“กมธ.แก้ พ.ร.บ.กสทช.” ประชุมนัดแรก เลือก “พุทธิพงษ์” นั่งประธาน “เศรษฐพงค์” แนะวางกรอบแก้กฎหมายให้สอดคล้องสถานการณ์ “เจษฎา” ชี้กฎหมายตั้งชื่อผิด ระบุกำหนดคุณสมบัติ กก.ไม่ตอบโจทย์การทำงาน แนะเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่ - ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. กสทช.) เป็นนัดแรก
ภายหลังการประชุม พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้ได้มีการเลือกและวางตัวกรรมาธิการฯในตำแหน่งต่างๆ เช่น นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสัคม (ดีอีเอส) เป็นประธานกรรมาธิการฯ ส่วนตนเองเป็นรองประธานฯคนที่ 4 รวมทั้งได้มีการหารือถึงกรอบการทำงาน และให้กรรมาธิการฯ ได้แสดงความเกี่ยวกับประเด็นในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. กสทช. ในเรื่องของคณะกรรมการสรรหา และเรื่องของคุณสมบัติผู้ที่มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. ซึ่งตนเห็นว่าตำแหน่งดังกล่าวควรที่จะเปิดกว้างมากกว่าที่ร่างเสนอมา เนื่องจากงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีการสื่อสาร โทรคมนาคม เป็นงานที่ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีความรู้ในอุตสาหกรรมนั้นจริงๆ เพราะจะสามารถขับเคลื่อนงานด้านวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของโลกของเทคโนโลยี
ด้าน นายเจษฎา ศิวรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า ในที่ประชุมตนได้เสนอแนวทางในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยเป้าหมายให้กฎหมายออกมาสมบูรณ์บังคับใช้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตนมองตั้งแต่ชื่อร่างกฎหมายที่บอกว่าเป็นองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ แต่โดยหน้าที่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่จัดสรรคลื่นความถี่หรือการประมูลคลื่นเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่บริหารคลื่นความถี่ ที่ต้องดูว่าคลื่นความถี่แต่ละช่วงเหมาะสมกับการที่จะทำกิจการอะไร ฯลฯ อีกมากมาย ดังนั้นหน้าที่ของกสทช. จึงมีลักษณะบริหารคลื่นความถี่มากกว่าจัดสรรคลื่นความถี่ แน่นอนว่าอาจจะยากหากจะมีการแก้ชื่อกฎหมาย เพราะใช้มากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งเป็นการตั้งและใช้ชื่อกฎหมายที่ผิดมาโดยตลอด ดังนั้นหากจะมีการผลักดันให้แก้ชื่อกฎหมายนี้ได้ก็จะเป็นเรื่องดี แต่หากไม่ได้ตนก็จะพยายามผลักดันให้มีการปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับการทำหน้าที่ของ กสทช. ในเรื่องของการบริหารคลื่นความถี่จริงๆ
นายเจษฎา กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องกรรมการสรรหาก็ยังคงมีปัญหาว่าไม่ได้กำหนดว่ากรรมการต้องมาจากด้านไหน ซึ่งตรงนี้หากกรรมการสรรหา ไม่ได้กำหนดให้กรรมการมาจากด้านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการสื่อสาร ด้านโทรคมนาคม ซึ่งก็อาจจะมีผลกระทบต่อการทำงาน กสทช. ในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของของผู้ที่จะเข้ารับการสรรหาให้เป็นกรรมการ กสทช. เช่น ที่บอกว่าต้องเคยรับราชการไม่ต่ำกว่าตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษา รองอธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญรองหัวหน้าศาลทหารกลาง หรือรองอธิบดีอัยการ หรือมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป เป็นหรือเคยเป็นนายทหารหรือตำรวจยศพลตรีขึ้นไป หรือดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ขึ้นไป หรือเคยเป็นผู้บริหารตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการในบริษัทมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติอย่างนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ด้านการทำงานในหน้าที่ของ กสทช. เลย เพราะจริงๆแล้วคุณสมบัติที่มีความเหมาะคือ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร การโทรคมนาคม ตนคิดว่าการกำหนดคุณสมบัติต้องเปิดกว้างกว่านี้ เพื่อให้ได้บุคคลที่เข้ามาเป็นกรรมการเป็นผู้ที่มีคุณภาพจริงๆ
“ผมไม่เห็นด้วยในการกำหนดคุณสมบัติตามที่ร่างเสนอแก้ไขมาโดยยึดตำแหน่งสูงๆ เพียงอย่างเดียว ทั้งที่จริงแล้วเรื่องคุณสมบัติควรที่จะเปิดกว้างกว่านี้ ควรที่จะพิจารณาในเรื่องความรู้ ประสบการณ์ ไม่ควรมองข้ามคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ ให้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อช่วยให้การทำงานของ กสทช. มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและเป็นธรรมกับบริษัทผู้ให้บริการ” นายเจษฎา กล่าว.