(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
75% of young want to escape South Korean ‘Hell’
By Andrew Salmon, Seoul
31/12/2019
ผลการสำรวจที่เผยแพร่กันเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าทั้งคนสาวและคนหนุ่มชาวเกาหลีใต้ถึงสามในสี่ทีเดียว ต้องการที่จะออกไปจากประเทศซึ่งพวกเขาเรียกกันตลกๆ ว่าเป็น “นรก” ความคิดเห็นเช่นนี้เป็นการสะท้อนความทุกข์ของชนชั้นกลางซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก, เป็นอาการป่วยไข้ที่เกิดขึ้นเฉพาะในแดนโสม, --หรือว่าเป็นเพียงการพูดจาเจ๊าะแจ๊ะผิวเผินเท่านั้น?
เมื่อมองดูจากจุดที่ห่างไกลออกไป ชาวเกาหลีใต้อาจจะดูเหมือนเป็นพวกคนมีบุญผู้ได้รับพรอันประเสริฐ หากเปรียบเทียบกับผู้คนในเอเชียตะวันออกด้วยกัน
ลองคิดดูเถอะ พวกเขาเป็นพลเมืองของชาติประชาธิปไตยที่มั่งคั่งรุ่งเรือง ซึ่งเรื่องราวความสำเร็จจากกำเนิดอันต่ำต้อยแต่สามารถก้าวขึ้นสู่ฐานะอันสำคัญในระดับภูมิภาคอย่างรวดเร็วของประเทศนี้ได้รับการเล่าขานอย่างน่าภาคภูมิใจ พวกเขายังมีแบรนด์ภาคบริษัทธุรกิจที่สามารถแข่งขันกับใครๆ ในทั่วพิภพ มีโครงสร้างพื้นฐานซึ่งก้าวหน้าอุดมด้วยสีสันของอนาคต อีกครั้งมีจักรวาล เค-ป็อป อันเต็มไปด้วยมนตร์เสน่ห์ซึ่งเป็นที่รักใคร่ชื่นชอบตลอดทั่วภูมิภาคและกระทั่งทั่วโลก พวกเขาสามารถอวดโอ่ให้เป็นที่อิจฉาริษยาได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างลักษณะภายนอก, ไลฟ์สไตล์, และคุณภาพชีวิต
แต่เมื่อเพ่งพินิจกันให้ใกล้ชิดแล้ว สิ่งต่างๆ กลับดูแตกต่างออกไป จากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้คนในแดนโสมขาว 5,000 คนเมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏว่า 75% ของผู้คนในวัยระหว่าง 19-34 ปีของชาติมั่งคั่งร่ำรวยเป็นอันดับที่ 11 ของโลกแห่งนี้ บอกว่าต้องการออกไปจากประเทศ
ผลโพลอันชวนช็อกนี้ ซึ่งรายงานเอาไว้ในฮันเคียวเรห์ (Hankyoreh) หนังสือพิมพ์ขายดีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.hani.co.kr/arti/english_edition/e_national/922522.html) ได้รับการเปิดเผยเป็นครั้งแรก ณ เวทีประชุมนโยบายความเสมอภาคทางเพศภาวะครั้งที่ 119 (119th Gender Equality Policy Forum) ของสถาบันการพัฒนาสตรีเกาหลี (Korea Women’s Development Institute) ในการนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ ซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า “การวินิจฉัยความขัดแย้งทางเพศภาวะจากจุดยืนของเยาวชน และนโยบายตอบสนองที่ขอเสนอแนะเพื่อให้เกิดรัฐซึ่งต้อนรับฝ่ายต่างๆ ให้เข้าร่วม: บทวิเคราะห์ทางเพศภาวะเกี่ยวกับความรับรู้ความเข้าใจในเรื่องความเป็นธรรม” (Diagnosis of Gender Conflicts from a Youth Standpoint and Suggested Policy Responses for an Inclusive State: A Gender Analysis of Fairness Perceptions)
ผลการสำรวจคราวนี้ค้นพบว่า 79.1% ของหญิงวัยเยาว์ และ 72.1% ของชายวัยเยาว์ ต้องการที่จะออกไปจากเกาหลี ขณะที่ 83.1% ของหญิงวัยเยาว์ และ 78.4% ของชายวัยเยาว์ มองเห็นเกาหลีเป็น “นรก” และ 29.8% ของหญิงวัยเยาว์ กับ 34.1% ของชายวัยเยาว์ เห็นว่าพวกเขาเองเป็น “พวกขี้แพ้”
นอกเหนือจากความแตกต่างทางเพศภาวะแล้ว ผลสำรวจนี้ยังชี้ให้เห็นว่าประชาชนจำนวนมากมายมีความไม่พึงพอใจกับชีวิตในท้องถิ่น
แต่ผลโพลเช่นนี้จะถึงกับเรียกร้องให้พวกชนชั้นนำของโซลต้องนั่งลงและขบคิดไตร่ตรองอย่างจริงจังในเรื่อง “ความฝันของชาวเกาหลี” (Korean Dream) หรือไม่? หรือว่ามันเป็นเพียงแค่การสะท้อนให้เห็นถึงการพูดจาเจ๊าะแจ๊ะแบบตื้นๆ ผิวเผินในหมู่เยาวชนผู้ซึ่งมีชีวิตที่ดีพอสมควรอยู่แล้ว และไม่ได้มีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแท้จริงที่จะผละจากประเทศไปหรอก?
