xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.แก้ รธน.เห็นพ้องรับฟัง ปชช.จริงจัง เหตุต้องผ่านด่านอรหันต์เพียบ พท.ย้ำต้องแก้ทั้งฉบับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประชุม กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน.ครั้งที่ 2 เปิดให้สื่อรับฟัง วางกรอบทำงาน เห็นพ้องต้องเปิดรับฟังความเห็น ปชช.อย่างจริงจัง เพราะต้องผ่านด่านอรหันต์หลายด่าน ฝ่าย พปชร.แนะต้องปล่อยมือจากอดีตเพื่อไขว่คว้าอนาคต พท.ลั่นต้องแก้ทั้งฉบับ



วันนี้ (14 ม.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยเป็นการประชุมครั้งที่ 2 และได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการประชุมอย่างเป็นทางการด้วย สำหรับการประชุมมีวาระสำคัญ คือ การกำหนดกรอบเวลาการทำงานและการเปิดรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญแต่ละคน

ทั้งนี้ บรรยากาศการประชุมโดยภาพรวมเป็นไปอย่างราบรื่น คณะกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคฝ่ายค้านต่างเห็นตรงกันว่าควรมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการและสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเป็นเรื่องสำคัญ ในช่วงบรรยากาศแบบนี้ต่างทราบดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก และการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้เหมือนเป็นผ่อนหนักเป็นเบา เพราะถึงอย่างไรก็ติดขัดที่วุฒิสภาอยู่ดี เสียงในสภาของพวกเรามีพอที่จะยื่นร่างแก้ไขได้ แต่ถ้าทำแบบนั้นก็จะตกไปภายในไม่กี่วัน จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้เพื่อให้มีข้อเสนอออกมา

“หลายคนมองว่าจะเกิดการเมืองถนน การเมืองนอกสภาเป็นการเมืองที่ควบคู่กันไปกับการเมืองในระบบรัฐสภา แต่ปัจจัยอยู่ที่รัฐสภา ถ้ารัฐสภาตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนได้ การเมืองบนท้องถนนก็จะลดลง ดังนั้น เราจะต้องไปหาประชาชน ถึงที่สุดแล้วจะเป็นการลดทอนความตึงเครียดลงไปได้” นายปิยบุตรกล่าว

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญจะดีขนาดไหน ถ้าประชาชนไม่ยอมรับก็จะมีปัญหา ที่ผ่านมาการให้ประชาชนยอมรับด้วยการรับฟังความคิดเห็นและทำประชามติก็เคยทำกันมาแล้ว แต่บางส่วนก็ไม่ยอมรับ เช่น การทำประชามติก็มีปัญหา หรือการรับฟังความคิดเห็นก็เป็นลักษณะของการแอบฟังและปิดกั้น ดังนั้น ต้องทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญก็ต้องมาออกแบบกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และต้องให้การทำประชามติเป็นที่ยอมรับ เพราะชาวบ้านเขามองออกมาว่าสภาเล่นอะไรกัน อย่าไปคิดว่าชาวบ้านดูไม่ออก สรุปคือต้องฟังมากๆ

ขณะที่กรรมาธิการในซีกของพรรคพลังประชารัฐ แสดงท่าทีว่าควรต้องสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะต้องอยู่ในกรอบที่ต้องเป็นการศึกษาปัญหาของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เฉพาะปัญหาในส่วนของการบังคับรัฐธรรมนูญเท่านั้น

นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า กรรมาธิการควรศึกษาทุกหมวดแต่ละข้อว่ามีผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร และกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างไรทั้งตรงและอ้อม และขอให้คุยกันตรงๆ ตรงนี้ การลือกตั้งทำให้หลายคนได้กลับและไม่ได้กลับเข้ามา จึงต้องไปศึกษาถึงผลกระทบให้รอบด้าน

“การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านด่านอรหันต์จำนวนมาก จึงต้องให้ประชาชนเห็นด้วย นอกจากนี้ ต้องให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเหมือนกัน หรือจะให้วุฒิสภามาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน ไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไรก็ต้องมาหารือร่วมกัน และที่สำคัญขอให้ทุกฝ่ายอย่าเอาเรื่องเศร้ามาพูดกัน หากมือกำอดีตไว้แล้วจะเอามือที่ไหนไปไขว่คว้าอนาคต” นายนิโรจน์กล่าว

ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์เสนอต่อที่ประชุมว่า การทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญควรทำควบคู่กันไปสองด้าน ได้แก่ การทำงานในส่วนของคณะกรรมาธิการวิสามัญ และกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยหากในอนาคตมีความจำเป็นจะต้องรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ถึงจะไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นต่อไป โดยในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญครั้งต่อไปจะเริ่มเข้าสู่การพิจารณาในเนื้อหา

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ แสดงความคิดเห็นว่า จากการติดตามการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ส่วนตัวคิดว่าสามารถสรุปออกมาได้เป็น 3 แนวทาง ได้แก่ 1. การแก้ไขมาตรา 256 อย่างเดียว 2. การแก้ไขมาตราที่เป็นปัญหา โดยไม่แตะต้องมาตรา 256 โดยเป็นการมาตราอื่นๆที่เห็นพ้องต้องตรงกันว่าเป็นปัญหาจริง และโน้มน้าวให้ ส.ว.เห็นด้วย และ 3. การแก้ไขมาตรา 256 และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้จัดทำกติกาใหม่ ซึ่งแต่ละแนวทางมีปัญหาและอุปสรรคแตกต่างกันไป

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอา ส.ว.ออกไปนั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลย จึงไม่มีทางที่ ส.ว.จะส่งคืนกุญแจให้ หรือการให้ฝ่ายค้านคืนเสียง 20% ในวาระที่ 3 ก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกัน เพราะนี่เป็นการถ่วงดุลของฝ่ายค้านป้องกันการใช้เสียงข้างมากลากไป จึงเห็นว่าหากแก้มาตรา 256 อย่างเดียวอาจทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกัน หรือการแก้ไขเป็นรายมาตราที่ไม่แตะมาตรา 256 ก็อาจจะเกิดปัญหาความไม่ไว้วางใจเช่นกัน กล่าวคือ หากรัฐบาลเป็นคนเสนอจะถูกมองว่าเป็นการสร้างความได้เปรียบในทางการเมืองหรือไม่ และอาจทำให้อีกฝ่ายยอมรับได้ยาก”

นายสมชัยกล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แน่นอนว่าต้องผ่านวุฒิสภาด้วย จึงต้องทำให้ ส.ว.คล้อยตาม การมี ส.ส.ร.อาจทำให้ กรธ.เสียหน้า หมายความว่าสิ่งต่างๆ ที่ กรธ.ทำมาก่อนหน้านี้ใช้ไม่ได้ จนต้องมีการ ส.ส.ร.กันใหม่ ประกอบกับกระบวนการนี้ต้องใช้เวลานานมาถึง 2 ปีในการทำรัฐธรรมนูญ และปัญหาการเมืองอาจเกิดความรุนแรง จึงเป็นปัญหาว่าการตั้ง ส.ส.ร.จะทันกับการแก้ไขปัญหาหรือไม่ ดังนั้น เราต้องกรอบการทำงานแน่นอน เรามีเวลาทำงาน 120 วัน เราต้องกำหนดว่าต้องประชุมกี่ครั้และแต่ละครั้งจะประชุมเรื่องอะไร และแต่ละเดือนต้องมีผลสรุปออกมา นอกจากนี้ต้องสร้างกลไกรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริงที่ไม่ได้เป็นการฟังในลักษณะพิธีกรรมเท่านั้น

“ภายในเดือนที่ 3 ควรต้องมีผลสรุปเบื้องต้นออกมาเพื่อให้ในเดือนที่ 4 ของการทำงานเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เมื่อประชาชนให้ความเห็นออกมาเราจะเอามากรองอีกครั้ง ที่สำคัญอย่าขอขยายเวลาการทำงานออกไป แม้ว่าเราจะมีสิทธิขอสภาขยายการทำงานก็ตาม เพราะเราต้องตั้งใจทำงานให้เสร็จ และรับผิดชอบร่วมกัน หากทำงานไม่เสร็จ” นายสมชัยกล่าว

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ และรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติหากจะมีการแก้ไขที่อาจเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญก็ควรต้องผ่านการทำประชามติเช่นกัน เพราะประชาชนมีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ ดังนั้น การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำรัฐธรรมนูญก็ต้องทำประชามติเช่นกัน จึงเป็นเรื่องแรกที่เราต้องมาพิจารณาก่อน

“การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ส่วนการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้นนั้นต้องย้อนกลับไปดูอดีตว่าที่ผ่านมามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายเกินไปโดยเสียงข้างมาก จนเป็นที่มาของความขัดแย้ง จึงเป็นที่มาของมาตรา 256 ที่ให้อำนาจกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาแก้ไขได้ โดยเฉพาะ ส.ว. ซึ่งเดิมเป็นเสียงที่ไม่มีความหมาย แต่แก้ไขใหม่เพื่อให้เสียงของส.ว.มีความหมายขึ้นมา อย่างไรก็ตาม หากจะมีการแก้ไขมาตรา 256 ก็อาจถูกทักท้วงได้เช่นกัน ส.ว.มีเอกสิทธิ์ในการร่วมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว” นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์กล่าวย้ำว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีพัฒนาการมาจาก 2540 และ 2550 ส่วนไหนดีก็ควรคงไว้ เช่น หมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในมาตรา 25 ว่าด้วยการให้สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคลหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นข้อดีที่ชัดเจนที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งถือเป็นข้อดีของรัฐธรรมนูญ 2560

นายโภคิน พลกุล กรรมาธิการวิสามัญสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดีเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ก็มีประเด็นปัญหาในเรื่องมาตรา 279 ที่รับรองการกระทำ คสช. ซึ่งที่ผ่านมาประกาศและคำสั่งของคสช.มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น ควรต้องเอามาตรา 279 ออกไป เพื่อเติมเต็มสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงคิดว่าควรต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่แตะหมวด 1 และ 2 เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง เราควรเชื่อในคนที่มาจากประชาชน เราอยู่กันมา 80 ปีเพิ่งจะมีกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมที่ประหลาดแบบนี้

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กรรมาธิการวิสามัญ สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ควรมีกรอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือที่เรียกว่าการทำทีโออาร์เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความไว้วางใจกันไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือแก้ไขเป็นรายมาตรา

จากนั้นที่ประชุมได้ข้อสรุปมอบหมายให้คณะโฆษกไปประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการรับฟังความคิดเห็นแล้วกลับนำมาเสนอต่อที่ประชุม เพื่อพิจารณาว่าสมควรจะต้องตั้งคณะอนุกรรมาธิการจำนวนกี่ชุดต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น