xs
xsm
sm
md
lg

แรงจัด! “เจิมศักดิ์” หนุนโละ “6 บิ๊ก ขรก.” นั่งส.ว. ประเคนหมัดตรง 7 เหตุผล โดนทั้งนั้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เจิมศักดิ์” แรงจัด ขานรับแนวคิด “ชวน” หนุนแก้ไข รธน. “โละ 6 บิ๊ก ขรก.” ออกจาก ส.ว. ยกเหตุผลสำคัญ ไม่เป็นธรรมกับข้าราชการอื่น ผลประโยชน์ขัดกัน และขัดหลักประชาธิปไตยสากล

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(3 ม.ค.63) เฟซบุ๊ก เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ของ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) โพสต์ข้อความ ระบุว่า

“ความเห็นของประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ที่ได้มีข้อเสนอแนะว่า ควรแก้รัฐธรรมนูญโดยตัดสมาชิกวุฒิสภา 6 ตำแหน่งที่มาจากข้าราชการประจำออกไปจากสมาชิกวุฒิสภา จึงเป็นความเห็นที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง หากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งนี้เพราะ

1.ตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่างเป็นข้าราชการประจำ เฉกเช่นเดียวกับปลัดกระทรวงและอธิบดีอื่น ๆ

ข้าราชการประจำ 6 ตำแหน่งนี้ ไม่ควรทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบฝ่ายบริหาร และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกรรมการในองค์กรอิสระ ทั้งนี้เพราะเป็นข้าราชการประจำ ต้องทำตามนโยบายของฝ่ายการเมือง และต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ

การที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ข้าราชการประจำเฉพาะ 6 ตำแหน่งนี้ เป็นสมาชิกวุฒิสภา จึงเป็นผลประโยชน์ขัดกันระหว่างตำแหน่งและหน้าที่

2.การให้ความสำคัญกับ 6 ตำแหน่งเป็นพิเศษ ย่อมก่อให้เกิดความแตกต่างและแปลกแยกกับข้าราชการในระดับเดียวกันของกระทรวง ทบวง กรมอื่น ที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน และเป็นการเลือกปฏิบัติหลายมาตรฐาน

3.การอ้างว่า บุคคลใน 6 ตำแหน่ง มาอยู่ในวุฒิสภาจะเป็นการป้องกันการทำรัฐประหารก็ฟังไม่ขึ้น เพราะหาก ผบ.เหล่าทัพเหล่านี้จะยึดอำนาจก็สามารถทำได้

ข้ออ้างที่ว่า มาทำหน้าที่ในวุฒิสภาจะได้ชี้แจงกำลังพลให้เข้าใจถูกต้อง ก็ยิ่งฟังไม่ขึ้น เพราะการไม่ได้สวมหมวก 2ตำแหน่ง ก็สามารถชี้แจงกำลังพลให้เข้าใจได้อยู่แล้ว

กำลังพลมีสติปัญญาสามารถขวนขวายหาข้อมูลด้วยความรักชาติรักแผ่นดิน โดยไม่ต้องรอจากคน 6 ตำแหน่งนี้ก็ได้

4.การให้ข้าราชการ 6 ตำแหน่ง ดังกล่าวรับเงินเดือน 2 ทาง ทั้งเงินเดือนของข้าราชการประจำ และเงินเดือนค่าตอบแทนของสมาชิกวุฒิสภา เป็นการไม่เหมาะสม แล้วยังมีค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วย ส.ว. รวมกัน 8 คน ต่อ ส.ว.หนึ่งคนอีกด้วย

5.ประชาชนจะขาดความเลื่อมใสศรัทธา ที่ คสช.อันประกอบไปด้วยบุคคลทั้ง 6 ตำแหน่งสืบอำนาจไปอยู่ในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา กลับมามีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี และให้ความเห็นชอบในองค์กรอิสระ จะถูกกล่าวหาได้ว่า เป็นรัฐซ้อนรัฐ โดยรัฐทหาร

6.รัฐธรรมนูญ 2540 และ รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ยึดหลักสำคัญว่า ข้าราชการประจำที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร ไม่สมควรไปเป็นสมาชิกวุฒิสภาเพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหาร

จึงได้กำหนดให้ข้าราชการที่ปรารถนาจะลงสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา ต้องลาออกจากราชการเสียก่อน โดยไม่มีข้อยกเว้น ผมเองในฐานะข้าราชการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ยังต้องลาออกก่อนเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี 2543

7.สมาชิกวุฒิสภาในชุดปัจจุบันบางคนที่ออกมาโต้แย้งความเห็นของประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย เพราะเกรงว่าหากแก้ไขประเด็น 6 ตำแหน่งได้ ก็อาจจะแก้ไขอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในส่วนอื่นได้ เป็นการคิดแต่ประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นที่ตั้ง โดยมิได้คำนึงถึงหลักการในการบริหารประเทศและผลประโยชน์ของส่วนรวม.

ภาพ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง จากแฟ้ม
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้(2 ม.ค.63) เฟซบุ๊ก สมชัย ศรีสุทธิยากร ของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็โพสต์ ข้อความ เรื่องนี้เช่นกัน โดยระบุว่า

“การออกแบบ ส.ว. ที่ให้มีข้าราชการประจำ 6 คนมาเป็น ส.ว.โดยตำแหน่งนั้น มีประเด็นที่น่าพิจารณาหลายประการ

1) 6 ส.ว. ที่มาโดยตำแหน่งการเป็น ผบ.ของหน่วยคุมกำลังต่างๆ เช่น ทบ. ทร. ทอ. สส. ตร. และ ปลัดกลาโหม ทั้งๆที่คนเหล่านี้เป็นข้าราชการประจำ และศักดิ์ศรีมิได้แตกต่าง กับ ปลัดกระทรวงอื่น หรือ ตำแหน่งเทียบเท่าปลัดกระทรวงอีกมากมายที่ล้วนแล้วแต่สำคัญไม่น้อยเช่นกัน

2) 6 ส.ว. ดังกล่าว จึงเป็นเหมือนอภิสิทธิ์ชน ที่นั่งสองเก้าอี้ รับเงินเดือนสองทาง ข้ามเส้นแบ่งไปมาระหว่างข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ และ ด้วยความสำคัญของงานประจำ จึงเชื่อว่า จะไม่สามารถทำงานในหน้าที่ ส.ว.ได้อย่างเต็มที่และเต็มเวลา

3) การอ้างเหตุการณ์ดำรงตำแหน่งของ 6 ส.ว. ว่าเป็นการออกแบบมาเพื่อป้องกันการรัฐประหาร จึงไร้เดียงสายิ่ง เพราะจะอยู่นอกหรือในสภา หากคุมกำลังก็สามารถทำการรัฐประหารได้ ในอดีต ขนาดนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มยังรัฐประหารตัวเองเพราะเบื่อสภาได้

4) ข้อเสนอของ ประธานสภา ชวน หลีกภัย ที่ให้ทบทวน 6 ส.ว. ที่มาจากข้าราชการประจำ จึงเป็นข้อเสนอบนการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เป็นสากล ที่มุ่งให้มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างข้าราชการประจำและฝ่ายการเมืองที่สมควรนำมาพิจารณายิ่ง

การทบทวนควรตั้งอยู่บนหลักเหตุและผล อย่าหลับหูหลับตาเชียร์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนลืมสิ่งที่เป็นหลักการ หรือมาบอกให้ทนๆแค่ 5 ปี

แต่ละวัน แต่ละเดือนที่ผ่าน ประเทศล้วนมีต้นทุนที่ต้องจ่ายครับ

ขณะเดียวกัน(2 ม.ค.62) มีความเห็นต่างจาก นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ข้อเสนอเหล่านี้สามารถเสนอได้ แต่ก็ต้องดูบริบทว่ารัฐธรรมนูญเดิมที่เขียนไว้แบบนี้ต้องการให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพ 6 คนดังกล่าวมีบทบาทอย่างไร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ความมั่นคง เข้ามามีส่วนในการดูแลความเรียบร้อยของประเทศ โดยข้อเสนอนี้ต้องระวัง เพราะหาก ส.ว.ไปรับลูกหรือเห็นด้วย อาจลามไปอำนาจหน้าที่อื่นของ ส.ว.ด้วย

เนื่องจากในการแก้ไขต้องมีการแปรญัตติ หากมีการสงวนความเห็นว่าไม่เอา 6 คนนี้ ก็อาจเปลี่ยนไปทั้งหมดได้ ส.ว.จึงต้องระวัง ซึ่งการที่ตนออกมาพูดอย่างนี้ ก็ไม่ใช่เป็นการหวงอำนาจ แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้แค่ 5 ปี ถ้าทำแบบนี้เป็นการยึดอำนาจ ส.ว. หรือเปล่า

