xs
xsm
sm
md
lg

“ชวน” เล็งส่ง กมธ.กิจการสภาฯ สอบปมเสียบบัตร เหตุ จนท.ไม่กล้าสอบ ส.ส. ชี้อภิปรายร่างงบฯ ไล่ทีละมาตราได้ แต่คนนอกรู้เจตนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปธ.สภาฯ แจงการสอบคุณสมบัติ ส.ส.เสียบบัตรแทน เล็งให้เป็นหน้าที่ กมธ.กิจการสภาฯ อ้าง จนท.สภาฯไม่กล้าสอบ ส.ส. ยันหากข้อเท็จจริงชัด ส่ง ป.ป.ช.เชือด เผยกรอบอภิปรายร่างงบฯ รอบใหม่ ต้องไล่ทีละมาตรา-ส.ส.มีสิทธิอภิปรายซ้ำได้

วันนี้ (11 ก.พ.) นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกันระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ว่า เลขาธิการสภาฯกำลังดำเนินการอยู่ ตนให้ตรวจสอบทุกกรณี ไม่ใช่แค่ในรายที่ถูกร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้ตรวจสอบทุกรายว่าแต่ละรายข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะมีกรณีทั้งที่ตัวอยู่ในห้องประชุม และตัวไม่อยู่ในห้องประชุม ต้องตรวจสอบทุกราย แต่เลขาธิการสภาฯ แจ้งตนมาว่าเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยอยากสอบ ส.ส. โดยเท่าที่หารือกับเลขาธิการสภาฯ ก็มีทางเลือกหนึ่งคือส่งให้กรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรสอบเรื่องนี้ ก็ได้คุยกับนายอนันต์ ผลอำนวย ประธานคณะกรรมาธิการฯ ไว้เบื้องต้นแล้วว่าอาจจะขอให้กรรมาธิการกิจการสภาฯ สอบเรื่องนี้ เพราะเจ้าหน้าที่สภาฯ ไม่อยากสอบ ส.ส.เนื่องจากเขาเป็นข้าราชการ แต่ข้อมูลทั้งหมดอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ มีข้อมูลดีกว่าทุกคน ดังนั้น เจ้าหน้าที่สภาฯ จะสามารถสอบเบื้องต้นได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นว่าใครเป็นอย่างไร ก็อาจจะส่งข้อมูลให้กรรมาธิการกิจการสภาฯ หากรับสอบเรื่องนี้

ส่วนมาตรการที่ว่าแต่ละคนต้องรับผิดชอบอย่างไร เป็นอีกกระบวนการหนึ่งเราต้องดูอีกที หากสมมติว่ามีพฤติกรรมที่ผิดในแง่กฎเกณฑ์ กติกา กฎหมาย ก็ต้องว่าไปตามความผิดนั้นๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ส่วนการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องนี้นั้น นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ได้วินิจฉัยไปแล้วถือว่าจบไปแล้ว แต่ก็ยังเป็นหน้าที่สภาฯ ที่จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจิรง และส่งข้อเท็จจริงเหล่านี้ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป อย่างไรก็ตาม หากพบความผิดชัดเจนสามารถส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ ไม่มีใครจะไปยกเว้นใครได้ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง

นายชวนยังกล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในวาระที่ 2 ใหม่ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายชวนกล่าวว่า เป็นไปตามข้อบังคับตามกฎหมาย ในวาระ 2 จะต้องเริ่มตั้งแต่ชื่อ พ.ร.บ. คำปรารภ ไล่ไปทีละมาตราจนจบ ส่วนฝ่ายค้านจะอภิปรายแต่ละมาตราก็เป็นสิทธิ จะอภิปราย 4-5 วันเหมือนเดิมก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่คนนอกก็จะรู้ว่าเจตนาอะไร เพราะการอภิปรายรอบที่แล้วได้พูดกันมาอย่างละเอียดแล้ว อภิปรายจนมากกว่าปกติโดยทั่วไป ทุกคนก็รู้ว่าได้มีการอภิปรายมาแล้ว ถ้ายังอยากทำเหมือนเดิมก็เป็นสิทธิทำได้ตามกฎหมายไม่มีอะไรห้ามได้ ทั้งนี้ เท่าที่ฟังจากสมาชิกส่วนใหญ่เขาก็บอกว่าอภิปรายกันมาแล้ว คงไม่ได้ใช้เวลานานเหมือนเดิม

เมื่อถามถึงกรณีอาจจะมีการหยิบยกเรื่องมาตรา 143 ที่ระบุว่าหากพิจารณาไม่แล้วเสร็จใน 105 วัน ให้ถือว่าสภาเห็นชอบ มาพูดคุยกันอีกหรือไม่นั้น นายชวนกล่าวว่า ถือเป็นคนละเรื่อง เพราะเรื่องนี้เป็นการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องเริ่มพิจารณาวาระ 2 วาระ 3 ใหม่ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น