xs
xsm
sm
md
lg

หยุด “fake news”! ถ้าไม่อยากเห็น “จ่าคลั่ง 2..3...” ระวัง! เกมการเมือง คือตัวอย่าง สร้างความโกธรแค้นที่น่ากลัว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อัษฎางค์ ยมนาค ชี้สาเหตุการฆ่าของ “จ่าคลั่ง” มาจาก fake news การบ่มเพาะความโกธรแค้นรุนแรง มิใช่ล้างแค้นส่วนตัวเท่านั้น ที่น่ากลัว สังคมไทย ยังอุดมไปด้วย fake news แม้แต่ การต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นนำ

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้เฟซบุ๊ก อัษฎางค์ ยมนาค ของนายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการประวัติศาสตร์ โพสต์หัวข้อ “อะไรกันแน่ คือสาเหตุของการฆ่าไม่เลือกหน้า ?”

โดยระบุว่า “สังคมพุ่งเป้าไปที่ ความแค้นส่วนตัวกับนายทหารใหญ่ เป็นความแค้นที่ถูกโกง

แต่ผมว่า ไม่น่าใช่ สาเหตุหลัก

ดูจากโพสต์นี้ของจ่าคลั่ง
เขาบอกว่า “นอกนั้นป้องกันตัว”
จำนวน “นอกนั้น” ที่ว่าคือ 20 กว่าราย

ส่วนใหญ่เป็นผู้บริสุทธิ์ ได้แก่ คนที่แค่ผ่านมาเจอกับจ่าคลั่งโดยบังเอิญก็โดนฆ่า เช่น เด็กน้อยขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านมาก็โดนยิง

หรือคนที่หลบซ่อนอยู่ในห้าง ที่เมื่อจ่าคลั่งเดินตามล่า พอหาเจอก็ฆ่า

นั้นไม่ใช่การกระทำ “เพื่อป้องกันตัว”

แต่เป็น “อาการคลั่ง”

เพราะฉะนั้นย้อนขึ้นไปบรรทัดแรกที่บอกว่า “3 ศพล้างแค้น” ซึ่งหมายถึง 3 ศพแรก ฆ่าเพื่อล้างแค้น นั้นย่อม “ไม่เป็นความจริง”

ข้อความทั้งหมดไม่ใช่ “สาเหตุของการฆ่า”

เขาอาศัยเรื่องการถูกโกง และข้อความ 3 ศพแรกล้างแค้น เพื่อปิดบังสาเหตุจูงใจ ที่อยู่ในใจลึกๆ ของตน

แล้วอะไรคือสาเหตุ?

ผมเชื่อว่า สาเหตุที่แท้จริง คือ อาการคลั่ง

• คลั่งจากการเสพ fake news ตลอดเวลา
• คลั่งจากการเสพข่าว ที่สร้างความขัดแย้ง สร้างความแตกแยก สร้างความเกลียดชัง
• คลั่งความรุนแรง
• คลั่งเลียนแบบในการใช้ความรุนแรง

สังเกตได้จากอะไร?

สังเกตได้จากพฤติกรรมการเสพสื่อ การเสพข่าว และการแสดงความคิดเห็นในสังคมออนไลน์ของเขา

ยกตัวอย่าง การแสดงความคิดเห็นต่อข่าว ปล้นฆ่าร้านทองที่ลพบุรี ที่เขาคอมเมนท์ประมาณว่า ถ้าเขาลงมือ เขาจะทำได้ดีกว่านั้น

รวมทั้งที่มีข่าวว่า ผอ.กอล์ฟทำไปเพราะอยากโดนวิสามัญ ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นข่าวลวง แต่เขามีพฤติกรรมชอบเสพข่าวลวงอยู่แล้ว

มีงานวิจัยของฝรั่ง พบว่า พฤติกรรมเลียนแบบมักเกิดขึ้นเสมอ หลังจากมีเหตุการณ์หนึ่งยุติ

การที่เขาปล้นคลังอาวุธ ไม่ใช่เหตุการณ์พาไป ไม่ใช่ทำไปเพราะเผลอฆ่านายพันเอกด้วยความแค้น แล้วเลยต้องหาอาวุธเพื่อใช้ในการหลบหนีและป้องกันตัว

แต่เขาวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะก่อเหตุร้ายแบบนี้

การฆ่าคนไปเรื่อยๆ ตลอดเส้นทาง รวมทั้งการไล่ล่าเพื่อตามฆ่าคนในห้าง ด้วยการเปิดเพลงฟังจากมือถือในระหว่างเดินล่าหาคนที่หลบซ่อน คือเกมที่เล่นด้วยความคลั่ง

เป็นอาการคลั่ง จากภาวะของจิตใจที่ถูกกล่อมเกลามาจาก เหตุผลหลายๆ ประการ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

สังเกตดูว่าหลังจากเกิดเหตุ มีผู้คนระดับแกนนำที่ชอบสร้าง fake news และผู้ติดตาม ต่างโพสต์ข้อความที่เน้นว่า สาเหตุของการก่อการร้ายในครั้งนี้ มาจากเหตุผลของ ความกดดันทางชนชั้น ผู้ใหญ่รังแกผู้น้อย ความเหลี่อมล้ำทางสังคม ความไม่เสมอภาค การแบ่งชนชั้น

ซึ่งมันสัมพันธ์กับข้ออ้างที่จ่าคลั่งใช้เป็นเหตุผลในการก่อเหตุในครั้งนี้ด้วย

เรื่อง “ความกดดันทางชนชั้น ผู้ใหญ่รังแกผู้น้อย ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความไม่เสมอภาค การแบ่งชนชั้น”

มันมีอยู่จริง แต่มันถูกสร้างให้ใหญ่ขึ้น ต่อเติมให้รุนแรงขึ้น สร้างข้อมูลเท็จที่ทำให้คนเกิดอารมณ์มากขึ้น และตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก

fake news เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความรุนแรงในจิตใจมากขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความกดดัน เกิดความโกรธแค้น แล้วเมื่อผสมกับคนที่มีอาการคลั่ง จึงลงท้ายด้วยโศกนาฏกรรมแบบนี้

ที่น่ากลัวคือ!

อาการคลั่งแบบนี้ ไม่ได้มีแค่จ่าคลั่งคนนี้คนเดียว เพราะตราบใดที่มีการสร้าง fake news มีการสร้างความโกรธแค้น สร้างความขัดแย้งในสังคม

รวมไปถึงสื่อที่เพิ่มความรุนแรง ทั้งเกม หนังละคร ความรุนแรงในสังคม ความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาครอบครัว ปัญหาชีวิตส่วนตัว

ล้วนเป็นแรงส่งเสริม และผลักดัน ให้ไม่สามารถระงับอาการคลั่งที่ค่อยๆ ก่อตัวภายในจิตใจส่วนลึกได้

สังเกตมั้ยว่า เรื่องเลวร้ายแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน แต่ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีนักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หวังจะเป็นผู้มีชัยทางการเมือง แล้วสร้าง fake news สร้างความโกรธแค้นในหมู่ชน สร้างความขัดแย้งในสังคม

จนสังคมและผู้คนเกิดความเครียดแค้นต่อกันเอง เครียดแค้นต่อสังคม ต่อประเทศชาติ

การที่เขาแบกอาวุธหนักไล่ล่าฆ่าคน ไม่ใช่การป้องกันตัว

และเขารู้ดีว่ามันจะจบด้วยการวิสามัญ

แต่เขามีความมุ่งมั่นและมีความสุขที่จะได้กระทำความรุนแรง เพื่อระบายความอัดอั้นที่สะสมอยู่ภายในจิตใจ

เป็นความอัดอั้น ที่เกิดจากการเสพ fake news ที่มีแต่ความขัดแย้ง โกรธแค้น ตลอดเวลามาช้านาน

หยุด fake news ได้เมื่อไหร่
ก็หยุดโกรธแค้น หยุดความรุนแรง ได้เมื่อนั้น

ภาพจากแฟ้ม
เมื่อเป็นเช่นนี้ ที่ต้องทำความเข้าใจ ก็คือ Fake News คืออะไร

Fake News แปลตรงๆจากภาษาอังกฤษ แปลว่า ข่าวปลอม ข่าวลวง คำว่า Fake News เป็นคำที่เกิดขึ้นมาใหม่ ตามยุคตามสมัย ทั้งยังมีการแบ่งประเภทของ Fake News ออกเป็นประเภทๆ เพื่อให้เกิดการแบ่งเป็นหมวดหมู่ของ Fake News โดยองค์กร First Draft News ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านข่าวปลอมให้คำจำกัดความของ Fake News ไว้เป็นข้อๆดังต่อไปนี้

False connection การโย่งมั่ว – การโยงข่าวหรือข้อมูล เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ เพื่อเหตุผลทางการค้า หรือให้เกิดความเข้าใจแบบผิดๆ อาทิเช่น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษา อ้างสรรพคุณ อ้างผลวิจัย โยงไปโยงมา แต่หาที่มาที่ไปหรือข้อมูลเชิงวิชาการไม่ได้

Misleading ทำให้เข้าใจผิด – ข่าวลวงแบบ Misleading ถือว่า เป็นข่าวที่เกิดจากการตั้งใจให้ข่าวผิด ตั้งใจบิดเบือนข่าว ให้เกิดความเข้าใจผิด โดยใช้ช่องโหว่ของคำพูดบางอย่าง มาบิดเบือนข้อความ เพื่อหวังผลทางด้านสังคมหรือการเมือง เช่น เพื่อนต้องการแกล้งเพื่อน อาจปล่อยข่าวว่า เพื่อนคนนี้ เป็นผีปอบ ทำให้เพื่อนหลายคนเกลียดหรือไม่กล้าเข้าใกล้

