รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แจงเรื่องการจัดสรรคลื่นถี่ในคลื่น 700 ระบุการใช้มาตรา 44 เป็นการดำเนินการเพื่อช่วยผ่าทางตันของประเทศ ประมูล 5 จี ด้วยการแก้ไขปัญหาทั้งหมดจึงทำให้เม็ดเงิน 1 แสนล้านบาทสามารถเข้ารัฐได้
วันนี้ (25 ก.พ.) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กรณีกล่าวหาเรื่องการจัดสรรคลื่นถี่ในคลื่น 700 และการใช้มาตรา 44 เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนว่า การบริหารจัดการคลื่นความถี่จะเป็นหน้าที่ของ กสทช. ทีวีดิจิทัลมีปัญหาเกิดขึ้นจริง ทุกคนในประเทศไทยรู้ดี การประมูลทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นในปี 2556 ไม่แน่ใจว่าเป็นรัฐบาลชุดไหน เกิดการแข่งขันจนราคาสูงมาก ผู้ได้รับประมูลก็นำไปบริหาร ต่อมาปี 2561 ทีวีดิจิทัลหลายแห่งมีปัญหาและไม่สามารถพาตัวเองผ่านไปได้ เพราะราคาสูงเกินจริง เมื่อเกิดปัญหาเกิดย่อมเป็นวิกฤตของประเทศ ไม่ได้เกี่ยวกับการออกมาตรา 44 ประชาชนเดือดร้อน ผู้ประกอบการเดือดร้อน และที่สำคัญภาคของการสื่อสารของประเทศไทยมีปัญหาในขณะนั้นเกิดการรวมของสมาคมทีวีดิจิทัลยื่นเรื่องมาที่ กสทช.เพื่อขอความช่วยเหลือ
นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า การใช้มาตรา 44 ของ คสช.ในอดีตเป็นการดำเนินการเพื่อช่วยผ่าทางตันของประเทศ เพราะหากไม่มีการใช้มาตรา 44 เพื่อให้ทีวีดิจิทัลคืนคลื่นความถี่จะทำให้หนี้สินของทีวีดิจิทัลที่มีอยู่ประมาณ 17,000 ล้านบาท ไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น การเอาคลื่นความถี่คืนมาและนำไปประมูลใหม่และได้เงินกลับมาประมาณ 50,000 ล้านบาท เมื่อหักกันแล้วรัฐยังได้เงินกลับมาประมาณ 30,000 ล้านบาท ทุกอย่างเป็นการแก้ไขปัญหาให้ประเทศ วันนี้เรามีทีวีดิจิทัลที่เดินต่อไปได้และมีการประมูล 5 จี ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาในวันนั้นใครจะมาประมูล 5 จีในวันนี้ ด้วยการแก้ไขปัญหาทั้งหมดจึงทำให้เม็ดเงิน 1 แสนล้านบาท สามารถเข้ารัฐได้เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมาจากการประมูล 5 จี ซึ่งจะต้องมีการต่อยอดต่อไป
“การใช้มาตรา 44 เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง เพราะวันนี้ทุกคนโดยเฉพาะประชาชนได้ประโยชน์หมด มิเช่นนั้นไม่สามารถเดินหน้าไป 5 จีได้ครับ เราเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ประมูล 5 จี อย่างเป็นทางการและถูกต้อง เราทำมาโดยลำดับ ดังนั้น มาตรา 44 ในเรื่องนี้ไม่ใช่การสร้างปัญหา” นายพุทธิพงษ์กล่าว