ป.ป.ช.แจงคดีชี้มูล เช่าคอมพ์ฉาว 3.4 พันล้าน มหาดไทย ฟัน 11 ขรก. ย้ำไร้ชื่อ "ปู่จิ้น" อดีตมท.1-อดีตปลัดมท."ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์" เหตุผู้ถูกกล่าวหา มีหน้าที่เพียงตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนการลงนามประกวดราคา/อนุมัติ พยานหลักฐานฟังไม่ได้ว่ากระทำผิด ยันสั่งฟัน 2 บิ๊กขรก. ระดับ "ผอ.คลัง กรมปค.-รองอธิบดีปค." ผู้เสนอบันทึกให้รมต.พิจารณา กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ทดสอบทางเทคนิคไม่เป็นตามเงื่อนไข TOR พ่วงฟัน 5 ราย ทีมประกวดราคา-ทีมด้านเทคนิค "บกพร่องในหน้าที่" ทดสอบไม่เป็นไปตามTOR ส่วนอีก 4 ราย เสนอเจ้ากระทรวงเอาผิด เหตุกระทำโดยไม่มีอำนาจ ตามTOR
วันนี้(14 ก.พ.) มีรายงานสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า กรณี คณะกรรมการป.ป.ช. ไต่สวนกรณีกล่าวหานักการเมืองชื่อดังรายหนึ่ง พร้อมพวกที่เป็นอดีตข้าราชการระดับสูง และข้าราชการในกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการจัดทำโครงการเช่าระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้งานเกี่ยวกับบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่ วงเงิน 3,490 ล้านบาท ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัย เฉพาะข้าราชการที่เกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าวแล้ว โดยนักการเมืองระดับชาติชื่อดัง และอดีตข้าราชการระดับสูงที่ถูกกล่าวหาในกรณีนี้ มิได้ถูกชี้มูลความผิดแต่อย่างใด
ล่าสุด นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงว่า กรณีดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้ 1.กรณีกล่าวหา นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เมื่อครั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย นั้น ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้ดำเนินการการตรวจสอบความถูกต้องก่อนการลงนามเห็นชอบผลการประกวดราคาและลงนามอนุมัติแล้ว พยานหลักฐานจึงยังฟังไม่ได้ว่ากระทำผิดตามข้อกล่าวหา
2. กรณีกล่าวหานายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ ผู้อำนวยการกองคลัง กรมการปกครอง และนายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ รองอธิบดีกรมการปกครองนั้น เห็นว่านายธีรวัฒน์ ได้เสนอบันทึกฯ ให้นายกองเอกวิลาศ พิจารณาเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น นายกองเอกวิลาศได้ลงนามในบันทึกขออนุมัติเช่าระบบคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ประกอบตามโครงการฯ เพื่อเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รักษาราชการแทน อธิบดีกรมการปกครอง ทั้งที่ การทดสอบทางเทคนิคไม่เป็นตามเงื่อนไขตามขอบเขตของงาน (TOR) การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง จึงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
3. กรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประกวดราคา และคณะทำงานทางด้านเทคนิค เห็นว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานทางด้านเทคนิคซึ่งประกอบด้วย นายประวีณ แจ่มศักดิ์ นายทรงพล อารมณ์ชื่น นายสมเกียรติ อุดมเรณู นายธนาคม ฐานนันทน์ และนางสาวลัดดา พรพนมสิทธิกุล ได้ทดสอบทางด้านเทคนิคตามโครงการฯ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ขอบเขตของงาน (TOR) กำหนดไว้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 โดยเคร่งครัด แต่เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการประกวดราคา การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาถือเป็นเรื่องของการบกพร่อง ในหน้าที่
สำหรับการที่ นายพิภพ ดำทองสุข นายกมลโลจฒน์ เชียงวงศ์ นายทรงชัย ลิ้มไกลท่า และนายปรีดา บุญประคอง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประกวดราคา ได้มีมติให้คณะทำงานด้านเทคนิค ทดสอบทางด้านเทคนิค ตามโครงการไม่ตรงตามขอบเขตของงาน (TOR) ซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่เป็นไปตามที่ขอบเขตของงาน (TOR) กำหนดไว้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 โดยเคร่งครัด จึงให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอน ดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประกวดราคา และคณะทำงานทางด้านเทคนิคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 64 ต่อไป
"สำนักงาน ป.ป.ช. ขอเรียนว่า การพิจารณาตัดสินคดีใดๆ นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน มิได้มุ่งเน้นจ้องจับผิดนักการเมืองแต่อย่างใด สำหรับกรณีที่มีผู้ถูกกล่าวหาบางราย ขอความเป็นธรรมในระหว่างการพิจารณาก่อนวินิจฉัยเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นตามปกติของกระบวนการไต่สวน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็จะนำมาประกอบการพิจารณาทุกเรื่อง"
สำหรับคดีดังกล่าวนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.ได้แจ้งให้นักการเมือง พรรคการเมืองใหญ่พรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน และข้าราชการระดับสูง รวม 6 คน และ ข้าราชการระดับปฏิบัติการ ทราบสถานะผู้ถูกกล่าวหา
“ปัจจุบันผู้ที่รอดการถูกชี้มูลคดีนี้ เช่น นักการเมืองกระทรวงใหญ่ที่นั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2/1 ข้าราชการระดับสูงในยุคนั้นแม้เกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ได้แต่งตั้งเป็น “คณะทำงานรัฐมนตรี” ส่วนอดีตผู้ว่าราชการการจังหวัดหลายรายที่เกี่ยวข้อง บางรายขณะนี้ยังเป็นผู้ว่าฯ อยู่ในจังหวัดใหญ่”.