“เทวัญ” ขอโทษ ปชช.มาตรการกันโควิด-19 กระทบความสะดวกสบาย สธ.พบสัญญาณเสี่ยงผู้ป่วยเพิ่มรวดเร็ว กทม.แจงสถานประกอบการ 8 ประเภทต้องปิด 14 วัน มี “อาบอบนวด-คาราโอเกะ-ดริงก์” ย้ำไม่ปิดกรุง ลุยลดค่าเช่าแผง-ดอกเบี้ย ยืดไถ่ถอน ลงทะเบียนออนไลน์ต่างด้าว
วันนี้ (18 มี.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า มาตรการขณะนี้ไม่ใช่การปิดเมืองหรือปิดประเทศ แต่เป็นมาตรการสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าประเทศให้ยากขึ้น ชะลอการระบาดในประเทศให้เข้มข้นขึ้น มีมาตรการคัดกรองบุคคลที่จะกลับเข้าประเทศไทยหรือต่างชาติที่เข้าประเทศไทยที่เข้มข้น เรามีการระมัดระวังป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากภายนอกให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม การที่มีมาตรการต่างๆ เข้ามาย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน ตรงนี้อยากขอโทษประชาชนอย่างมากที่ความสะดวกความสบายที่เคยได้รับอาจได้รับน้อยลง แต่เป็นระยะหนึ่งเท่านั้น จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนการเดินทางต่างๆ ยังใช้ชีวิตปกติเช่นเดิม
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตอนนี้เราอยู่ระยะสองก็จริง แต่พบสัญญาณบางอย่างที่มีความเสี่ยงที่จะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลให้ความสำคัญจึงมีมาตรการ 6 ด้านออกมา
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ประเภทของสถานที่ที่ปิดชั่วคราวใน กทม.จะมี 8 ประเภท ได้แก่ 1. สถานประกอบกิจการอาบอบนวด 2. สถานประกอบกิจการอบไอน้ำ อบสมุนไพร เซาน่า 3. โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ โรงละคร 4. ฟิตเนส 5. สถานประกอบกิจการคล้ายสถานบริการ 6. สนามมวย 7. สนามกีฬา และ 8. สนามม้า
สำหรับประเภทที่ 5 นั้น สถานบริการในส่วนของ กทม.ที่ขึ้นทะเบียนไว้ มี 1,712 แห่งใน 50 เขต โดยสถานบริการที่ต้องปิดและหลายคนยังสงสัยว่ารูปแบบเป็นอย่างไรนั้น หมายถึงที่มีการจำหน่ายอาหาร สุรา มีการแสดงดนตรี เต้นรำ การแสดงโชว์ คาราโอเกะ หรือที่เรียกว่า นั่งดริงก์ สถานที่เหล่านี้ปิด แต่ร้านอาหารทั่วๆ ไปไม่ได้ปิด ยังขายได้ตามปกติ ส่วนสนามกีฬานั้นหากเป็นที่โล่งแจ้ง คนวิ่งออกกำลังกายไม่เบียดเสียดกันยังดำเนินการได้ แต่หากเป็นสนามกีฬาที่ปิดซึ่งมีโอกาสที่ผู้ออกกำลังกายจะใกล้ชิดและสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น สนามฟุตซอล สนามแบดมินตัน โรงยิม จะปิดชั่วคราว 14 วัน และระหว่างที่ปิดจะมีเจ้าหน้าที่เขตไปตรวจสอบ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้มีการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคให้ถูกสุขอนามัย ส่วนร้านอาหารในถนนข้าวสาร มีการจัดโต๊ะในระยะห่างกัน ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะต้องปิด
พล.ต.ท.โสภณกล่าวว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปิดชั่วคราวคือ แรงงานเกิดความเดือดร้อน ทาง กทม.ได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน คือ แผงค้ากว่า 2.9 หมื่นแผงใน 12 ตลาดของ กทม. จะลดค่าเช่าแผงให้ผู้ประกอบการ 25% เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ เม.ย.-ก.ค. นอกจากนี้ ในส่วนของสถานธนานุบาล 21 แห่ง จะยืดเวลาหลุดจำนำเดิม 4 เดือน 30 วัน ออกไปเป็น 8 เดือน พร้อมกับลดดอกเบี้ย เชื่อว่ามาตรการนี้จะบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานและผู้มีรายได้น้อย และจะพยายามหามาตรการเพิ่มขึ้นต่อๆ ไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า กทม.มีโอกาสจะปิดเมือง หรือมีแนวความคิดที่จะปิดหรือไม่ พล.ต.ท.โสภณกล่าวว่า เราไม่มีความคิดที่จะปิด กทม. หรือปิดเมืองเลย ทาง กทม.มีแนวคิดแค่จะเพิ่มความเข้มงวดไม่ให้มีการแพร่ระบาด และเข้มงวดการรักษาความสะอาด ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจจะป้องกันตัวเอง ไม่เอาโรคไปติดคนอื่น ยืนยันไม่มีความคิดจะปิด กทม.แต่อย่างใด และไม่มีความคิดจะไม่ให้คนข้างนอกเข้ามา แต่ยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติ
นายจักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรณีที่มีปัญหาเรื่องความแออัดของแรงงานต่างด้าวที่เดินทางไปต่อใบอนุญาตที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ จำนวน 4 แห่งใน กทม.นั้น เราได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขออนุญาตการทำงาน สำหรับกรณีที่มีการนัดหมายวันแล้ว ไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์ฯ แต่ให้นายจ้างนำลูกจ้างไปตรวจลงตราที่ศูนย์บริการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลลาดพร้าว ศูนย์การค้าบิ๊กซีสะพานใหม่ ศูนย์การค้าบิ๊กซี ราษฎร์บูรณะ ส่วนออกบัตรประจำตัวซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ให้ติดต่อสำนักงานเขต กทม.50 เขต ส่วนใบอนุญาตทำงานให้ไปติดต่อสำนักงานจัดหางาน 10 แห่งทั่ว กทม. ขณะที่ขั้นตอนการยื่นบัญชีรายชื่อ กลุ่มที่ยังไม่ได้ยื่นบัญชีรายชื่อนั้น ให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อทางออนไลน์ หรือมายื่นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ 4 แห่ง ไม่ต้องพาลูกจ้างมา ตั้งแต่วันที่ 19-31 มี.ค. แต่กลุ่มที่ยื่นบัญชีรายชื่อแล้วไม่ต้องห่วง เพราะใบอนุญาตทำงานและวีซ่าทำงานซึ่งจะหมดในวันที่ 31 มี.ค.จะมีการผ่อนผันให้สามารถมาขอใบอนุญาตทำงานและวีซ่าได้ถึง 30 มิ.ย. ส่วนในต่างจังหวัดเป็นหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันที่ 18 มี.ค. กองสถานที่ได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำเครื่องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามป้อมมาฉีดพ่นตามป้อมตำรวจประจำประตูต่างๆ ภายในทำเนียบฯ