นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกี่ยวกับกระทรวงคมนาคม เรื่อง ส่วนต่อขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีความจำเป็นตามแผนแม่บทสุวรรณภูมิ ที่รองรับผู้โดยสารได้เพียง 45 ล้านคนต่อปี แต่จะทะลุไปถึง 64 ล้านคนต่อปี ซึ่งตามแผนแม่บทมี Main Terminal และมีฝั่งซ้ายขวา สองข้าง คือ ฝั่งซ้าย กับ ฝั่งขวา ของตัวอาคาร หรือเรียกว่า East และ West เป็นส่วนต่อขยาย แต่เมื่อมาดูสถิติการดำเนินการตามแผนมีความล่าช้า เป็นปัญหาประเทศซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งปรับปรุง ไม่ว่าจะเรื่องสิ่งแวดล้อม และการขออนุมัติต่างๆ ซึ่งหากไม่ปรับแผนก็จะทำให้การรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นมาไม่ทัน
“ดังนั้น จึงมีการปรับแผนไปก่อสร้างเทอร์มินอลทางด้านทิศเหนือ ซึ่งมีความเข้าใจผิดว่าเราไปนำแผนก่อสร้างเทอร์มินอลแห่งที่ 2 มาก่อสร้างทางทิศเหนือ ความจริงไม่ใช่ แผนการก่อสร้างที่ 2 กับ 3 คือ East และ West ยังมีเหมือนเดิม แต่สาเหตุที่ทำเพราะหากดำเนินการ East และ West ที่ติดกับอาคารผู้โดยสารถ้ามีการก่อสร้างจำเป็นจะต้องมีการปิดพื้นที่บางส่วนของ Main Terminal ซึ่งจะทำให้ความสามารถรองรับผู้โดยสารลดลงไปอีก”
นายศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า ส่วนข้อคำถามที่ว่านายกรัฐมนตรี ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาทำอะไรตรงนี้หรือเปล่า ท่านเข้ามาดูในเรื่องของแผนว่าสิ่งที่นำเรียนในเบื้องต้น ความสามารถรองรับผู้โดยสารมันล้น ท่านจึงเข้ามาเปลี่ยนแปลง และมีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ทอท.ได้รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายสำนักนโยบายและแผนของกระทรวงคมนาคม สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมสายการบิน สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจการบิน คณะกรรมการที่ปรึกษาท่าอากาศยาน หรือ ATC ซึ่งดำเนินการรับฟังทั้งหมด และกำลังเสนอกระทรวงคมนาคม แล้วส่งให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นายศักดิ์สยาม ระบุว่า ส่วนข้อสงสัยว่าการใช้งบประมาณมากกว่าการก่อสร้างทางด้าน East และ West นั้น หากดำเนินการก่อสร้างแค่ East และ West จะรองรับผู้โดยสารได้เพียง 30 ล้านคน ซึ่งไม่พอ เพราะเป้าหมายต้องรองรับผู้โดยสารต่างประเทศปีละ 150 ล้านคน ซึ่งใช้งบประมาณ 13,600 ล้านบาท แต่สิ่งที่ได้แค่อาคารผู้โดยสาร ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยเพียง 132,000 ตรม. รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน แต่โครงการที่กำลังดำเนินการ ที่เรียกว่า North Extension ใช้งบประมาณ 42,000 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่ 169,700 ตรม. รองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน แต่จะอาคารเทียบเครื่องบิน 125,000 ตรม. อาคารสำนักงาน 53,300 ตรม. หลุมจอดเครื่องบิน 14 หลุม มีอาคารจอดรถ 3,000 คัน ถนนหน้าอาคารผู้โดยสาร และ ถนนหน้าอาคารผู้โดยสาร ขณะที่ East และ West นั้น ไม่มีสิ่งเหล่านี้
รมว.คมนาคม ระบุว่า สำหรับวงเงินลงทุนทำไมไม่ใช่ 4.2 หมื่นล้านบาท ต้องเรียนว่า ถ้าผ่านคณะรัฐมนตรี จะใช้เพียง 41,261 .364 ล้านบาท แต่ตัวเลขที่นำมาอภิปราย 45,520.476 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ใช้คำนวณผลตอบแทนการลงทุน ไม่ใช่ตัวเลขที่คุยใน ครม.
ส่วนที่กำหนดพื้นที่แปลงที่ 37 เป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นมาตั้งแต่ Master Plan แผนพัฒนาสุวรรณภูมิ มีตั้งแต่ฉบับที่ 1 ปี 2536 ก็กำหนดไว้อย่างนี้ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงอะไรเลย และหากไปดูสนามบินอื่นๆ เพื่อนบ้านเราอย่างสิงคโปร สนามบินซางฮี เขาก็ทำ Mall อยู่ในสนามบินก็ถือเป็นเรื่องปกติ
รมว.คมนาคม กล่าวว่า สำหรับผลกระทบต่อการจราจร การก่อสร้างมอเตอร์เวย์ และ รถไฟความเร็วสูง นั้น เรื่องของมอเตอร์เวย์ ได้มีการศึกษามาตั้งแต่ 2551 แล้ว ในปี 2557 มีการตั้งงบประมาณเพื่อ มุ่งเน้นระบายการจราจรด้านตะวันออก ซึ่งการก่อสร้างทั้ง North East West ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้เลย สำหรับเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน นั้น เดิมจะเชื่อมแค่ 2 สนามบินเท่านั้น คือ ดอนเมือง และ สุวรรณภูมิ แต่นายกรัฐมนตรี ดำริให้มีโครงการ EEC จึงจำเป็นต้องขยายไปสู่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และมีการลงนามในสัญญามีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ไปแล้ว จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องว่าจะไปเพิ่มงบประมาณใดๆ ทั้งสิ้น
ในส่วนเรื่องการพัฒนา ระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า นั้น ครม.อนุมัติตั้งแต่ปี 2553 แต่เป็นแผนที่เรียกว่า Master Plan ที่เรียกว่า M-MAP นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในรัฐบาลที่แล้วก็เร่งรัด จะทำให้เราได้ 10 เส้นทาง 464 กิโลเมตร และ ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ถ้าเราไม่เร่งทำแบบนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีปัญหาเรื่องจราจร มีปัญหาเรื่อง PM 2.5 เราจะมีปัญหาเรื่องพลังงาน ทุกเรื่องเวลาแก้ปัญหา ย่อมต้องมีผลกระทบ แต่เราต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา ภายในปี 2569 จะมีการเปิดให้บริการ ขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว 4 เส้นทาง อยู่ระหว่างก่อสร้าง 7 สาย และอยู่ระหว่างหาผู้รับจ้าง 6 สาย โดยนายกรัฐมนตรีให้นโยบาย ได้ให้การดำเนินการลงทุนเป็นการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในลักษณะ PPP ให้ว่าประชาชน จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่คิดแบบเดิมที่ให้เอกชนได้ผลประโยชน์มาก ถ้าดำเนินการเรียบร้อยประชาชนไม่ต้องใช่รถส่วนตัว มาใช้ระบบขนส่งมวลชนได้
อีกส่วนคือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขสมก. ขณะนี้ได้จัดทำแผนปฏิรูปเสร็จสิ้นแล้ว หลักง่ายคือ ต่อไปนี้จะไม่มีการวิ่งทับซ้อน เส้นทางรถที่บริการ ขสมก. จะวิ่งเป็น 3 ประเภท คือ Liner และ Feeder คือจากเหนือลงใต้ ตะวันตกไปตะวันออก แล้วจะเชื่อมเป็นวงกลม 3 รอบ ลดจำนวนรถเมล์ลงจาก 6,000 เหลือ 3,000 คัน สิ่งที่สำคัญคือ รถที่จะมาดำเนินการต้องใช้พลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นไฟฟ้า หรือ NGV โดยที่จะไม่เป็นภาระของงบประมาณเพราะจะใช้วิธีการ “จ้างเช่าเหมาตามระยะทาง” ซึ่งเอกชนที่เข้ามาจะต้องมาเสนอราคาว่าจะคิดต่ำสุดเท่าไหร่ โดยจะเป็นรถเย็นติดแอร์ทั้งหมด ไม่มีรถร้อนแล้วครับ จะมีสตางค์ไม่มีสตางค์ก็ขึ้นได้หมด ประชาชนที่เป็นผู้ด้อย จะมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนประชาชนทั่วไปมีค่าบริการไม่เกิน 30 บาทต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นกี่สาย กี่ต่อ ถ้าเป็นตั๋วเดือน ไม่เกิน 25 บาท ทั้งหมดจะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 และเสร็จทั้งโครงการในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ซึ่งจะทำให้แก้ไขปัญหาเรื่องจราจร มีปัญหาเรื่อง PM 2.5 เราจะมีปัญหาเรื่องพลังงาน อะไรต่างๆ บรรเทา เบาบาง ลดลงไปได้