สภาพัฒน์ แนะกำหนดเขตที่ดินทั้ง 3 ฉบับ แจกเกษตรกรไร้ที่ทำกิน ใน จ.นราธิวาส กว่า 1,500 ไร่ ควรพิจารณากำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขการพัฒนาพื้นที่ เน้นสนับสนุนทางเลือกในการทำเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อลดความเสี่ยงด้านราคาผลผลิตระยะยาว
วันนี้( 2 ก.พ.) มีรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินการกำหนดเขตที่ดินใน จ.นราธิวาส ภายหลังคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน 3 ฉบับ ในจังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ประกอบด้วย ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลปะลุรู ตำบลโต๊ะเด็ง และตำบลริโก๋ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. .... คงเหลือพื้นที่ที่จะนำมากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 5 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 266-3-30.3 มูลค่าที่ดิน 22,847,946.25 บาท
ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลบางปอ อำเภอเมืองนราธิวาส และตำบลดุซงญอ ตำบลช้างเผือก ตำบลจะแนะ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. .... คงเหลือพื้นที่ที่จะนำมากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 25 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 1,047-1-28.9 ไร่
และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลปูโยะ และตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก - ลก จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ..โดยตัดที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 2468 ตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงโก - ลก เนื้อที่ 4-0-53 ไร่ จำนวน 1 แปลง ออกจากพื้นที่ที่จะนำมากำหนดเขตปฏิรูป เนื่องจากมีการยกเลิกเสนอขายที่ดินกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คงเหลือพื้นที่ที่จะนำมากำหนดเป็นเขตฏิรูปที่ดิน ประมาณ 542-2-53 ไร่ ตามที่ตรวจสอบ
ทั้งนี้ การกำหนดเขตที่ดินทั้ง 3 ฉบับ ในจ.นราธิวาส จะสามารถนำมาจัดให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินโดยการเช่าหรือเช่าซื้อต่อไป ซึ่งเกษตรกรมีโอกาสได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันจะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินบรรลุวัตถุประสงค์
ขณะที่สำนักงานสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ มีความเห็นว่า ส.ป.ก. ควรพิจารณากำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขการพัฒนาพื้นที่
"โดยเฉพาะการสนับสนุนทางเลือกในการทำเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อลดความเสี่ยงด้านราคาผลผลิต อาทิ การทำสวนยางในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมอย่างแท้จริง ร่วมกับการเพาะปลูกพืชร่วมยาง พืชแซมยาง และการทำปศุสัตว์ในสวนยาง หรือการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่มีศักยภาพทดแทนสวนยาง ซึ่งจะเป็นระโยชน์ต่อเกษตรกรและชุมชนในระยะยาว".