ปธ.กสม.เผยยุติเรื่องศิริราชจัดแสดงศพ “ซีอุย-มนุษย์กินคน” ชี้แม้ละเมิดสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศจริง แต่แก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว เสนอ “ศิริราช-ราชทัณฑ์” จัดการศพตามกฎหมาย เหตุไร้ญาติแสดงตัว
วันนี้ (6 ก.พ.) นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุม กสม.ด้านคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน วานนี้ (5 ก.พ.) ได้มีการพิจารณาเรื่องที่ตัวแทนชาวบ้าน อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ร้องขอให้ตรวจสอบกรณีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลนำร่างของนายซีอุย แซ่อึ้ง ผู้ได้รับโทษประหารชีวิตไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์สงกรานต์ นิยมเสน ตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แล้วเห็นว่านายซีอุย หรือลีอุย แซ่อึ้ง ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษประหารชีวิตในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ และเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2502 เรือนจำกลางบางขวางได้ดำเนินการประหารชีวิตนายซีอุย ซึ่งระเบียบการประหารชีวิตนักโทษในขณะนั้นกำหนดว่า ถ้ามีญาติมาติดต่อขอรับศพไป เรือนจำจะอนุญาตให้ก็ได้ หากไม่มีญาติก็ให้รีบจัดการฝังได้ แต่ไม่ปรากฏว่ามีญาติพี่น้องของนายซีอุยมาขอรับศพไป และไม่ทราบว่าเหตุใดจึงมีการมอบศพของนายซีอุยแก่ผู้ถูกร้อง มีเพียงข้อมูลที่ปรากฏในมรณบัตรของนายซีอุยซึ่งเจ้าหน้าที่เรือนจำแจ้งการตายต่อสำนักทะเบียนเทศบาลเมืองนนทบุรีเท่านั้นว่า “ศพให้เก็บที่โรงพยาบาลศิริราช” จากนั้นมาศพของนายซีอุยจึงถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์สงกรานต์ นิยมเสน เพื่อเป็นวิทยาทานให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านนิติเวชศาสตร์ แต่รูปแบบการจัดแสดงศพของนายซีอุยมีการปิดป้ายให้ข้อมูลการจัดแสดงบริเวณด้านบนของตู้บรรจุศพว่า “Si Quey ซีอุย แซ่อึ้ง (มนุษย์กินคน)” ซึ่ง กสม.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าว ประกอบมาตรา 32 รัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับศพ อันมีบทบัญญัติที่รับรองและคุ้มครองศพ ชื่อเสียงและเกียรติยศของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย จึงเห็นว่า แม้ว่าการจัดแสดงศพของนายซีอุยจะมีประโยชน์ในอันที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้แก่สาธารณชนทางด้านนิติเวชศาสตร์ แต่ถือเป็นหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่จะต้องปกปิดข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ ชื่อสกุล ประวัติ อาชีพ ครอบครัว ของผู้เสียชีวิต เพื่อมิให้เข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือละเมิดสิทธิของผู้เสียชีวิต ญาติและครอบครัว ดังนั้น รูปแบบและวิธีการจัดแสดงของผู้ถูกร้อง เป็นการเปิดเผยชื่อ ชื่อสกุล และใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะไม่เหมาะสม จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของนายซีอุย
แต่ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2562 ผู้ถูกร้องได้ปรับปรุงข้อความในป้ายจัดแสดง และเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 62 ผู้ถูกร้องได้ประกาศติดตามหาญาติของนายซีอุย เพื่อเปิดโอกาสให้ญาติได้ร่วมหารือเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับศพของนายซีอุยให้เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อครบกำหนดในวันที่ 4 ส.ค. 62 แล้ว ไม่มีบุคคลใดที่สามารถแสดงตัวได้ว่าเป็นทายาทหรือญาติของนายซีอุย ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 62 ผู้ถูกร้องจึงได้แถลงต่อสาธารณะว่าได้นำศพของนายซีอุยออกจากพิพิธภัณฑ์ฯ แล้ว การดำเนินการของผู้ถูกร้องในส่วนนี้จึงถือได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว กสม.จึงมีมติให้ยุติเรื่อง
ส่วนกรณีที่ตัวแทนชาวบ้าน อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขอนำศพของนายซีอุยไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนานั้น กสม.เห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีญาติของนายซีอุยมาติดต่อขอรับศพ และแม้ระยะเวลาจะผ่านพ้นมาเนิ่นนานกว่า 60 ปี แต่สถานะทางกฎหมายของศพนายซีอุยยังคงถือเป็นศพนักโทษชายเด็ดขาดโดยไม่เปลี่ยนแปลง ในชั้นนี้ กสม.จึงเห็นว่าเรือนจำกลางบางขวางซึ่งเป็นเรือนจำแห่งท้องที่ที่ทำการประหารชีวิตนายซีอุย สามารถเป็นผู้ดำเนินการเผาหรือฝังศพนายซีอุยตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ. 2546 ข้อ 18 ได้ จึงมีข้อสังเกตในส่วนนี้ไปยังผู้ถูกร้องและกรมราชทัณฑ์ เพื่อประสานความร่วมมือกันในการจัดการศพนายซีอุยให้เป็นไปอย่างเหมาะสมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว