รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2562 ตอน พีระพันธุ์ - 49 กรรมาธิการ ตั้งวงแก้ รธน.จะไปทางไหน?
ความคืนหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่า น่าจะได้ขื่อพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฏร
ซึ่งกรรมาธิการได้นัดประชุมกันนัดแรก เพื่อเลือกประธานกรรมาธิการและตำแหน่งต่างๆ กันในวันอังคารนี้ 24 ธันวาคม
สำหรับตัวพีระพันธุ์ เป็นที่ชัดเจนว่า เลือกตั้งรอบหน้า จะเป็นหนึ่งในผู้สมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และจะเข้ามามีบทบาทในพรรคพลังประชารัฐ ต่อจากนี้มากขึ้นค่อนข้างแน่ โดยภารกิจการเมืองสำคัญที่จะสร้างการยอมรับในตัวพีระพันธุ์ ต่อแกนนำรัฐบาลและแกนนำพรรคพลังประชารัฐ
ก็คือ การนั่งเป็นหัวเรือใหญ่ คอยคุมหางเสือ การทำงานของคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะมีเวลาการทำงานถึงหนึ่งร้อยยี่สิบวัน หรือสี่เดือนเต็มๆ
บทบาทการเป็นประธานกรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญ หรือเสมือนกัปตันทีมที่มีกรรมาธิการจำนวน 49 คน ซึ่งหลายคนชื่อชั้นว่าไม่ธรรมดา ท่องยุทธจักรมานานวัน
มีทั้งนักการเมืองรุ่นใหญ่ลายคราม ระดับอดีตหัวหน้าพรรคใหญ่อย่าง บัญญัติ บรรทัดฐาน จากประชาธิปัตย์ หรืออดีตประธานรัฐสภา อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุดอย่าง โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา
และแกนนำพรรคเพื่อชาติ พรรคสาขาของเพื่อไทย อย่างยงยุทธ ติยะไพรรัช อดีตอัยการสูงสุด อดีตรมว.ยุติธรรมอย่างชัยเกษม นิติศิริ อดีตองค์กรอิสระอย่าง สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง
และแกนนำพรรคอนาคตใหม่ อย่างดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชน บุคคลที่สังคมไทยให้การติดต่อผลงานของอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะรักหรือเกลียดเขา
ขณะที่กรรมาธิการจากสายข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากคณะรัฐมนตรีให้เข้าไปเป็นกรรมาธิการ หลายคน ก็มีที่มาที่ไปไม่ธรรมดา เช่น ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และอดีตกรรมการกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน
หรือดร.อุดม รัฐอมฤต คณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ในภาพรวมดูให้ลึกแล้วจะพบว่าในกรรมาธิการ 49 คน กรรมาธิการที่มาจากโควต้าฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ส่วนใหญ่ ก็พอคาดได้ถึงแนวคิดการเมืองว่า สนับสนุนหรือคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เรียกได้ว่า แบ่งกันเป็นสองขั้วชัดๆ เมื่อสองขั้วความคิด ที่แตกต่างกันสิ้นเชิงเช่นนี้ มาทำงานร่วมกัน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ก็พอจะมองเห็นเค้าลางได้ว่าจะมีความขัดแย้งรุนแรงไปถึงการปะทะกันดุเดือดเผ็ดมันแน่ ทำนายได้เลยว่า การประชุมกรรมาธิการ จะมีเหตุการณ์วงแตกแน่นอน
ดังนั้น คนที่นั่งเป็นประธานหัวโต๊ะการประชุมทุกนัด จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำหน้าที่ประนีประนอมความเห็นที่แตกต่างกันของกรรมาธิการที่มีความเห็นแตกต่างกันสองขั้ว
ให้ทำงานร่วมกันจนจบภารกิจไม่เกิดปัญหาวงแตก กันก่อนปิดจ๊อบ
งานของพีระพันธุ์ ที่ปรึกษานายกฯลุงตู่ ครั้งนี้ ถึงได้บอกว่า ไม่ง่าย และจะเป็นบทพิสูจน์ ให้แกนนำรัฐบาลและพลังประชารัฐ ได้เห็นว่า เขาจะสามารถทำภารกิจดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงไปได้ดีแค่ไหน
กับการหาข้อสรุปของกรรมาธิการในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อย่างน้อย ข้อสรุปผลการศึกษาของกรรมาธิการที่พีระพันธุ์ เป็นประธาน จะต้องไม่กลายเป็นบ่วงรัดคอทางการเมือง เป็นข้อผูกมัดให้แกนนำรัฐบาลและแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ต้องเร่งเครื่องเร็วเพื่อทำให้เกิดการ แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ที่เป็นอยู่เดิมก็เอื้อประโยชน์โดยตรง ให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ ในการจัดตั้งรัฐบาลและคุมเสียงสภาสูง
ตัวของพีระพันธุ์ ตลอดจนกรรมาธิการจากซีกรัฐบาล คงต้องคุมเชิงการเมืองในกรรมาธิการกันพอสมควร ต้องไม่เปิดช่องให้ข้อสรุปของกรรมาธิการ เป็นการนำไปสู่การเปิดไฟเขียวให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ที่ผ่านมา ท่าทีของพลเอกประยุทธ์ ตลอดจน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แกนนำพลังประชารัฐ ตลอดจนส.ส.พลังประชารัฐ และสมาชิกวุฒิสภาเกือบทั้งหมดที่มาจากคสช. ก็ตั้งป้อม ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด
แต่ที่ต้องมาเอาด้วยกับการตั้งกรรมาธิการชุดนี้ ก็เล่นไปตามกระแส โดยเฉพาะเพื่อให้คล้อยตาม พรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่สุดท้ายแล้ว พรรคพลังประชารัฐ จะเอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ คงจะได้เห็นกันแต่ กับการทำงานของกรรมาธิการชุดนี้ ที่ฝ่ายรัฐบาลกุมเสียงข้างมากในกรรมาธิการไว้ร่วม 31คน จาก 49คน
การเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ผ่านกรรมาธิการขุดนี้ เพื่อให้นำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะผ่านฉลุยหรือสะดุด ก็ต้องตามดูต่อไป