หรือ ฝ่ายค้าน จงใจปล่อยข่าว การขึ้นภาษี เพื่อให้ประชาชนแตกตื่น ออกมาด่ารัฐบาล

False Context ต่างกรรมต่างวาระ – เรื่องนี้เราน่าจะเคยเห็นบ่อยๆ คือการนำคำพูดเก่า เรื่องเก่าๆมาเล่าให้เป็นเรื่องใหม่ อาจหมายรวมถึงการนำภาพเก่า มาปะปนกับเรื่องใหม่ สร้างเรื่องหวังผลให้เป็นไปยังทิศทางที่ผู้เผยแพร่ต้องการ ซึ่งอาจเกิดจากการเข้าใจผิดหรือจงใจก็ได้

Satire Or Parody เสียดสีหรือตลก – การเสียดสีเป็นการนำข่าวหรือบุคคล มาล้อเลียนทำเรื่องให้ตลก ซึ่งสารที่สือ ออกมา อาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่จริงหรือไม่จริงก็ได้ หากคิดภาพไม่ออกลองเข้าเพจ “ข่าวปด” น่าจะนึกภาพออก
The Different Types Of Mis And Disinformation

Impostor Content เนื้อหาหลอกลวง – ข่าวที่ถูกสร้างขึ้นมาจากสถานที่ปลอมๆ เผยแพร่เนื้อหาแบบปลอมๆ เราจะเห็นข่าวแบบนี้ได้จากสื่อออนไลน์ มักเป็นสื่อที่ไม่เป็นที่รู้จัก แต่อาจถูกแชร์กันมาเป็นทอดๆ จากผู้ขาดความรู้ในการรับสื่อ

Manipulated Content เนื้อหาตัดต่อ – เนื้อหาที่มีการตัดต่อ ภาพหรือเสียง หรือสื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดการเข้าใจผิด

Fabricated Content – ปลอม หลอก 100% – ฉันนี้แหละผู้ร้ายตัวจริง สร้างมาเพื่อปล่อยข่าวปลอม กระจายข่าว เนื้อหาทุกอย่างปลอมหมด...(ข้อมูลจาก https://www.modify.in.th/23823)

ที่สำคัญ ไม่รู้ว่า กรณีวันนี้(11 ก.พ.63) นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช. โพสต์หัวข้อ “ผู้บัญชาการทหารบก ยังคงมีจิตสำนึกของความเป็นทหาร ยังคงมีเกียรติยศเกียรติศักดิ์ของทหาร ครบถ้วนสมบูรณ์ดีอยู่หรือ???”

อยู่ในข่าย “fake news” ด้วยหรือไม่?

โดยเนื้อหาระบุว่า “ในยุคที่กำลังพลระดับจ่าสิบโทเพียงนายเดียว สังหารนายทหารระดับพันเอก แล้วปล้นรถฮัมวี่ไปสังหารทหารเฝ้าคลังอาวุธ จากนั้นปล้นอาวุธหนัก ขับฮัมวี่วนเวียนในกองทหาร ต่อด้วยการไปสังหารประชาชนและเจ้าหน้าที่ รวม 30 ศพเจ็บ 58 คน(คนร้ายตายด้วย)

ถามว่า ในสายตาของชาวโลก จะประเมินกองทัพบกไทยอย่างไร

กองทัพบกภายใต้การนำเช่นนี้ ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้

จะปกป้องพิทักษ์รักษาเอกราชอธิปไตย ชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ และประชาชนไทย จากอริราชศัตรูได้อย่างไร?

ท่านจะยังคงดำรงตำแหน่งนี้ต่อไป ด้วยความภาคภูมิใจ ด้วยความสง่างาม อยู่ได้กระนั้นหรือ???

สำนึกผิดชอบชั่วดีในใจท่านมีหรือไม่??

เกียรติศักดิ์เกียรติยศของทหารของท่านอยู่ที่ไหน??.

ลักษณะการโหนกระแสมาโจมตีทางการเมืองเช่นนี้ คือ สิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ชอบที่จะนำมาใช้อยู่เสมอ และพักหลังดูเหมือนถี่ขึ้น อย่างไม่เลือกว่าถูกกาลเทศะหรือไม่ด้วย

จึงนับว่าน่าสนใจ โพสต์ของ อัษฎางค์ ยมนาค ที่ใช้เหตุการณ์ความรุนแรงที่โคราช มาเป็นการกระตุ้นเตือน ว่า fake news ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป หากแต่มันคือ ตัวบ่มเพาะความโกธรแค้นรุนแรงในสังคม ที่น่ากลัว และถ้าไม่หยุดเสียแต่วันนี้ เหตุการณ์ “จ่าคลั่ง 2..3...” ก็อาจเกิดขึ้นอีก และสายเกินแก้แล้วก็ได้ ใครจะรู้!


กำลังโหลดความคิดเห็น