กทม.ประเมินรายได้ปี 63 ไวรัส-เศรษฐกิจโลก ถดถอย กระทบจัดเก็บรายได้แน่! หลังพบจัดเก็บจากส่วนราชการอื่น ปี 62 ที่ประมาณการกว่า 60,000 ล้าน รายได้วูบ! 3,015.23 ล้าน เผย ตลอดปีงบ 62 รายได้ที่ กทม.จัดเก็บเองได้ 83,338.64 ล้าน สูงกว่าประมาณการร้อยละ 4.17 จี้ออกมาตรการรองรับ เร่งรัดติดตามทวงหนี้ภาษีค้างชำระ เข้มงวดจัดเก็บนำส่งรายได้ เบรกเบิกจ่ายงบเมกะโปรเจกต์ไม่จำเป็น
วันนี้ (9 มี.ค.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำนักการคลัง กทม. ได้เวียนหนังสือรายงานวิเคราะห์สรุปผลการจัดเก็บรายได้กรุงเทพมหานครปีงบประมาณ 2562 และคาดการณ์รายได้ปีงบประมาณ 2563
โดยงบประมาณ 2562 กทม. ตั้งประมาณการรายได้ไว้ 80,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้ที่ กทม.จัดเก็บเอง 20,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของประมาณการรายได้รวม และรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ 60,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75 ของประมาณการรายได้รวม
สำหรับการจัดเก็บรายได้ ในปีงบประมาณ 2562 สัมฤทธิ์ผลตามประมาณการ ที่ตั้งไว้โดยจัดเก็บได้ 83,338.64 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ร้อยละ 4.17 แต่ชะลอตัวลดลงจาก ปีที่ผ่านมา 3,105.52 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.59
“ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญกับรายได้ กทม. คือ รายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ ที่ลดลงจากปีที่ผ่านมาจำนวนมากถึง 3,015.23 ล้านบาท โดยมีสาเหตุที่สำคัญจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ซบเซาจนรัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
อีกสาเหตุนั้นเกิดจากการเหลื่อมงวดเวลาในการรับรู้รายได้ ที่ได้รับจัดสรรทำให้ยอดที่ได้รับจัดสรรต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ในส่วนของรายได้ ที่ กทม.จัดเก็บเอง 3 ภาษีหลัก (ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย) จะพบว่า กทม. สามารถจัดเก็บภาษีทั้ง 3 ประเภทได้สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้และสูงกว่าปีที่ผ่านมา จากผลสืบเนื่องของมาตรการเร่งรัดที่ กทม.กำหนดให้สำนักงานเขตถือปฏิบัติ เพื่อมีให้เกิดการตกค้างจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ส่วนบทวิเคราะห์ ในปีงบประมาณ 2563 กทม. ได้ตั้งประมาณการรายได้ไว้จำนวน 83,000 ล้านบาท เพื่มขึ้นจากปีงบ 2562 จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยปรับเพิ่มประมาณการรายได้ที่ กทม.จัดเก็บเองขึ้น 500 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.50 และปรับเพิ่มประมาณการรายได้ ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ขึ้น 2,500 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.17 สาเหตุที่ปรับเพิ่มประมาณการรายได้ ที่ กทม.จัดเก็บเอง มาจากการแก้ไขข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้หลายฉบับที่มีผลบังคับใช้ในปี 2563
“แต่ ณ ปัจจุบันได้มีการแก้ไขข้อกฎหมายหลายฉบับ ที่จะทำให้ กทม.ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามประมาณการที่ตั้งไว้ เช่น การเลื่อนเก็บค่ารรรมเนียมขยะ จากเดิมจะเริ่มเก็บในวันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็น 1 ต.ค. 2563 และการปรับปรุงในรายละเอียดของการจัดเก็บภาษีที่ดินและลื่งปลูกสร้าง เป็นต้น”
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงกับรายได้ กทม. ที่อาจไม่เป็นไปตามประมาณการที่ตั้งไว้ ส่วนของการปรับประมาณการรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้เพิ่มขึ้น มาจากการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กทม.ต้องเตรียมแผนการรองรับการจัดเก็บรายได้ที่อาจจะตํ่ากว่าประมาณการที่ตั้งไว้ เพราะใช้วิธีการงบประมาณแบบสมดุล (รายรับกำหนดรายจ่าย) หากเกิดเหตุการณ์ที่รายได้ไม่เป็นไปตามประมาณการที่ตั้งไว้ จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของ กฎหมายที่เกี่ยวข้องดังที่ไต้กล่าวไว้แล้ว
ในขณะที่มีโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ส่งผลโดยตรงกับรายได้หลัก อย่างภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บและจัดสรรให้กับ กทม. ไม่เป็นไปตามประมาณการที่ตั้งไว้ กทม.จึงควรมีมาตรการรองรับ โดย กทม. ต้องเร่งรัดติดตามและทวงถามลูกหนี้ ภาษีที่ค้างชำระ รวมถึงการวางแผนจัดเก็บภาษีที่ดินและสิงปลูกสร้างให้มีประสิทธิภาพมากที่ลุด โดยเน้นความ ครบล้วน ถูกต้อง ตามที่กฎหมายกำหนด
ให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บรายได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่ภาษี เพิ่มความเข้มงวดในการจัดเก็บและนำส่งเป็นรายได้ให้ครบล้วน ถูกต้อง รวดเร็ว
ขณะที่ สำนักงบประมาณ กทม. พิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นของการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ เพื่อมีให้เกิดการขาดสภาพคล่อง สุดท้ายร่วมกันประเมินมาตรการประหยัดพลังงานที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายของหน่วยงานให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน