“กมธ.ดีอีเอส สภาฯ” จัดเวิร์คชอป รับ 5G “กัลยา” เชื่อยกระดับ “คุณภาพ-การแข่งขันธุรกิจ-เศรษฐกิจ-สังคม” เตรียมงาน กมธ.ติดตาม-เสนอแนะ ด้าน “นิคม” วอนผู้ชนะประมูลอย่าผลักภาระ ปชช. แนะรัฐดูแลภาคแรงงาน-การศึกษา รับการเปลี่ยนแปลงที่คนอาจตกงานเพิ่ม ขณะที่ “กสทช.” หนุนคนไทยพัฒนาแพลตฟอร์มเอง - ต่อยอด 5G เพื่อประโยชน์
วันนี้ (17 ก.พ.) ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร ที่มี น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ.ฯ ร่วมกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมด้วยภาคเอกชน นักธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จัดงานเสวสนาเพื่อรับฟังข้อมูล รายละเอียดจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเตรียมความพร้อมสังคมเข้าสู่สังคมดิจิทัล ภายใต้หัวข้อ Work Shop on The Future of Thailand
โดย น.ส.กัลยา เปิดเผยถึงการจัดงานดังกล่าวว่า เพื่อเตรียมสังคมให้มีความพร้อมและตื่นตัวต่อการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่จะเปลี่ยนแปลงไป หลังจากที่กสทช. ได้เริ่มต้นและเข้าสู่การประมูลคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 5G เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การยกระดับศักยภาพการแข่งขัน และการพัฒนา ผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และดิจิทัล ทั้งทางด้านอุตสาหกรรม, เศรษฐกิจ, ธุรกิจ, สังคม และการเมือง โดยเชื่อว่าจุดเริ่มต้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันดังกล่าว จะเห็นผลภายในระยะเวลา 5 - 10 ปี ซึ่งจะเริ่มต้นใช้จากภาคอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม และในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
“เชื่อว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบ 5G ในประเทศไทย จะส่งเสริมการพัฒนาในระบบอุตสาหกรรม ทั้งทางด้านการผลิต ที่ใช้ เอไอ และเออาร์ เข้ามายกระดับการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งกมธ.ดีอีเอส มีหน้าที่สำคัญต่อการติดตามการดำเนินการต่อการใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นภายในประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์ประชาชนและประเทศมากที่สุด โดยเริ่มจาก” น.ส.กัลยา กล่าว
น.ส.กัลยา กล่าวสรุปตอนท้ายด้วยว่า สำหรับบทบาทของ กมธ. ต่อการมีส่วนสนับสนุนการขับเคลื่อนความสำเร็จนั้น สามารถมีผลการศึกษา และเสนอแนะแนวทางไปสู่รัฐบาล เพื่อให้พิจารณาต่อการคลายล็อค หรือเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการยกระดับขีดความสามารถดังกล่าว ขณะที่ในบทบาทของภาคประชาชน กมธ. จะทำอย่างเต็มที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสาร เพื่อเตรียมพร้อม และเปลี่ยนแปลงต่อการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้
ทางด้าน นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย ฐานะรองประธาน กมธ. ดีอีเอส สภาฯ กล่าวถึงผลการประมูล 5G ของ กสทช.ที่พบว่ามีกลุ่มทุนใหญ่ด้านการสื่อสารเป็นผู้ที่ครอบครองสัญญา ถึง 3 คลื่น 23 ไลเซ่นส์ และลดหลั่นสัญญาตาม แต่ยังอยู่ในกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ ว่า การเริ่มต้นประมูล 5G ถือเป็นสิ่งไทยแสดงให้เห็นความเป็นผู้นำด้าน 5G ในอาเซียน แต่การเร่งการประมูลและการพัฒนาที่เกิดขึ้นนั้น ตนขอเรียกร้องไปยังกลุ่มทุนให้บริการคลื่นความถี่ คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน ทั้งการแบกรับค่าบริการ และเครื่องมือสื่อสารที่ไม่สามารถผลิตรองรับการใช้คลื่นความถี่ที่ทันสมัยได้ทัน นอกจากนั้นแล้วในภาคอุตสาหกรรม ที่เชื่อว่าจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ยกระดับนวัตกรรมและการพัฒนาธุรกิจ ตนกังวลว่าอาจทำให้ภาคแรงงานได้รับผลกระทบ คือ ตกงานเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับภาคการศึกษา และธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทัน ดังนั้นบทบาทของ กมธ.