“รังสิมา” จี้ กมธ.แจงเหตุตัดงบกรมวิชาการเกษตรฯ 600 ล้าน มากกว่ากรมอื่น ทั้งที่ทำงานเพื่อเกษตรกร ด้าน กมธ.เสียงข้างน้อยแฉเช่าคอมพ์เเพงหูฉี่ 5 ปี 3 แสน ต้องหั่น 50 เปอร์เซ็นต์ มั่วเอกสารตั้งตัวเลขหลอก กมธ. “ธาดา” โวย กมธ.ฝ่ายรัฐบาลพลาดปล่อยให้ถูกตัด ไม่ยอมแปรงบคืน
วันนี้ (9 มิ.ย. 63) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 มาตรา 14 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 31,644,475,100 บาท โดยนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ชี้แจงการตัดงบประมาณของกรมวิชาการเกษตร ว่าได้พบข้อผิดปกติเยอะมาก ตั้งงบรั่วไหล ขอดูทีโออาร์การจัดซื้อจัดจ้างก็ไม่ให้ดู อาทิ กรณีการเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งสำนักงบประมาณแจ้งว่า ค่าจัดซื้อเพียง 1.7 หมื่นบาท แต่ทางกรมใช้วิธีเช่า ปีละ 6 หมื่นบาท รวม 5 ปีเท่ากับ 3 แสนบาท ต่อเครื่อง ถามว่าจัดซื้อจัดจ้างแบบนี้ได้อย่างไร แม้แต่ กมธ.ซีกรัฐบาลก็เห็นตรงกันว่าทำไมเป็นแบบนี้ สรุปว่าเป็นการตั้งราคาสูงกว่าราคาจริง ไร้ประสิทธิภาพ เปลืองภาษีอากรประชาชนขณะที่สำนักงบประมาณระบุว่า ตั้งงบมาก่อนและเปลี่ยนเเปลงที่หลังได้ แต่ตนรับไม่ไหวกับการตั้งงบแบบนี้ จะปล่อยให้ทำต่อไปอีกไม่ได้
ด้าน น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ได้ถามถึงเหตุผลที่ กมธ.ตัดงบกรมวิชาการเกษตร จากเดิม 1,500 ล้านบาท เหลือ 899 ล้านบาท ตัดไป 600 ล้านบาท มากกว่าหน่วยงานอื่น ทั้งๆ ที่กรมวิชาการเกษตรมีความสำคัญในการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรจำนวนมาก ตัดงบเช่นนี้ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ข้าราชการไม่ได้เดือดร้อน อยากทราบว่าเหตุใดจึงต้องตัดงบกรมวิชาการเกษตรมากมายขนาดนี้
ขณะที่นายวรวัจน์กล่าวว่า เหตุที่มีการตัดงบกรมวิชาการเกษตรกว่า 600 ล้านบาท เนื่องจากพบว่ามีการเช่าคอมพิวเตอร์ 3 แสนบาทต่อ 5 ปี อยากถามว่ารับได้หรือไม่ กมธ.ชุดนี้ตัดงบน้อยมาก ถ้าไม่พบการทุจริตที่ชี้แจงไม่ได้ก็ไม่ตัด เมื่อกรมวิชาการเกษตรตอบไม่ได้ว่าเหตุใดค่าเช่าคอมพิวเตอร์ถึงเป็น 3 แสนบาท ทั้งที่ค่าซื้อเพียงแค่ 1.7 หมื่นบาท เมื่อการทำงานไม่โปร่งใส ตอบ กมธ.ไม่ได้ก็ไม่มีใครกล้าให้งบ เพราะมีความผิดปกติเกินจริงเป็น 10 เท่า น.ส.รังสิมาจึงถามกลับว่า หากตัดเฉพาะเรื่องค่าคอมพิวเตอร์ออกไปก็ไม่ถึง 600 ล้านบาท ทำไมตัดต้องตัดทั้งหมด จะตัดก็ควรตัดเฉพาะคอมพิวเตอร์ทิ้งเพียงอย่างเดีว ซึ่งนายวรวัจน์สวนกลับทันทีว่า กมธ.อยากจะตัดเยอะกว่านี้ ขอบอกว่างบปีนี้มีปัญหาอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ผิดปกติมากที่สุด กมธ.เสียงข้างน้อยอยากจะตัดมากที่สุด แต่ กมธ.เสียงข้างมากไม่ให้ตัด เพราะเห็นการรั่วไหลแล้ว แต่ตัดไม่ได้ เราก็อึดอัด
