xs
xsm
sm
md
lg

กสม.เปิดหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษา-คู่มือการสอน นร. “วิษณุ” เชื่อไม่ทำให้หัวแข็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม.จัดสัมมนา พร้อมเปิดตัวหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษา-คู่มือการสอนนักเรียนทุกช่วงวัย มือกฎหมายรัฐบาลเชื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้คนเข้าใจ-สามัคคีกันมากขึ้น มั่นใจการสอนสิทธิไม่ทำให้คนหัวแข็ง

วันนี้ (13 ม.ค.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “การเผยแพร่และการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษา” โดยนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม.กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยดำเนินการผ่านการจัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนในประเทศแล้ว 3 ฉบับ รวมไปถึงการที่รัฐบาลได้ประกาศ “วาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ทั้งนี้การจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษามีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย คือ 1. หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาพื้นฐาน สำหรับฝึกอบรมบุคลากรภาครัฐ นิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป 2. หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในกระบวนการยุติธรรม สำหรับผู้พิพากษา พนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง 3. หลักสูตรธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนต่างๆ เพื่อให้เห็นประโยชน์ ตระหนักถึงความสำคัญ และเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจ ที่เคารพสิทธิมนุษยชน 4. หลักสูตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง เพื่อให้นักบริหารระดับสูงนำความรู้ไปขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ ตลอดจนสร้างแนวปฏิบัติให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนแก่บุคคลในองค์กร และผู้มีส่วนได้เสียในสังคม นอกจากนั้นยังมีการจัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ครูใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้านสิทธิมนุษยชน โดยยึดโยงกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม รวมทั้งสิ้น 5 ช่วงชั้น ได้แก่ ระดับประถมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย รวมถึงการปลูกฝังเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแทรกไปในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย


โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาเรื่อง “สิทธิมนุษยชนศึกษา กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมไทย” ตอนหนึ่งว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ได้รับมาตั้งแต่เกิด เป็นสิทธิที่มีมาตามธรรมชาติ ซึ่งสิทธิมนุษยชนต้องมีอยู่ แม้จะมีหรือไม่มีกำหนดไว้ในกฎหมายก็ตาม เพราะสิทธิมนุษยชนอยู่คู่ความเป็นมนุษย์ โดยสิทธิมนุษยชนแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ สิทธิมนุษยชนทางแพ่งและการเมือง และสิทธิมนุษยชนทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้เมื่อที่เกิดความรู้สิทธิของตัวเองก็จะทำให้เกิดความรู้สึกหวงแหน ใครจะพรากจากเราไปไม่ได้ ซึ่งวันนี้รัฐได้มีการส่งเสริมให้มีการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนทุกช่วงวัย ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ซึ่งจะต้องไม่ใช่ยึดตามตำราเท่านั้นแต่ต้องมีการปฏิบัติด้วย โดยการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนต้องทำความเข้าใจตลอดชีวิต ทั้งนี้ที่น่าสนใจคือหลักสูตรมนุษยชนศึกษาสำหรับเด็กอนุบาล ซึ่งถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการให้ความรู้เรื่องสิทธิ โดยจะต้องสอนให้เด็กเข้าใจ จะต้องออกแบบการสอนเหมือนการสอนเรื่องศีล 5 ที่เมื่อสอนเด็กเรื่องศีลข้อ 1 ต้องไม่สอนว่าศีลข้อ 1 คือการห้ามฆ่าสัตว์ แต่ต้องสอนว่าการฆ่าและการทำร้ายสัตว์เป็นเรื่องที่ผิด เพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจ เมื่อเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้วก็จะเกิดความรัก ความหวงแหน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการกว่า 30,000 แห่ง มีบุคลากรทางการศึกษากว่า 400,000 คน และมีเด็กในระบบการศึกษากว่า 7,000,000 คน ทั้งนี้ หากคนเหล่านี้มีโอกาสรับรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาก็จะทำให้เกิดความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีหลักสูตรสำหรับบุคลากรภาครัฐ นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ผู้พิพากษา พนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตามการพัฒนาหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษา เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 16 ด้าน ตามกรอบขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งเป็นวาระโลกที่ทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ให้คำมั่นร่วมกันในการไปสู่เป้าหมายในปี ค.ศ.2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นการจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในครั้งนี้จะเป็นอีกบันใดขั้นหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นใน 10 ปีข้างหน้า

“การสอบเรื่องสิทธิมนุษยชนบางคนบอกว่าจะทำให้คนหัวแข็ง เพราะรู้มาก แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะหากสอนในทางที่ถูกต้อง ให้เข้าใจว่าเราเป็นมนุษย์ ซึ่งมีสิทธิมนุษยชนและมีสิทธิหน้าที่ของตน ขณะที่คนอื่นก็มีสิทธิมนุษยชน และมีสิทธิหน้าที่ของเขาเช่นเดียวกันกับเรา ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้เกิดความสามัคคี การอยู่ร่วมกันฉันท์มิตร เข้าอกเข้าใจกัน เกรงใจและรักใคร่กัน ดังนั้นการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้องจะนำไปสู่เป้าหมายนี้”

จากนั้น นายวิษณุได้เป็นตัวแทนในการส่งมอบคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เป็นต้วแทนรับมอบ นอกจากนั้นยังได้ส่งมอบหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาทุกกลุ่มเป้าหมาย ให้แก่ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น