ฯ จะติดตามประเด็นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงเป็นอีกช่องทางที่สื่อสารข้อมูลที่ทันสถานการณ์ไปยังประชาชนให้เกิดความารับรู้และปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ขณะที่บรรยากาศภายในงานเวิร์คชอปที่เกิดขึ้น มีกมธ.ดีอีเอส พร้อมด้วยอนุ กมธ.ภายใน กมธ. , ส.ส. และผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงประชาชนทั่วไป เข้าร่วมรับฟังรายละเอียดและข้อมูล รวมถึงตั้งข้อซักถามกับ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่บรรยายและให้ความรู้ในงานเสวนาดังกล่าว อาทิ นายเจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด และนายนนทวัตต์ สาระมาน นายกสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ (CIPAT) เป็นต้น
โดยสาระสำคัญช่วงให้ข้อมูล คือ หลังจากที่กสทช. ประมูลคลื่น 5G แล้วเสร็จ ต้องใช้เวลาเตรียมงานส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ก่อนการใช้งานได้จริง โดยคาดว่าประเทศไทยจะใช้เทคโนโลยีจากคลื่น 5G ประมาณ เดือน ม.ค.2564 ขณะที่การใช้งาน แม้ประเทศไทยจะยกระดับคลื่นความถี่ แต่กำไร หรือรายได้ ยังตกอยู่กับเจ้าของแพลตฟอร์มที่ให้บริการกับประชาชน เช่น กูเกิ้ล, ยูทูป, ร้านค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่, สื่อสังคมออนไลน์, อี-เมล์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่ผูกขาดแบบข้ามชาติ พร้อมกับกล่าวสนับสนุนให้ประเทศไทยพัฒนาแพลตฟอร์มที่เป็นของตนเองเพื่อป้องกันปัญหาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มข้ามชาติดำเนินนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่กระาทบต่อผู้ใช้บริการ เช่น เก็บค่าบริการ, ระงับการเข้าถึง เป็นต้น
ขณะที่ พล.อ.ท.ธนพันธ์ุ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวในหัวข้อ The Future of Thailand 4.0 ตอนหนึ่งว่า เทคโนโลยีสื่อสารที่เพิ่มสปีด หรือการเข้าถึงการใช้งาน เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใช้บริการ แต่ต้องมีเครื่องมือ หรือ อุปกรณ์ที่รองรับระบบใหม่ซึ่งพัฒนาขึ้นจากเดิม เช่น จากเดิมมี 3G พัฒนาเป็น 4G ที่สามารถใช้การสื่อสาร มากกว่าส่งข้อความ
“กสทช. ประสบความสำเร็จ จากเทคโนโลยีที่ทันสมัย เชื่อมโยงการสื่อสารกับประชาชน แต่สิ่งที่อยากเห็นมากกว่านั้น คือ การเพิ่มมูลค่าคลื่นความถี่ที่ดีเยี่ยมมากขึ้น เช่น พัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อรองรับการใช้งานหรือให้บริการกับประชาชน ซึ่งผู้ประกอบการและประชาชน ต้องมองให้เห็นถึงประโยชน์จากการต่อยอดทางเทคโนโลยี ที่ผ่านมาภาครัฐต้องการส่งเสริมการพัฒนาและต่อยอด สำหรับเทรนด์ของ 5G ที่จะมาถึง เชื่อว่าอันดับแรกคือ ความรวดเร็ว ขีดความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่มากกว่า 3G หรือ 4G ที่เชื่อมอุปกรณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่เฉพาะโทรศัพท์มือถือ แต่คืออุปกรณ์ที่ใช้ในระบบอุตสาหกรรม, อุปกรณ์ภายในบ้านที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต” พล.อ.ท.ธนพันธ์ุ กล่าว.