‘นรกโชซ็อน’
มีวลีซึ่งกลายเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายในหมู่ชาวเกาหลีหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ เมื่อต้องการพูดถึงประเทศชาติของพวกเขา ได้แก่วลีที่ว่า “นรกโชซ็อน” (Hell Joseon) ทั้งนี้ “โชซ็อน” เป็นชื่อของราชอาณาจักรโบราณของเกาหลีซึ่งล่มสลายไปนานแล้ว แต่วลีนี้กำลังถูกลบรัศมีด้วยคำๆ ใหม่ที่พูดกันว่า “ตัล-โช” (Tal-Jo) ซึ่งเป็นการนำเอาคำ 2 คำมาเชื่อมกัน ได้แก่คำว่า “ทิ้ง, ออกไป” และ “โชซ็อน” ดังนั้นหากจะแปลกันในแบบภาษาชีวิตประจำวันแล้ว คำแปลที่ดีที่สุดสำหรับ “ตัล-โช” อาจจะได้แก่ “หนีไปจากนรก” (Escape Hell)
“ถ้าเราจะพูดกันตลกๆ เราจะเรียกเกาหลีว่า ‘นรกโชซ็อน’ แต่ยังมีคำอีกคำหนึ่งซึ่งเรียกเกาหลีว่า “ตัล-โจ” โดยที่ในทุกวันนี้เราใช้คำนี้กันบ่อยกว่าคำว่า “นรกโชซ็อน” มากมายนัก” ปาร์ก จีนา (Park Ji-na) นักศึกษาระดับปริญญาตรีวัย 20 ปีเศษๆ ในกรุงโซล เล่าให้เอเชียไทมส์ฟัง “ฉันกับเพื่อนๆ ใช้คำนี้ในเวลาพูดคุยกันโดยเรียกกันแบบตลกๆ แต่ถ้าฉันมีโอกาสดีๆ ที่จะไปต่างประเทศและทำงานที่นั่น ฉันก็จะไปนะ”
มีบางคนมองว่า เรื่องแบบนี้ไม่ใช่มีเฉพาะในเกาหลีหรอก “ฉันคิดว่ามีวิกฤตการณ์ชนชั้นกลางแบบนี้ในประเทศร่ำรวยทุกๆ ประเทศนะ” แป ฮี-คยุง (Pae Hee-kyung) ซึ่งบริหารสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งใกล้ๆ กรุงโซล บอกกับเอเชียไทมส์
ในตลอดทั่วทั้งโลกพัฒนาแล้ว ในยุคหลังอุตสาหกรรม พวกชนชั้นกลางต่างมีความรู้สึกมีความเข้าใจกันว่าตนเองเหมือนกับถูกปิดล้อมไม่มีอิสระ ทั้งจากมาตรฐานการครองชีพที่กำลังตกต่ำลงเรื่อยๆ, โอกาสต่างๆ ซึ่งดูเหมือนกำลังมีแต่ระเหิดเหือดแห้งหายวับไป, และความไม่เท่าเทียมกันในด้านทรัพย์สินความมั่งคั่งที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกที แนวโน้มเหล่านี้ปรากฏขึ้นมาท่ามกลางภูมิหลังของโลกที่กำลังกลายเป็นหนึ่งเดียวกันเนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเงินทุนและตำแหน่งงานถูกกระจายตัวออกไปจากพวกศูนย์กลางเดิมๆ ของการลงทุน, ของอุตสาหกรรมการผลิต, ตลอดจนของความมั่งคั่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
มีบัณฑิตผู้รู้บางรายเสนอแนะว่า ประเด็นปัญหาเหล่านี้แหละที่สามารถใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์อย่างเช่น เบร็กซิตในอังกฤษ, การเลือกตั้งให้โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีในสหรัฐฯ, และการประท้วงของคนฮ่องกงวัยหนุ่มสาว
ชาวเกาหลีใต้มีความแตกต่างจากคนชาติอื่นหรือไม่?
