ข่าวปนคน คนปนข่าว
**ชิง 5G เกินคาด ทะลุแสนล้าน! CAT-TOT ฉลุย! งานนึ้ถึงคราว “พุทธิพงษ์” จะถามกลับ... แล้วทำไมรัฐจะมีคลื่น 5G เองไม่ได้!
พลันที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700, 2600 MHz และ 26 GHz เพื่อนำมาให้บริการ 5G พอเริ่มก็เป็นไปด้วยความคึกคัก
ฟังว่า นอกจากปรากฏชื่อ “โอเปอเรเตอร์” เจ้าเดิม ทั้งบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ยังปราฏชื่อ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประมูลด้วย
ว่ากันว่า งานนี้เกินคาดหมายหลายประการ จบเร็วไม่ยืดเยื้อ ประเดิมคลื่น 700 MHz ก็แข่งขันกันสนุก จนทำให้ราคาพุ่งไม่เบา แม้ว่าการประมูลคลื่น 2600MHz ที่จะทำเป็น 5G จะดูเคาะกันไม่สนั่นเท่าใดนัก
สุดท้าย จบการประมูล คลื่น 700 MHz ทำรายได้เข้ารัฐสูงสุด 51,459 ล้านบาท ตามด้วย 2600 MHz 37,164 ล้านบาท และ 26 GHz 11,570 ล้านบาท รวมเป็นเงินค่าใบอนุญาตทั้งหมด 100,193 ล้านบาท
คนที่หน้าบานเป็นจานพิซซ่า คงไม่พ้น "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาฯ กสทช. เพราะรัฐกวาดรายได้ทะลุ"แสนล้าน" แบบนี้ แต่ก็ไม่วายที่จะต้องมีคำถาม ถามกันว่า เหตุใด CAT และ TOT ต้องมายื้อแย่งแข่งกับเอกชน 3 รายเดิมด้วย
ก่อนลงสนามประมูล ก็ปล่อยข่าว "ตีกัน"ว่า ทั้งคู่เป็นภาครัฐ จึงไม่ควรทำธุรกิจแข่งกับเอกชน ควรที่จะไปพัฒนาโครงข่ายพื้นฐาน ท่อร้อยสาย ซับมารีน เคเบิล และการให้บริการดาวเทียมมากกว่า
ตามมาด้วยการปรามาสว่า การเปิดให้ กสท โทรคมนาคม และทีโอที เข้าประมูลด้วย จะสามารถแข่งขันกับเอกชนได้หรือไม่ เพราะกระบวนการทำงานของรัฐวิสาหกิจ ค่อนข้างมีหลายขั้นตอนไม่ได้รวดเร็วเหมือนเอกชน
เรื่องนี้ก็เลยมีเบื้องหลัง แว่วว่า ข้างหลังคนสั่ง CAT และ TOT ลุยเต็มสูบไม่ใช่ใครที่ไหน เป็น "บี" พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นั่นเอง
ทำไมต้องเป็น CAT และ TOTและจะมาแข่งเอกชนจริงหรือ ? และทำไม พุฒิพงษ์ ต้องสวมบท "ป๋าดัน"
งานนี้ต้องมองถึงโลกวันนี้และวันหน้า ใครหยุดนิ่งเท่ากับรอวันถูกทำลาย หรือ Disrupted เทคโนโลยี 5G จะเข้ามามีบทบาทสูงมาก เชื่อกันว่าจะเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ และมีประโยชน์มากมายในหลายสถาน ซึ่งแน่นอนว่า หากคลื่น 5G อยู่ในมือเอกชนทั้งหมด แล้วการพัฒนาประเทศของภาครัฐ จะทำกันอย่างไร...
การขับเคลื่อน"ไทยแลนด์ 4.0" ยกตัวอย่าง ภาคการสาธารณสุข ภาคการเกษตร ภาคการระบบการขนส่ง เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญกับประชาชน ที่จะเข้ามามีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ต้องมีต้นทุนสูงแน่ ถ้ารัฐไม่ทำ ก็ไม่ได้ หรือหากให้เอกชน เรื่องค่าใช้จ่ายในเชิงธุรกิจ คงไม่มีใครรายไหนจะใจป้ำ เปิดให้สาธารณะใช้ฟรี ประชาชนผู้มีรายได้น้อยคงไม่มีโอกาสได้รับบริการ หรือได้ประโยชน์
และต้องไม่ลืมว่า เมื่อคลื่นความถี่ถูกนำมาประมูล รัฐเองก็ไม่มี ม.44 เหมือน สมัยคสช. ที่จะล็อกคลื่นไว้ใช้งาน 5G หนทางเดียวก็ต้องใช้ "2รัฐวิสาหกิจ" ลงสนามสู้ศึกการประมูลคลื่นแข่งกับ ทรู - เอไอเอส และ ดีแทค อย่างที่เห็นกัน
ในแง่นี้ ในฐานะ รมว.ดีอีเอส "พุทธิพงษ์" ต้องคิดอ่าน และ วาง CAT และ TOT ให้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือของรัฐ วางยุทธศาสตร์ 5G
การแข่งขันกับเอกชนคงไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะ การมาของ 5G สำหรับประเทศไทย "โอเปอเรเตอร์"ก็ยอมรับกลายๆ ว่า อาจจะไม่สามารถสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำ มีแต่ต้องช่วยกัน ทั้งภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม
ว่ากันว่า การเติบโตของ 5G นั้นจะต่างจาก 4G เป็นอย่างมาก เพราะ 5G มาจากการใช้งาน B2B และ B2B2C มากกว่าจากลูกค้า และผู้ให้บริการเครือข่าย
หลังประมูล ฟังว่า "พุทธิพงษ์" ปลื้มปริ่ม การเดินหน้าประมูลของ 2 รัฐวิสาหกิจ เพราะ นับเป็นปรากฏการณ์แรกที่รัฐวิสาหกิจเข้าร่วมประมูล
ส่วนจำนวนเงินที่ทั้ง 2 บริษัท โดยเฉพาะ CAT ที่ประมูลไป 34,000 ล้านบาทนั้น ไม่ได้เป็นเงินที่มากเกินไป เป็นไปตามแผนของ บอร์ด ที่ได้วางแผนธุรกิจไว้แล้วว่า จะลงทุนต่อไปอย่างไร
เบื้องต้น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องสนับสนุนงบประมาณอะไรเพิ่มเติม เพราะบริษัท ได้เตรียมแผนการลงทุนไว้รองรับแล้ว
ดังนั้น นี่จึงเป็นคำตอบของคำถาม และ มาถึงจุด และเวลาที่ "พุทธิพงษ์" จะย้อนถามกลับบ้าง
ทำไม ภาครัฐโดยรัฐวิสาหกิจอย่าง CAT และ TOT จะมีคลื่น 5G ของตัวเองไม่ได้ !
** เครือข่ายสีส้มระดม “บิ๊กเนม” เคลื่อนไหวกดดันไม่ให้ยุบอนาคตใหม่ อ้างเพื่อปกป้องอนาคตประเทศไทย... นี่ไม่ต่างอะไรจากกดดันศาลฯ ไม่ให้บังคับใช้กฎหมาย
ใกล้ถึงกำหนดวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาวินิจฉัย คดียุบพรรคอนาคตใหม่ (21ก.พ.) จากกรณี "ธนาธร จึงรุงเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปล่อยเงินกู้ให้พรรค จำนวน 191 ล้านบาท ก็เริ่มมีกระแสกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ในเชิงคัดค้านการยุบพรรคครั้งนี้
ที่ฮือฮามากก็ กรณี "เว็บไซต์ www.change.org" รณรงค์ให้มีการร่วมลงชื่อ คัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับ "เบอร์ใหญ" จากหลากหลายวงการ มาลงชื่อร่วมปกป้อง เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม , ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์, นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ , เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์, โคทม อารียา อดีต กกต., บรรยง พงษ์พานิช ผู้บริหาร , ปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจ , "ครูยุ่น" มนตรี สินทวีชัย ผู้ก่อตั้งมูลนิธิคุ้มครอง เด็ก, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียน สื่อมวลชน และนักสิ่งแวดล้อม , ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ, ทิชา ณ นคร นักสิทธิเด็ก เยาวชน และสตรี , บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย, "ต้อม" ยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับภาพยนตร์ , "มดดำ" คชาภา ตันเจริญ พิธีกร เป็นต้น...
สำหรับ แคมเปญรณรงค์ต่อต้านการยุบพรรคอนาคตใหม่ มีใจความโดยสรุปว่า ... การลงชื่อครั้งนี้ เป้าหมายคือ การปกป้องวันนี้และอนาคตของประเทศไทย การเมืองที่ดีควรเป็นระบบที่เปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามาต่อสู้แข่งขันกันได้อย่าง เสรี เป็นธรรม โดยมีประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ส่วนการมุ่งกำจัดกลุ่มการเมืองใดๆ ให้สิ้นซากนั้น มีแต่จะทำให้สังคมตึงเครียดรอวันระเบิด ช่วยกันหยุด การทำลายล้างทางการเมืองครั้งใหม่ที่จะไม่เหลืออะไรนอกจากความพัง ... การร่วมกันลงชื่อครั้งนี้ เพื่อพาการเมืองไทยไปข้างหน้า หยุดความพัง ยับยั้งความขัดแย้ง
สรุปความชัดๆ คือ เชิญชวนให้มาร่วมกันปกป้องพรรคอนาคตใหม่ เพื่ออนาคตประเทศไทย... ถ้าไม่มีพรรคอนาคตใหม่ แล้วประเทศชาติจะพัง !! ซึ่งเป็น "ตรรกะ" ที่ไม่น่าเชื่อว่าคนที่มีภูมิความรู้ มีชื่อเสียง มีวุฒิภาวะเป็นที่ยอมรับของสังคม ที่มีชื่อยกมาให้ดูข้างต้นจะเห็นคล้อยตาม... ก็ประเทศไทยอยู่กันมาหลายร้อยปี ประชาธิปไตยในไทยมีมากว่า 80 ปี แล้วพรรคอนาคตใหม่ เพิ่งเกิดมาได้ 2 ปี ถ้าถูกยุบไปเพราะทำผิดรัฐธรรมนูญ จะทำให้ถึงกับชาติพังเลยเชียวหรือ ?
เอาล่ะ !! พักเรื่องการลงชื่อกดดันศาลฯ ไว่ก่อน ... มาดูว่า กกต.เอากฎหมายมาตราใดมา "จับความผิด" ของพรรคอนาคตใหม่ ก่อนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณา พิพากษา แล้วผลน่าจะออกมาอย่างไร
เริ่มจาก มาตรา 62 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ระบุถึง รายได้ของพรรคการเมือง ว่ามีอะไรบ้าง รายละเอียดมี 7 ข้อ ที่ถือว่าเป็น”รายได้” เช่น รับบริจาค จัดระดมทุน หรือขายสินค้า... แต่ไม่มีกำหนดว่าให้ "กู้เงิน" เป็นรายได้ ที่พรรคการเมืองจะนำมามาใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของพรรคได้ ...
ประเด็นนี้พรรคอนาคตใหม่ โต้ว่า เงินกู้ เป็นรายจ่าย ไม่ใช่รายได้ และกฎหมายไม่ได้ห้ามการกู้เงิน จึงทำได้ ไม่ผิดอะไร ...แต่ กกต.ไม่เห็นด้วยกับการตีความของพรรคอนาคตใหม่
ต่อมาเป็น มาตรา 66 ... บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ ... ตรงจุดนี้ กกต.มองว่า การที่ "ธนาธร" ให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงิน 191 ล้านบาท เป็นการทำ "นิติกรรมอำพราง" เพื่อหลบเลี่ยง มาตรา 66 นี้หรือไม่ เพราะในเมื่อไม่สามารถบริจาคเกิน 10 ล้านบาท จึงเลี่ยงไปเป็นให้กู้แทน...
ต่อมาเป็นมาตรา 72 ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เช่น หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้ หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรานี้ "ธนาธร" โต้แย้งว่า... "คุณจะพิสูจน์อย่างไรว่าเงินของผมนั้น มีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย" ... "ธนาธร" พยายามจะทำให้เกิดความไขว้เขว โดยยืนยันว่า เงิน 191 ล้านบาท ที่เขาให้พรรคกู้นั้น เป็นเงินที่มีที่มาโดยถูกกฎหมาย เป็นเงินสุจริต ไม่ใช่ "เงินสีเทา" ที่เอามาให้กู้เพื่อ "ฟอกขาว"
แต่ที่ กกต.ตีความคือ... ในเมื่อกรรมการบริหารพรรครู้ว่า "เงินกู้" นี้เป็น "นิติกรรมอำพราง" คล้ายจะบริจาค แต่เอามาให้กู้ เพื่อหลบเลี่ยง มาตรา 66 ซึ่งกกต.เห็นว่า เงินก้อนนี้ จึงมีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แล้วยังรับไว้ จึงถือว่าผิด ... กกต.ไม่ได้ตีความว่า ไปรับเงิน "สีเทา" ที่ธนาธร ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แล้วเอามาให้กู้ ...
กกต.มองว่า พรรคอนาคตใหม่ มีพฤติกรรมที่เข้าความผิดตาม 3 มาตราข้างต้นที่ยกมา จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตัดสิน
คราวนี้ไปดูบทลงโทษ ก็จะไปเข้า มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ที่บอกว่า ถ้าพรรคการเมืองทำผิดตาม มาตรา 72 มีโทษถึงยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น !!
แนวทางที่ กกต.วินิจฉัย "ความผิด" ของพรรคอนาคตใหม่ อาจไปตรงใจกับความคิดของบรรดา "เบอร์ใหญ่" ที่กล่าวข้างต้น จึงต้องออกมากดดันศาลฯ ไม่ให้ยุบพรรค โดยยกเอาบริบททางสังคม การเมือง มาเป็นข้ออ้าง แต่มองข้ามความผิดของพรรคอนาคตใหม่ที่ ”ละเมิด” รัฐธรรมนูญ และเบี่ยงเบนไปว่าเป็นการจองล้างจองผลาญของผู้มีอำนาจ
วันที่ 21 ก.พ.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะตัดสินออกมาได้เพียง 2 ทางคือ "ไม่ยุบ" กับ "ยุบ" ถ้าไม่ยุบ พรรคอนาคตใหม่ ก็เดินต่อได้ ถ้า ยุบ พรรคอนาคตใหม่ ก็หายไปจากสารบบพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ส่วนจะมีโทษอาญา หรือไม่นั้น กกต. ต้องตั้งเรื่องขึ้นมาใหม่ เพื่อฟ้องต่อศาลในคดีอาญา แต่ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญจะรับพิจารณา เฉพาะเรื่องที่ว่าด้วย "ความชอบ" หรือ "ไม่ชอบ" ด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น