“วราวุธ” เผยรัฐบาลเตรียมออกยาแรงคุมฝุ่น PM 2.5 ถามประชาชนรับได้หรือไม่ ยกเกาหลีใต้ประกาศห้ามรถวิ่งในเมือง
วันนี้ (14 ม.ค.) เมื่อเวลา 08.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น ว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม มีนโยบายต่างๆ ออกมาทั้งการขอความร่วมมือประชาชนและเปลี่ยนมาตรฐานของเครื่องยนต์ รถประจำทาง จึงทำให้สถานการณ์ไม่เลวร้าย ซึ่งในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ปลัดกระทรวงฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมมลพิษจะประชุมเพื่อหามาตรการหายาที่แรงขึ้นเพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และจอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ทั้งนี้ ขอเรียนให้ประชาชนได้ทราบว่าปัญหา PM 2.5 จำนวน 72 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ กทม.มาจากยานพาหนะ ซึ่งเป็นรถบรรทุกกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์มาจากรถกระบะ ภาคอุตสาหกรรม 18 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือมาจากรถยนต์ประเภทอื่นๆ จึงต้องถามไปยังสังคมว่าหากรัฐบาลออกมาตรการเข้มงวดจะรับได้หรือไม่
“ส่วนมาตรการเข้มงวด หรือยาแรง ที่จะออกมาบังคับใช้ยังไม่ขอเปิดเผย แต่ต้นเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาจากรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นรถบรรทุกและรถกระบะเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างยาแรงประเทศเกาหลีใต้ ได้มีมาตรการที่เข้มงวด เช่น ประกาศห้ามรถยนต์วิ่งในเขตเมือง เป็นต้น รวมถึงสภาพอากาศก็มีส่วน เนื่องจากต้นปีสภาพความกดอากาศต่ำ ทำให้การเคลื่อนตัวของอากาศน้อยลง ในขณะที่ฝุ่น PM 2.5 มีปริมาณเท่าเดิม และพอไปถึงช่วงกลางปีปริมาณ PM 2.5 ก็จะลดลง จึงต้องถามสังคมว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะเรารู้ต้นตอของปัญหาแล้ว ดังนั้นมาตรการเข้มงวดจะดำเนินการเป็นห่วงเวลาที่คับขันเท่านั้น โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีปัญหาการเผาไหม้ ซึ่งจะจัดระบบการเผาในห้วงต้นปี อีกทั้งมาตรการต่างๆจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากต้องประกาศสภาวะฉุกเฉินก่อน จึงเกิดข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นจะต้องมาพิจารณาร่วมกันในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก่อนจะเกิดปัญหาได้หรือไม่ เพื่อใช้มาตรการเข้มงวดก่อนปัญหาจะเกิดขึ้น” นายวราวุธกล่าว
นายวราวุธกล่าวอีกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับไปยังกรมการขนส่งมวลชนในเรื่องการตรวจจับควันดำและรถยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐานและเข้มงวดการตรวจสภาพรถประจำปี อย่างไรก็ตาม เรามีการแจ้งเตือนประชาชนทุกระยะในเรื่องการดูแลสุขภาพ อีกทั้งประชาชนก็ยังตื่นตัว