ด้านนายภราดร ปริศนานันทกุล ในฐานะ กมธ.ชี้เเจงว่า อธิบดีกรมวิชาการเกษตรชี้เเจง กมธ.ว่า ค่าเช่าคอมพิวเตอร์ตกปีละ 6 หมื่นบาท แต่ราคากลางอยู่แค่ 3 หมื่นบาท เดิมในเอกสารงบประมาณ กรมวิชาการเกษตร ชี้แจง กมธ.ว่า ค่าเช่าคอมพิวเตอร์ตกเครื่องละ 5 พันบาทต่อเดือน แต่เมื่อ กมธ.สงสัยซักถาม และให้กลับไปทบทวนใหม่ กรมวิชาการเกษตรก็ไปแก้ไขเอกสารกลับมาใหม่เหลือเพียงเครื่องละ 800 บาทต่อเดือน โดยให้เหตุผลว่าเอกสารชุดเเรกที่ให้มานั้นผิด ถ้า กมธ.ไม่ตรวจเจอ แสดงว่าต้องผิดเลยไปตามเลยใช่หรือไม่ กรมวิชาการเกษตรจะมาตั้งงบหลอก กมธ.แบบนี้ได้อย่างไร นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดจึงต้องตัดสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการตัดในภาพรวมไม่ใช่ตัดเฉพาะโครงการใดโครงการหนึ่ง
ขณะที่นายชาดา ไทยเศรษฐ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นอภิปรายว่า การตัดงบประมาณของกรมวิชาการเกษตรออกไป 600 ล้านบาท ถือเป็นความล้มเหลวของ กมธ.ฝ่ายรัฐบาล แม้ในชั้นอนุ กมธ.จะเห็นว่างบประมาณในส่วนนี้ไม่ถูกต้อง และจะตัดทิ้งก็ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แม้ กมธ.คณะใหญ่จะแพ้ก็เป็นไร แต่สิ่งที่จะต้องทำก็คือ แกนนำฝ่ายรัฐบาลจะต้องแปรญัตติโดย ครม.กลับคืนมาให้กับกรมวิชาการเกษตรเพื่อให้สามารถทำงานได้ จะแปรญัตติคืนไม่ถึงงบที่ถูกตัดไปก็ได้ แต่นี่ไม่มีเลย ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้ากรมวิชาการเกษตรทำงานไม่ได้ก็กระทบรัฐบาล ในความเห็นส่วนตัวจึงเห็นว่า กมธ.ฝ่ายรัฐบาลทำงานผิดพลาดอย่างมหันต์ในเรื่องนี้ เพราะไม่ได้ยอมทำหน้าที่ที่สมควรจะทำ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามเนื้อหาที่กรรมาธิการฯ แก้ไขมาตรา 14 ด้วยคะแนน 245 ต่อ 2 งดออกเสียง 9 ไม่ลงคะแนน 3 เสียง
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงการแสดงตนที่เกือบให้องค์ประชุมไม่ครบและสภาฯ ต้องล่มว่า ถือเป็นเรื่องที่พอรับได้ มีเสียงที่เกินกึ่งหนึ่งและยังถือว่าสภาฯ ยังเดินหน้าได้ต่อ อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับว่าในเวลาการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ทางวิปรัฐบาลอยู่ระหว่างหารือกับวิปฝ่ายค้าน หลังจากที่มีผู้เสนออย่างไม่เป็นทางการจากฝ่ายค้านให้พักการประชุมหลังจากที่พิจารณาและลงมติร่างมาตรา 15 แล้วเสร็จ ทั้งนี้วิปรัฐบาลยังยืนยันว่าการพิจารณาจะดำเนินต่อไปและพิจารณาไปจนถึงวันที่ 10 มกราคม เวลา 15.00 น.