รองโฆษกรัฐบาลแถลง ครม.ไฟเขียวแก้กฎกระทรวง เข้มเงื่อนไขหวังแก้ปมฝุ่น PM 2.5 พร้อมยันให้ความสำคัญปัญหาพีมูฟ เดินหน้าทำตามข้อเสนอ เร่งสำรวจคนไร้สถานะเข้ามาอยู่ในระบบ
วันนี้ (11 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับการควบคุมอาคาร ต้องมีมาตรการป้องกันฝุ่นและได้มาตรฐานความปลอดภัย ทั้งนี้ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) ออกตามความพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บังคับใช้มาเป็นเวลานานประกอบกับรูปแบบและวิธีการก่อสร้างอาคารในปัจจุบันได้เปลี่ยนไป ครม.จึงเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่... (พ.ศ. ...) ออกตามความพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจากกฎกระทรวงฉบับเดิมในหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันฝุ่นละออง ความปลอดภัยของนั่งร้าน ค้ำยัน ปั้นจั่นหอสูง (ทาวเวอร์เครน) และเดอร์ริกเครน (การใช้งานเพื่อรื้อถอนทาวเวอร์เครนลงจากตัวอาคาร) เพื่อประโยชน์ด้านความปลอดภัยและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ 1. กำหนดให้ระหว่างการก่อสร้างอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป ต้องมีมาตรการป้องกันฝุ่นละออง เช่น ล้อมอาคารด้วยวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อป้องกันฝุ่นละออง การผสมคอนกรีตหรือการไสไม้ต้องทำในพื้นที่ปิดล้อม และทำความสะอาดล้อรถทุกชนิด ก่อนนำออกนอกบริเวณสถานที่ก่อสร้าง
2. กำหนดให้ระหว่างการก่อสร้างอาคารต้องมีการตรวจสอบความแข็งแรงและความปลอดภัยของนั่งร้านและค้ำยันที่ใช้รับน้ำหนักของการก่อสร้างอาคารที่สูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป หรือความสูงของนั่งร้านและค้ำยันตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป ส่วนนั่งร้านและค้ำยันที่สร้างด้วยไม้ต้องรับน้ำหนักไม่น้อยกว่า 4 เท่า และตรวจสอบความแข็งแรงความปลอดภัยของปั้นจั่น โดยเฉพาะปั้นจั่นหอสูงต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และ 3. กำหนดให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้างมาใช้บังคับแก่การรื้อถอนอาคารโดยอนุโลมดังนั้นผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในเขตควบคุมอาคาร ต้องขออนุญาตหรือแจ้งต่อพนักงานท้องถิ่นและต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในร่างกฎกระทรวงนี้
น.ส.รัชดายังกล่าวว่า กรณีความคืบหน้าการแพ้ไขปัญหาของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ว่า หลังจากกลุ่มพีมูฟได้มายื่นเรื่องร้องเรียนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มพีมูฟโดยเฉพาะ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทั้งนี้ ครม.ได้รับทราบว่าปัญหาส่วนใหญ่ว่าเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน จำนวนปัญหาทั้งหมดมีทั้งหมด 266 กรณี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการแก้ไขปัญหาแล้ว 65 กรณีอยู่ระหว่างดำเนินการ 201 กรณี โดยสาเหตุที่ต้องมีการตั้งเป็นคณะกรรมการ เพราะ ทุกเรื่องไม่ใช่เรื่องที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งจะแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ ทุกปัญหามีความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการ
“ในเรื่องของสิทธิคนไร้สถานะ ตามที่พีมูฟ อยากให้มีนโยบายแก้ไขปัญหาด้านสถานะ และสิทธิบุคคลของคนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ และอยากให้ขยายมติ ครม. ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2548 สำรวจคนตกหล่นเป็นการเฉพาะ รวมทั้งมีการแต่งตั้งสิทธิ สถานะเป็นคณะกรรมการกลาง องค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาของคนไร้สถานะให้สำเร็จ โดยรัฐบาลไม่ได้มีข้อเห็นแย้ง โดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการสำรวจคนตกหล่น ทบทวนหลักเกณฑ์ ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว จึงขอให้สบายใจว่าทุกหน่วยงานต้องการขับเคลื่อนเรื่องนี้” น.ส.รัชดากล่าว