สลค.เวียนข้อเสนอ "บิ๊กตู่" แนะ "สำนักงานกสทช." เร่งรัดขั้นตอน สรรหา-คัดเลือก บุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง "บอร์ด กสทช.ชุดใหม่" ให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายโดยเร็ว ก่อน ร่างพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย พ่วง "ขันน็อต" หน่วยงาน เสนอแผนงาน/โครงการ ได้งบประมาณแล้ว ให้ดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็ว
วันนี้ ( 2 ก.พ.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ โดยหนึ่งในนั้น มีข้อเสนอให้เร่งรัดการแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) โดยให้สำนักงาน กสทช. เร่งรัดดำเนินการเพื่อให้มีการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
"ให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายโดยเร็ว เมื่อร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ....มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว"
กสทช. ชุดปัจจุบันแต่เดิมจะอยู่ครบระยะเวลาตามวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปีไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 แต่เมื่อ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้บอร์ดกสทช.ชุดปัจจุบันยังต้องทำหน้าที่รักษาการต่อไป จนกว่า จะมี“กสทช.”ชุดใหม่ แม้กฎหมายใหม่ออกแล้ว แต่ก็ยังมี คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 8/2558 เมื่อวันที่ 24 เม.ย.58 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 75/2559 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.59 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2561 เรื่อง การยกเลิก และระงับกระบวนการสรรหา และคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็น กสทช. เมื่อวันที่ 24 เม.ย.61 ฉบับสุดท้าย มีสาระสำคัญให้ยกเลิกกระบวนการสรรหา และคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็น กสทช. และให้ กสทช. ที่ปฏิบัติหน้าที่ดํารงตําแหน่งต่อไป จนกว่าหัวหน้าคสช. จะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
ปัจจุบันบอร์ดกสทช.อยู่ในตำแหน่งมาเป็นปีที่ 8 ได้รับสิทธิประโยชน์ของบอร์ดกสทช.มากมาย ทั้งเงินเดือนประธาน 335,520 บาท กรรมการ 269,000 บาท (เฉพาะเงินเดือนของบอร์ด 6 คนตกปีละกว่า 23 ล้านบาท) งบเดินทางต่างประเทศปีละ 20-50 ล้านบาท ได้สิทธิในการบินชั้น First Class งบรับรองเดือนละ 2 แสนบาท ทั้งยังตั้งที่ปรึกษา คณะทำงาน และอนุกรรมการโดยรวมๆแล้วค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดตกปีละกว่า 240 ล้านบาท
กสทช.ชุดปัจจุบัน คงเหลืออยู่เพียง 6 คน ประกอบด้วย พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกสทช. พันเอกนที ศุกลรัตน์ รองประธาน พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
เมื่อต้นปีที่แล้ว รัฐสภา เพิ่งเห็นชอบ ให้มีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. จำนวน 5 คน ได้แก่ นายณภัทร วินิจฉัยกุล ด้านกิจการกระจายเสียง 2.นายบัณฑิต ตั้งประเสริฐ ด้านกิจการโทรทัศน์ 3.พันเอก พีรวัส พรหมกลัดพะเนาว์ ด้านกิจการโทรคมนาคม 4.นายพันธศักดิ์ จันทร์ปัญญา ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ 5.นายไพโรจน์ โพธิไสย ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ในหนังสือเวียนฉบับดังกล่าว นายกรัฐมนตรี ยังเสนอเรื่อง การดำเนินการตามแผนงาน/โครงการ โดยให้หน่วยงานเจ้าของแผนงาน/โครงการต่าง ๆ ที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบหรืออนุมัติไว้แล้ว เร่งรัดดำเนินการตามแผนงาน/โครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จและบรรลุผลตามกรอบระยะเวลาและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้โดยเร็ว
ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้ถูกต้องและโปร่งใส เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติครม.ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด.