เราลงทุนในแผนสู้กับโรคระบาดในครั้งนี้ จะไม่ใช่การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำแน่นอน โลกไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว การวางแผนตั้งด่านบนท้องถนน การตั้งศูนย์ระบบ การสื่อสารกับประชาชน การลงทุนในวิทยาศาสตร์การแพทย์ การพัฒนาวัคซีน การซักซ้อมการแยกตัวของประชาชน การบูรณาการข้อมูลแบบรัฐบาลต่างชาติ จะเป็นการใช้งบประมาณ การลงทุนที่ทำให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตนี้ไปได้ และเราจะเข้มแข็งขึ้น