xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ พระปกเกล้า ชี้แก้ รธน.ต้องไม่เป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ แนะแก้ระบอบเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า (แฟ้มภาพ)
กมธ.แก้ รธน.เผยเตรียมประชุมเปิดให้แสดงความเห็นถึง รธน. เลขาฯ พระปกเกล้า ย้ำการแก้ รธน.ต้องไม่กลายเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ แนะเริ่มแก้ที่ระบอบเลือกตั้ง เหตุเป็นปัญหาร่วมเชิงประจักษ์

วันนี้ (6 ม.ค.) นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การประชุมครั้งต่อไปของกรรมาธิการฯ วันที่ 14 และ 17 ม.ค. โดยครั้งนี้จะเปิดกว้างให้ทุกคนได้แสดงความรู้สึก ความเห็น มองปัญหารัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร รวมถึงจุดยืนอยากให้มีการแก้ไขหรือปรับปรุงเรื่องอะไร แม้ในกรอบจะเขียนว่าเป็นการศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติจริงต้องพูดถึงสาระ ไม่เช่นนั้นจะทำได้ยาก และส่วนตัวเห็นว่าแนวทางการแก้ไข ต้องวางหลักว่าทำแล้วต้องเกิดประโยชน์มากขึ้นกับสังคม ที่สำคัญคือต้องไม่ก่อความขัดแย้งใหม่ ไม่ก่อความเห็นที่แตกต่างจนเกิดวาทกรรมในสังคม กลายเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่

นายวุฒิสารยอมรับว่า เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจทำให้การแก้ไขทได้ยากขึ้น ซึ่งกระแสในขณะนี้มีสองส่วนคือ ต้องการแก้ไขเพื่อร่างใหม่ และต้องการแก้ในสาระที่เป็นปัญหาเชิงประจักษ์จากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประธานกรรมาธิการฯจะนำการประชุมไปอย่างไร แต่หัวใจสำคัญจำเป็นต้องรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ทุกคนต้องไม่อยู่ในฐานะรักษาเป้าหมายของตัวเอง แต่ต้องมองถึงจุดที่เป็นปัญหาร่วมกันที่จะทำให้รัฐธรรมนูญดีขึ้น เช่น ระบบเลือกตั้งที่เป็นปัญหา ทั้งกระบวนการนับคะแนน วิธีการต่างๆ ให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่เป็นที่สงสัย ก็สามารถทำได้เลย ซึ่งถ้านับเต็มที่ก็ 4 ปี หรือหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก่อนก็จะทำให้มีกติกาใหม่ที่จะทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นการเลือกตั้งที่เข้าใจได้ คนคุ้นเคย และไม่ก่อให้เกิดปัญหา เรื่องเหล่านี้สามารถทำได้เลย โดยเสนอเข้าสู่สภาฯพิจารณา แต่ก็ขึ้นอยู่กับจุดยืนของพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งจุดยืนจริงๆที่จะตัดสินก็คือการหารือร่วมกันทางการเมือง

นายวุฒิสารยังระบุถึงประเด็นจะต้องมีการทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ขึ้นอยู่กับมาตรา 256 ที่บัญญัติว่าแก้บางเรื่องต้องทำประชามติ เช่นแก้เรื่องวิธีการแก้ไข แก้เรื่องที่มา อำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ แต่เงื่อนไขของการแก้รัฐธรรมนูญมีการเพิ่มเติมความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 3 ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา เพราะไม่ใช่เรื่องของเสียงข้างมากโดยประมาณ แต่เป็นเสียงข้างมากของสองสภา ดังนั้นการรับฟังความเห็นของวุฒสภาก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการลงมติจะต้องมีความเห็นของ ส.ว.ด้วย ซึ่งกรรมาธิการมีหน้าที่เสนอวิธีให้สภาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ส่วนประเด็นหากไม่เริ่มต้นแก้ที่มาตรา 256 เนื่องจากมีบางประเด็นที่ไม่ต้องทำประชามติ นายวุฒิสารกล่าวว่าสามารถทำได้ ถ้าจะแก้ 256 ข้อเสนอแบบร่างใหม่ทั้งฉบับ หรือคงจะบางหมวด เช่นการที่ระบุจะมี สสร. ก็ต้องแก้มาตรา 256 และต้องทำประชามติ แต่หากแก้บางประเด็นที่เป็นปัญหาที่ปรากฎชัดแล้วในการดำเนินตามรัฐธรรมนูญในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เช่นการนับคะแนน คะแนนจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ถ้ากรรมาธิการฯอยากจะให้แก้ ก็สามารถเสนอให้ดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องไปแก้มาตรา 256 และไม่จำเป็นต้องไปทำประชามติ อย่างไรก็ตามก็ต้องใช้เสียง ส.ว.1 ใน 3 หรือ 84 คนเห็นชอบ ดังนั้น กระบวนการทุกอย่างต้องเป็นการสนทนาหารือกัน และต้องเป็นการทำงานที่เป็นข้อตกลงร่วม จึงจะดำเนินการได้

“กรรมาธิการวิสามัญฯ คงตัดสินไม่ได้ว่าให้แก้อะไร คิดว่าเป็นทางเลือก ถ้าจะแก้ ที่จะมีข้อเสนอที่แก้เพื่อทำให้กติกา ให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นกติกาที่สากล และเป็นกติกาที่ทุกคนยอมรับ ทุกพรรคการเมืองยอมรับก็แก้ได้เลย แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาด้วย เพราะอย่างไรก็ต้องเข้าสู่รัฐสภา ทั้งหมดนี้ เป็นความเห็นส่วนตัว ต้องไปคุยกับทั้ง 49 ท่าน ว่าอะไรที่เป็นข้อตกลงร่วม แต่จุดยืนที่สำคัญมาก ข้อเสนอใดๆต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งใหม่ ต้องไม่ทำให้สังคมมีปัญหาแล้วกลายเป็นการตั้งป้อม และวิวาทะทางการเมืองอีก เราควรกลับมามองหาทางออกที่จะทำให้บ้านเมืองเดินได้ ประชาธิปไตยเดินได้ หลายเรื่องต้องตรวจสอบทางวิชาการถึงความเหมาะสม”

ส่วนเสียงสะท้อน ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขโดยเฉพาะประเด็นที่มาของ ส.ว. และในบทเฉพาะกาลนั้น นายวุฒิสารระบุว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละฝ่าย ต้องเข้าใจว่าทุกคนที่มานั่งกรรมาธิการฯ มีจุด หรือสถานะของตัวเอง เช่น จากพรรคการเมือง ดังนั้นข้อเสนอที่พูดกับประชาชนข้อเสนอที่พูดไว้ในทางการเมือง หรือสาธารณะ เป็นเรื่องที่ต้องเสนอ แต่ในข้อยุติมันไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น เพราะขึ้นอยู่กับว่าข้อเสนอเหล่านั้นเป็นไปได้จริงหรือไม่ ถ้าต้องการให้เกิดความเป็นไปได้ เราจะชนะทุกอย่างไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นจะต้องรอ เพราะกรรมาธิการประชุมครั้งแรกครั้งเดียว ต้องรอหลังได้ฟังความเห็นของทุกฝ่าย น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น สำหรับที่มาของ ส.ว. โดยระบบปกติที่ทดลอง 50 คน ก็พอจะประเมินได้ว่าวิธีการนี้เหมาะสม ทำได้จริงหรือไม่จริงอย่างไร มีข้อมูลเชิงประจักษ์ สำหรับครั้งต่อไปเรื่องของการจะไปแก้บทเฉพาะกาลคิดว่าทุกคนน่าจะเข้าใจว่าทำได้ไม่ง่าย โดยตนมองว่าควรจะแก้เพื่ออนาคต แต่ถ้าแก้เพื่อปัญหาปัจจุบันนั้นทำได้ยาก


กำลังโหลดความคิดเห็น