เพราะอาจจะมีคนอื่นแปรญัตติอย่างอื่น ยึดอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ไปหมดเลย ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดในเวลา 5 ปี ถ้าจะแก้อะไร เสนอแก้อะไร อย่าแตะหมวด ส.ว. ก็จะทำงานง่ายขึ้น เพราะทั้ง 6 คน อยู่แค่ 5 ปี ไม่ได้ยาวนาน และผ่านมา 2 ปีแล้ว

นอกจากนี้ ความเห็นที่น่ารับฟังอย่างยิ่ง ก็คือ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 ม.ค.ว่า ก็ว่ากันไป เป็นเรื่องของนายชวนที่เสนอ ต้องไปถามท่าน ตนไม่มีความคิดเห็นในเรื่องนี้ และเป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะแก้ไขอะไรได้หรือไม่อย่างไร ตนไม่ได้ไปเกี่ยวข้องตรงนี้ เป็นเรื่องของกรรมาธิการไปศึกษา ว่ากันไปตามกระบวนการ

ด้าน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเช่นกันว่า แล้วแต่สภา เป็นความคิดของนายชวน

แต่เหตุผลของ คสช.ที่ได้มีการเสนอ ผบ.เหล่าทัพเป็น ส.ว.ด้วยนั้น เพราะจะได้ติดตามงานในสภา เพื่อที่จะได้นำเรื่องราวในสภามาบอกต่อลูกน้องในแต่ละเหล่าทัพให้ทราบว่ากิจการในสภาเป็นอย่างไร และทำงานร่วมกับส.ส.และ ส.ว. ส่วนจะแก้ไขก็แล้วแต่สภา เพราะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายทหาร และไม่ต้องมีการพูดคุยกับ ผบ.เหล่าทัพ

ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวสามารถทำได้ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนี้ก็สามารถเสนอผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 2560 เพื่อพิจารณา ซึ่งหากคณะกรรมาธิการฯ ไม่เห็นด้วยความเห็นก็ตกไป แต่หากเห็นด้วยก็สามารถเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาหาแนวทางดำเนินการอย่างไร เช่น เสนอเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเสนอมายังรัฐบาล โดยในชั้นกรรมาธิการนี้สามารถเสนอข้อแก้ไขได้ทั้ง 276 มาตรา

นับเป็นกระแสกดดันที่พุ่งเข้าหา ส.ว.อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ ส.ว.เคยตกเป็นเป้าว่าจะถูกแก้ไขเกี่ยวกับอำนาจ เพราะมีอำนาจในการ “เลือกนายกรัฐมนตรี” ด้วย จนถูกตั้งคำถามจากส.ส.ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ส.ว.ปัจจุบัน ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง หรืออาจพูดได้ว่า มาจากการแต่งตั้งของ “คสช.” จึงไม่ควรมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี

มาครั้งนี้ เป็นการเจาะเกราะ “กล่องดวงใจ” ของ “คสช.” กันเลยทีเดียว คือ โละข้าราชการประจำฝ่ายความมั่นคง 6 ตำแหน่ง ซึ่ง คสช.เสนอให้เข้ามานั่งใน ส.ว. ก็ยิ่งส่งสัญญาณชัดขึ้น ว่า ต้องการตัดแขนขา “คสช.”

เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่ง่ายอยู่แล้ว ยิ่งไม่ง่ายเข้าไปใหญ่ เพราะอย่าลืม แม้การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ยาก แต่การจะผ่านแต่ละวาระนั้น ต้องใช้เสียงส.ส. บวก ส.ว.ด้วย หรือว่า นี่เองที่ “เสรี” บอกเป็นนัยว่า “อย่าแตะส.ว.” เพราะ ส.ว.ก็คือ ตัวตัดสินว่าจะแก้ไขสำเร็จหรือไม่ นั่นเอง

ไม่แปลก ที่พรรคอนาคตใหม่ เดินแผนหนึ่งคู่กับแผนสอง คือ การเมืองลงถนนเอาไว้แล้ว อยู่ที่กระแสต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แรงแค่ไหน และทางตันในสภาฯเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแทบไม่อยากคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น