สำหรับเกาหลีแล้ว การเปลี่ยนผ่านจากความยากจนไปเป็นความมั่งคั่งรุ่งเรือง และการก้าวผงาดขึ้นมาของพวกชนชั้นกระฎุมพี เป็นไปด้วยความรวดเร็วชวนตระหนก กล่าวคือ ประเทศนี้แปรสภาพจากการเป็นดินแดนเกษตรกรรมล้าหลังไกลโพ้นที่แทบไม่มีใครรู้จัก กลายมาเป็นมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมระดับโลกภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ทศวรรษ ทว่าในขณะที่ชาวเกาหลีจากช่วงกลางทศวรรษ 1960 ไปจนถึงช่วงกลางทศวรรษ 1990 สามารถคาดหวังได้ว่าจะมีตำแหน่งงานอันเหมาะสมสำหรับพวกเขา และมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศพุ่งพรวด แต่ในเวลานี้มันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว
“ในประเทศนี้ ถ้าคุณมองไปที่คนรุ่นคุณพ่อของคุณ พวกเขามีความอุดมสมบูรณ์น้อยกว่าในแง่ของวัตถุ แต่พวกเขามีความหวังว่าทุกๆ ปีพวกเขาจะได้ขึ้นเงินเดือนค่าตอบแทน พวกเขาจะสามารถซื้อแฟลตพำนักอาศัย และราคาของอสังหาริมทรัพย์นี้จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และพวกเขาจะรู้สึกได้ถึงความสำนักแห่งความสำเร็จและความมั่งคั่ง” แดเนียล ทูดอร์ (Daniel Tudor) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Korea: The Impossible Country (เกาหลี: ประเทศที่เป็นไปไม่ได้) บอกกับเอเชียไทมส์
แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นอีกต่อไปแล้วด้วยเหตุผล 2 ประการ
ประการแรก เศรษฐกิจของเกาหลีใต้อยู่ในภาวะโตเต็มที่แล้ว และอัตราการเติบโตขยายตัวได้ชะลอลงจากระดับสูงเป็นตัวเลขสองหลัก มาอยู่ที่ระดับเลขหลักเดียวต่ำๆ ประการที่สอง พวกหัวรถจักรที่ฉุดลากสร้างความเติบโตของประเทศชาติ –อันแก่พวกเครือกิจการหลายหลากที่บริหารโดยครอบครัว ซึ่งเรียกกันในภาษาเกาหลีว่า “แชโบล” เป็นต้นว่า ซัมซุง, ฮุนได, และแอลจี – ต่างก้าวขึ้นสู่ระดับโลกและออกไปมีกิจการใหญ่โตกว้างขวางในต่างแดนด้วย ไม่ใช่เน้นแค่ในเกาหลีอย่างเมื่อก่อน จากการที่ประชากรของเกาหลีใต้ทั่วประเทศในปัจจุบันอยู่ในระดับ 51 ล้านคน ปรากฏว่าพวกตำแหน่งงานในออฟฟิศแบบทำงานเต็มเวลา มีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับการดูดซับพวกผู้คนที่มีการศึกษาสูงๆ เอาไว้ได้ทั้งหมดเสียแล้ว
กระนั้นก็ตามที ตัวเลขสถิติอัตราการว่างงานในเกาหลีก็ยังยากที่จะเรียกได้ว่าอยู่ในระดับหายนะ ตามข้อมูลของธนาคารโลก ระหว่างปี 1995 จนถึงปี 2017 อัตราการว่างงานในแดนโสมขาวเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 4% อยู่ 3 ปีเท่านั้น ได้แก่ปี 1999, 2000, และ 2001 (ในช่วงเวลาที่วิกฤตทางการเงินเอเชีย ซึ่งโสมขาวเป็นชาติหนึ่งที่โดนเข้าเต็มๆ ยังคงออกฤทธิ์ฟาดหัวฟาดหางอยู่) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theglobaleconomy.com/South-Korea/Unemployment_rate/) ตัวเลขนี้อยู่ในระดับสูงเกิน 4% ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2019 แต่ก็ตกลงมาอยู่ที่ 3.6% ในเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ตามตัวเลขของบริษัทให้บริการข้อมูล CEIC (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ceicdata.com/en/indicator/korea/unemployment-rate) สำหรับอัตราการว่างงานของเยาวชนในเกาหลีใต้นั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 7.19% ในช่วงเวลาจากปี 1982 จนถึงปี 2019 ทั้งนี้ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติเกาหลี (Statistics Korea) และถึงแม้พุ่งขึ้นสูงไปอยู่ที่ระดับ 11.7% ในเดือนเมษายน 2019 แต่ก็ได้หล่นลงมาเหลือ 7.1% ในเดือนตุลาคม
ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกันประเด็นหนึ่งคือ เรื่องบ้านอยู่อาศัย ชาวเกาหลีโดยประเพณีนิยมแล้วเป็นผู้ที่ไม่ชมชอบลงทุนในหลักทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงิน แต่จะนำเอาเงินออมของพวกตนไปจมอยู่ในการซื้อบ้านซื้อที่พักอาศัยมากกว่า โดยที่แนวโน้มเช่นนี้ยิ่งได้รับความนิยมอย่างชนิดหนักหน่วงในยุคที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ผลลัพธ์ก็คือ ราคาบ้านราคาที่พักอาศัยกำลังพุ่งลิ่ว เมื่อบวกเรื่องนี้เข้ากับข้อเท็จจริงที่ว่าประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วประเทศ –ราวๆ 24 ล้านคน— กำลังพำนักอาศัยกันภายในและรอบๆ พื้นที่มหานครโซลด้วยแล้ว มันก็ย่อมเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าอกเข้าใจได้ว่า ทำไมคนหนุ่มคนสาวชาวเกาหลีจึงคิดว่าพวกเขาจะไม่มีทางมีความสามารถซื้อหาบ้านสักหลังหนึ่งได้เลย
แล้วยังมีอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งพวกคนหนุ่มสาวชาวเกาหลีกำลังรู้สึกถึงความอยุติธรรมของระบบท้องถิ่นอย่างโดดเด่นชัดเจน ในสังคมที่วัฒนธรรมยังเป็นแบบลัทธิขงจื้อใหม่ (neo-Confucian) และมีเศรษฐกิจที่เติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วแห่งนี้ การศึกษาคือกุญแจที่จะไขประตูไปสู่ความสำเร็จ ในอดีตที่ผ่านมา ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ถึงแม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกระบวนวิธีอยู่มาก แต่ก็ได้รับการประเมินกันอย่างกว้างขวางว่ามีความยุติธรรม ทว่าในเวลานี้ได้เกิดเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ขึ้นมาเสียแล้ว
ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีลูกๆ ของบุคคลทรงอิทธิพล 2 คน ได้แก่ ชอย ชุนซิล (Choi Soon-sil) คนสนิทไว้วางใจของอดีตประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย ที่ถูกลงโทษจำคุก อีกคนหนึ่งคือ โช คุค (Cho Kuk) ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรมแค่ช่วงสั้นๆ ภายใต้คณะบริหารประธานาธิบดีมุน แจอิน ชุดปัจจุบัน ได้ถูกเปิดโปงว่าสามารถใช้อภิสิทธิ์ของบิดามารดาจนได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยระดับท็อป กรณีทั้งสองนี้ปรากฏขึ้นในค่ายการเมืองทั้งที่เป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ดังนั้นจึงเป็นการบ่งชี้ว่า วัฒนธรรมในการให้อภิสิทธิ์แก่พวกชนชั้นนำนั้น เป็นสิ่งที่มีขนาดขอบเขตอันกว้างขวางมาก
คนหนุ่มสาวจำนวนมากรู้สึกขมขื่นจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาเหล่านี้
พวกอภิสิทธิ์ชนพวกนี้ “มีเงินทองตั้งมากมาย และกำลังใช้เงินทองเพื่อได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดังๆ ซึ่งทำให้ชีวิตของพวกเขามีหลักประกันมั่นคงมาก” ปาร์ก กล่าว “แต่สำหรับพวกเราแล้ว ไม่ว่าเราจะขยันขันแข็งทำงานหนักกันสักแค่ไหน เราก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะสามารถซื้อบ้านสักหลังหนึ่งได้หรือไม่ –ฉันไม่รู้เลยว่าพวกเราจะสามารถอยู่กันยังไงต่อไปในอนาคต!”
น่าเป็นห่วงจริงๆ หรือแค่เพียงเจ๊าะแจ๊ะวัยรุ่น
ชัดเจนทีเดียวว่า สิ่งที่ค้นพบจากการสำรวจวิเคราะห์นี้สะท้อนให้เห็นถึงการพูดจาของพวกวัยรุ่น แต่การพูดจาเหล่านี้ควรที่จะนำมาวิเคราะห์กันอย่างไร?
ตามข้อมูลของธนาคารโลกในเรื่องค่าสัมประสิทธิ์จีนี (GINI co-efficient) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://data.worldbank.org/indicator/SI.POV.GINI) เกาหลีใต้อยู่ที่ 31.6 ซึ่งถือว่าสมเหตุสมผลทีเดียว เปรียบเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งอยู่ที่ 32.1, อังกฤษที่ 33.2, และสหรัฐฯที่ 41.5 (โดยที่ตัวเลขนี้ยิ่งสูงเท่าใด ก็แสดงว่ามีความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้มากขึ้นเท่านั้น) แต่ทูดอร์ (ผู้เป็นนักเขียน) เชื่อว่า วงโคจรในการพัฒนาแบบฟาสต์แทร็กของเกาหลีได้ก่อให้เกิดความอ่อนไหวที่รุนแรงอยู่หลายๆ ประการ
“ผมไม่คิดว่าเกาหลีมีความไม่เท่าเทียมอย่างเป็นพิเศษ –ประเทศนี้เป็นชนชั้นกลางเอามากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศร่ำรวยอื่นๆ แล้ว— แต่ถ้าหากคุณย้อนถอยหลังไปสัก 1 หรือ 2 รุ่นอายุ อะไรๆ ในตอนนั้นมีความเท่าเทียมกันมากจริงๆ คือทุกๆ คนไม่มีอะไรเลย” เขากล่าว “เมื่อทุกๆ คนต่างก็ไม่มีอะไร คุณย่อมไม่รู้สึกว่ายากจน แต่มาถึงเวลานี้ แม้กระทั่งเมื่อคุณมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างสบายพอสมควรแล้ว แต่พอคุณมองไปที่คนอื่นๆ รอบๆ คุณก็ยังอาจจะรู้สึกไม่พอใจขึ้นมา”
ทางด้าน แป (ผู้บริหารการศึกษา) แสดงความคิดเห็นว่า พวกคนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันไม่ใช่ถูกระบบต่างๆ ของพวกเขาตอบสนองให้อย่างเลวร้าย เหมืออนอย่างที่พวกเขาเชื่อกันหรอก
“ในระบบการศึกษาของเกาหลี มีโอกาสเยอะแยะที่จะได้ทุนการศึกษา การศึกษาในขั้นอุดมศึกษาในเกาหลีนั้นมีราคาถูกกว่าในต่างประเทศเยอะ และมีโอกาสมากมายที่จะทำงานในช่วงวันหยุด ดังนั้นจึงมีโอกาสเยอะมาก” เธอกล่าว “แต่พวกคนรุ่นมิลเลนเนียล (ผู้ที่มีอายุระหว่าง 19-34 ปี) ยังคงต้องการที่จะออกไปจากวงจรนี้”
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ เกาหลีนั้นมีความโน้มเอียงระดับชาติที่เตะตามากๆ อยู่ประการหนึ่ง นั่นคือชอบส่งเสียงแสดงอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งบางทีก็เกินจริง
“ตั้งแต่ที่ผมพำนักอาศัยอยู่ในเกาหลีเรื่อยมา ผู้คนบ่นพึมร้องทุกข์กันตลอดเวลาเลย” ทูดอร์กล่าว “ประธานาธิบดีคนนี้แย่มากๆ—ไม่ว่าจะเป็นใครคนไหนก็ตามที— และเศรษฐกิจก็แย่มากๆ หรือกำลังอยู่ตรงขอบเหวของวิกฤตแล้ว –ไม่ว่าจริงๆ แล้วมันจะดีแค่ไหนก็ตามที”
แม้กระทั่ง ปาร์ก-นักศึกษา ก็ยอมรับว่าเธอและเพื่อนๆ ของเธอไม่ได้กำลังวางแผนจะอพยพโยกย้ายไปอยู่ต่างประเทศกันจริงๆ หรอก
“ฉันกับเพื่อนๆ พูดกันเรื่องไปจากเกาหลี แต่การที่พวกเราจะได้งานทำในต่างประเทศนะ พวกเราอย่างน้อยที่สุดก็ควรจะมีปริญญาทางการแพทย์ หรือมีคุณสมบัติพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างเช่นเป็นพยาบาล หรือเป็นยูเอ็กซ์ ดีไซเนอร์ (UX designer นักออกแบบที่มุ่งทำให้ผู้ใช้งานพึงพอใจ)” เธอบอก “ฉันกับเพื่อนๆ ที่เรียนทางศิลปศาสตร์หรือธุรกิจ ถึงแม้เราจะพูดกันว่า ‘ตัล โช’ แต่จริงๆ แล้วเราไม่สามารถไปจากเกาหลีได้หรอก”