ส.ส.เชียงใหม่ พท. อภิปรายซักฟอก "ประยุทธ์" จี้เปลี่ยนตัวนายกฯไทย หลังบริหารพลาด โรงงานทยอยปิดตัว หว่านงบแผ่นดินแต่ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำประเทศติดกับดักสภาพคล่อง เงินล้นตลาดแต่ไม่มีที่ใช้ เพราะไม่มั่นใจศก.
วันนี้ (24ก.พ.) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายชี้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขาดความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจ โดยยกตัวอย่างข่าวในช่วงรอบปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ มีหลายครอบครัวจบปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจสามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ปัญหาเกิดจากความผิดพลาดในการบริหารงานของนายกรัฐมนตรี โดยยกตัวเลขทางเศรษฐกิจถือว่าประเทศไทยเข้าขั้นป่วยหนักเป็นมะเร็ง อยู่ในช่วงขาลงมาตั้งแต่รัฐประหาร มีตัวเลขความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี ร้อยละ 2 ถึง 4 และคาดว่าจะต่ำลงอันเนื่องจากไวรัสโคโรน่า ไม่มีทางได้ถึงร้อยละ 4 หรือ 5 แม้จะพยายามบอกว่าเศรษฐกิจดี แต่คนไม่มีจะกิน
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เมื่อแยกตัวเลขจีดีพี ดูที่การบริโภคของประชาชน ไม่สามารถขยายตัวได้เพราะขาดความเชื่อมั่น โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่าเดือนมกราคม 2563 ดัชนีผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องทุกรายการ และต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ต่ำสุดในรอบ 69 เดือนตั้งแต่รัฐประหารมา ขณะที่แนวนโยบายการเอื้อประโยชน์รายใหญ่ เพื่อหวังให้มาดูแลเอกชนขนาดกลางและขนาดเล็ก สุดท้ายรายใหญ่ก็ขนการลงทุนไปต่างประเทศหมด เพราะไม่เชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นมาได้ แม้ประเทศไทยมีดุลการค้าการส่งออกมากกว่าการนำเข้าต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมาการส่งออกลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะค่าเงินบาทแข็งขึ้นมามาก
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า แม้ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขการส่งออกปี 2562 แต่หนีไม่พ้นว่าตัวเลขติดลบแน่นอน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐงบประมาณ 3.2 ล้านบาทที่เพิ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎร ก็สะดุดขาตัวเองจะปัญหากดบัตรแทนกัน ซึ่งเป็นปัญหาของรัฐบาลล้วนๆ แต่ฝ่ายค้านก็ไม่ได้ขัดขวาง กลั้นใจยอมให้ผ่าน เพื่องบประมาณในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การจัดสรรงบประมาณก็ไม่มีประสิทธิภาพ หนักไปที่งบประจำ ส่วนงบลงทุนมีแค่ร้อยละ 25 โดยกว่าร้อยละ 20 ซื้ออาวุธจำนวนมาก ไม่มีการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สัญญาณอันตรายคืออัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน แรงในการใช้จ่ายลงทุนน้อย คนรวยเก็บออม คนจนไม่มีเงินใช้จ่าย การใช้จ่ายหยุดชะงัก เกิดภาวะเงินฝืด โรงงานลดกำลังการผลิต ลดราคาสินค้าเพื่อแข่งขันได้ อัตราการจ้างงานลดลง โรงงานเริ่มปิดตัว คนตกงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจัยหลักอธิบายง่ายๆ คือปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีไม่เพียงพอ โดยเดือนมกราคมปีนี้มี 222 โรงงานแจ้งขอปิดกิจการ ขณะที่ปี 2562 ตลอดทั้งปีมี 1,667 โรงงาน เสียมูลค่าการลงทุน 7 หมื่นกว่าล้านบาท
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การใช้นโยบายการคลัง การใช้นโยบายการเงิน การกำกับอัตราแลกเปลี่ยน เป็นปัจจัยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ควรทำกลับไม่ได้ทำ สิ่งแรกคือกลไกนโยบายการคลัง ด้วยการใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่สิ่งที่ทำแทบไม่ช่วยทำให้เกิดการกระตุ้นหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งงบประมาณโดยเฉลี่ยหลายปีที่ผ่านมากว่า 3 ล้านล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะปีล่าสุดปี 3.2 ล้านล้านบาท แต่มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยมาก และไม่ยอมลดขนาดของภาครัฐเพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุน พยายามสร้างรัฐราชการ รัฐบาลใหญ่โต ประชาชนลีบเล็ก ซึ่งหากกำหนดสัดส่วนภาครัฐไม่ให้ขยายใหญ่โต อาจทำให้เห็นงบลงทุนได้ถึง 1 ล้านบาท และยังกู้เพื่อการขาดดุลไว้เกือบสูงสุดกว่า 3 ล้านบาท
นายจุลพันธ์ ยังยกตัวอย่างความเหลื่อมล้ำกรณีออกร่าง พ.ร.บ.การจัดเก็บภาษีมรดก คนรวยหลบเลี่ยงได้ และไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้จริง สุดท้ายกลายเป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติกับคนชั้นกลางและคนจน และที่ใหญ่ที่สุดคือการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้คนจนต้องแบกรับภาษีมากขึ้น 10 เท่า ไม่เป็นธรรม และเตรียมออกกฎหมายขูดรีดภาษีกับผู้ทำธุรกิจออนไลน์ ตลอดจนการลดหย่อนภาษีให้คนใช้มาตรการชิมช้อปใช้ ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้นไปอีก ขณะที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แม้จะช่วยเหลือประชาชนในระยะสั้น แต่ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดความหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ไม่มีแรงจูงใจให้เกิดการค้าขายใหม่ๆมากขึ้น เพราะใช้ได้แต่ซื้อของที่จำเป็นเท่านั้น และคนที่ได้รับประโยชน์สูงสุด สุดท้ายก็คือเจ้าสัวใหญ่เพียงไม่กี่ราย และที่เหี้ยมโหดที่สุดคือเรื่องค่าเงิน แม้ขณะนี้ค่าเงินบาทคลายตัวลงจากวิกฤตโคโรน่าในต่างประเทศ แต่ปีที่แล้วต้นปีอยู่ที่ 22 บาทต่อดอลลาร์ และท้ายปีอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ ผลกระทบการส่งออก ทุกคนเสมอภาคหมดเพราะเจ๊งทุกคน อย่างกรณีโรงงาน Chevrolet ไม่มีโรงงานใหม่ๆ มาลงทุนเพิ่ม แล้วยังมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านหลายโรงงาน
“ สิ่งที่เกิดกับประเทศไทยคือกับดักสภาพคล่อง เงินล้นตลาดแต่ไม่มีที่ใช้ ไม่กล้ากู้เงินลงทุน เพราะไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ ขณะที่คนจนเข้าไปกู้ธนาคารก็ไม่กล้าให้กู้ เงินก็เลยคาอยู่ในระบบธนาคารเต็มไปหมด ไม่สามารถออกมาใช้ได้ทางออกเดียวคือต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี”