ราษฎรหนองคาย สำนึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวงร.9 พระราชทานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยทอน สร้างรายได้ปลูกลำไย 16 ไร่ ขายได้ปีละ 3 แสน พร้อมขอรักษาให้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำตลอดไป
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยนายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยไฮอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่งในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยทอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดหนองคาย เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุ 4.10 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2561 โดยกรมชลประทานมีแผนการก่อสร้างระบบส่งน้ำโดยท่อส่งน้ำสายใหญ่ สายซอย และสายแยกซอย ความยาวรวมประมาณ 14.3 กิโลเมตร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับราษฎร ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทาน จำนวน 5,500 ไร่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค บริโภคของราษฎร และสัตว์เลี้ยง ในฤดูแล้งอีกด้วย โอกาสนี้องคมนตรี ได้พบปะราษฎรที่ได้ประโยชน์จากโครงการฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็นต่อแนวทางการพัฒนาโครงการฯ และให้กำลังใจแก่บุคลากรและราษฎรในโครงการฯ อีกด้วย
นางสมอน กาสังข์ เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ไม้ผล บ้านบางกอกน้อย ตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย หนึ่งในราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำหวยทอน(ตอนบน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยว่า ประชาชนในพื้นที่เมื่อก่อนจะปลูกมันและเลี้ยงสัตว์ อยู่กันด้วยความลำบากเพราะขาดแคลนน้ำ จวบจนปี 2537 มีโครงการเกิดขึ้น ทำให้พื้นที่มีน้ำ จึงปลูกไม้ให้ผลแทนมันสำปะหลัง คือ ลำไย แรกๆ ปลูกไม่มากประมาณ 120 ต้น แต่ต่อมาให้ผลผลิตดีมีชาวบ้านรายอื่นๆ ปลูกด้วย ปัจจุบันในพื้นที่จึงมีลำไยมากขึ้น อย่างตนเองเพิ่มพื้นที่ปลูกได้มากถึง 16 ไร่ เพราะมีน้ำเพียงพอ นอกจากนี้ยังปลูกเงาะ ส้มโอ มะม่วง และพืชผักแซมในสวนลำไยอีกด้วย ในปี 2563 น่าจะได้รับผลผลิตที่ดีเพราะน้ำเพียงพอ ลำไยออกดอกสมบูรณ์และติดลูกมาก และปี 2562 ที่ผ่านมาน้ำน้อยกว่าปี 2563 ยังได้ผลผลิตถึง 11 ตัน ขายได้ 3 แสนกว่าบาท หักค่าใช้จ่ายที่ประมาณ 9 หมื่นกว่าบาท จึงมีกำไรไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท ผลผลิตส่งจำหน่าย 3 ตลาด คือ มีพ่อค้ามารับที่สวน ส่วนหนึ่งขายบริเวณริมแพข้ามฝากแม่น้ำโขงที่จะไปประเทศลาว และอีกส่วนขายในตลาดหนองคาย
“รู้สึกดีใจมากที่ทางองคมนตรีและคณะได้เดินทางมาในพื้นที่ นานๆ จะมีผู้ใหญ่เดินทางมาถึงพื้นที่เยี่ยมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ทุกคนปลื้มปิติและมีความสุข และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่ทรงพระราชทานโครงการนี้ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำใช้อย่างเต็มที่และตลอดทั้งปี ได้รับผลผลิตที่ดีมีคุณภาพและขายได้ราคา ทุกคนมีความสุข ต่อจากนี้จะช่วยกันดูแลรักษาโครงการฯ ให้มีความสมบูรณ์ทุกอ่างฯ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากๆ โดยช่วยกันทำความสะอาดบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำ รักษาสภาพแวล้อมให้สมบูรณ์เพราะเป็นอู่น้ำของทุกคน” นางสมอน กล่าว
สำหรับโครงการพัฒนาลุมน้ำห้วยทอน เกิดขึ้นจากการเสด็จมาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดหินหมากเป้ง ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2525 โดยกำนันตำบลพระพุทธบาทได้ทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน) ที่บริเวณห้วยทอนเหนือ บ้านบางกอกน้อย
ต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เห็นสมควรพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามคำขอของราษฎร และถ้าเป็นไปได้ควรก่อสร้างที่เคยดำริไว้เดิม คือ บริเวณต้นน้ำห้วยทอน นอกจากนั้นควรพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลำห้วยสาขาต่าง ๆ ต่อไป และเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2535 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพพื้นที่บริเวณลำห้วยทอน (ตอนบน) ในเขตอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย และมีพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยทอน ความว่า ควรพิจารณาวางโครงการ และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ และเขื่อนทดน้ำ ที่ลำห้วยทอน และห้วยสาขาของห้วยทอน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน เขื่อนทดน้ำห้วยทอนอ่างเก็บน้ำห้วยหินแก้ว อ่างเก็บน้ำห้วยไฮ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย อ่างเก็บน้ำห้วยม้า อ่างเก็บน้ำห้วยตะคองใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกให้กับราษฎร จำนวนหลายหมู่บ้านในเขตตำบลต่างๆ ของอำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย อำเภอบ้านผือ อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ตามความเหมาะสม และควรพิจารณาดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำห้วยทอน บ้านทอนเหนือ ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย เพื่อส่งน้ำเพิ่มเติมแก่สระเก็บน้ำประจำไร่นาของราษฎรตามแนวทฤษฎีใหม่ จะทำให้สามารถขยายพื้นที่ส่งน้ำใช้ทำการเกษตรและการอุปโภคได้มากขึ้น เป็นการช่วยให้ราษฎรได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
สำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน ได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำห้วยทอนอย่างเป็นระบบในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำห้วยทอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตจังหวัดหนองคาย และจังหวัดอุดรธานี และได้มีการขยายผลการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน ยังผลให้ราษฎรในพื้นที่มีน้ำเพียงพอในการใช้เพื่ออุปโภคบริโภคและทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี