“อมรัตน์” ส.ส.อนาคตใหม่ เล่นแรง จวกเผยตัวตนเป็นแค่ศาลการเมือง ไม่แยแสสถิตยุติธรรม แถมกล่าวหาเป็น “ศาลเตี้ย” เรียกร้องวิพากษ์วิจารณ์และขับไล่ได้
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(25 ธ.ค.62) เฟซบุ๊ก Amarat Chokepamitkul ของ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ข้อความอันร้อนแรง ระบุว่า
"เผยตัวตนเป็นแค่ศาลการเมือง
ไม่แยแสเรื่องสถิตยุติธรรม
ประชาชนควรวิพากษ์วิจารณ์ไปจนถึงขับไล่ได้"
#ศาลเตี้ย
และโพสต์ดังกล่าว ยังถูกนำไปเผยแพร่ในเครือข่ายออนไลน์ของ “พรรคอนาคตใหม่” เช่น การเมืองไทย ใน กะลา ศูนย์ประสานงานพรรคอนาคตใหม่จังหวัดนครปฐม
สำหรับ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล รู้จักกันในกลุ่มคนเสื้อแดงคือ “เจี๊ยบ นครปฐม” บิดาคือ “กำนันหัวโต” คนดังแห่งนครปฐม และเคยสนับสนุนนายทักษิณ ชินวัตร
นางอมรัตน์ จบการศึกษา บัญชีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสบการณ์ที่น่าสนใจ เป็น ประธานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต.นครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นนักธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน(เจ้าของปั๊มน้ำพีที สวนตะไคร้) และเป็นนักกิจกรรมประชาธิปไตย โดยก่อนได้รับเลือกตั้งเป็นแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จังหวัดนครปฐม ถือเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่
ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้ นางอมรัตน์ ถึงขั้นเบรกแตก โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ศาลอย่างรุนแรง อาจเนื่องมาจากพักหลัง พรรคอนาคตใหม่ ถูกโหมกระหน่ำด้วย “มรสุมยุบพรรค” อย่างน้อย 2 คดี
คือคดี ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากมีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์-ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
และคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยื่นคำร้องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีเงินกู้ 191 ล้านบาท ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคอนาคตใหม่ กู้เงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องเอาไว้วินิจฉัยเรียบร้อย
ความผิดที่วิเคราะห์กันก็คือ กลัวว่าจะมีนายทุนครอบงำพรรค หรือ ป้องกันทุนสามานย์ครอบงำพรรคการเมือง เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวนั่นเอง
ยิ่งกว่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่รับฟ้องคดีที่พรรคอนาคตใหม่ฟ้อง กกต.ฐานเร่งรัดคดีหุ้นสื่อ(ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ธนาธรพ้นสภาพส.ส.ไปแล้ว)โดยมิชอบ ด้วย นี่คือ ประเด็น
ความจริง ไม่แต่นางอมรัตน์ เท่านั้น ที่ไม่พอใจเรื่องนี้ เพราะที่รัฐสภา(25 ธ.ค.62) “ช่อ” น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ก็ยังให้สัมภาษณ์ถึงกระแสยุบพรรคอนาคตใหม่ ว่ามีใบสั่งเช่นกัน
โดยกล่าวว่า ไปไหนประชาชนก็ถาม และสมาชิกพรรคเราก็ถาม ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจกับทุกคน ว่า เรื่องการยุบพรรคไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะตอบได้ เป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ...
นอกจากนี้ ยังตอบประชาชนว่า จะต้องทำทุกอย่างเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดย ส.ส.ไปอยู่พรรคใหม่ และสมาชิกไปสมัครสมาชิกพรรคใหม่ ทำให้เหมือนว่า พรรคอนาคตใหม่ยังคงอยู่
“จะทำให้ผู้มีอำนาจได้เห็นว่า การยุบพรรคไม่มีความหมายเพราะอนาคตใหม่ ไม่ใช่แค่พรรคที่มีผลทางกฎหมาย แต่เราคือคนทุกคนที่รวมตัวกันด้วยอุดมการณ์...วันนี้ประชาชนรู้สึกเหมือนว่า มีใบสั่งทางการเมือง อย่างไรหรือไม่... ทั้งนี้เมื่อศาลไม่รับฟ้อง เราก็คงจะดำเนินการอะไรไม่ได้”
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คดีที่ “ณฐพร” อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ข้อหาเป็นปฏิปักษ์-ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเอาไว้วินิจฉัยด้วยมติ 5 ต่อ 4 เมื่อ 19 ก.ค.62 ขณะนี้รอฟังคำวินิจฉัยเท่านั้น
ศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งต่อผู้ร้องและผู้ถูกร้อง(อนาคตใหม่) แล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีการเปิดห้องพิจารณาคดีไต่สวนคำร้องคดีดังกล่าว เพื่อเรียกผู้ร้องคือนายณฐพร และผู้ถูกร้องคือกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่มาเบิกความต่อหน้าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
กล่าวคือ เมื่อวันที่19 ธ.ค.62 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องของพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ถูกร้อง ที่ขอให้เปิดห้องพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อทำการไต่สวนพยานในคดีดังกล่าว และต่อมาก็มีการเผยแพร่เอกสารของศาลรัฐธรรมนูญที่ลงนามโดย นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญที่แจ้งไปยังผู้ร้อง คือพรรคอนาคตใหม่ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องทำการไต่สวน”
นี่เอง ก็ยิ่งสั่นสะเทือนพรรคอนาคตใหม่ เพราะเท่ากับว่า มีคดีใหญ่ให้ลุ้นถึง 2 คดี ว่าจะออกหัวหรือก้อย คือเป็น “บวก” (วินิจฉัยยกฟ้อง) หรือ เป็น “ลบ” ตัดสินยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรคตามกฎหมาย
จึงไม่แปลกที่ นางอมรัตน์ จะโพสต์เฟซบุ๊กอย่างเดือดดาล วิพากษ์วิจารณ์ศาลอย่างไม่ไว้เกียรติเลยแม้แต่น้อย แต่ระวังจะไปหมิ่นประมาทศาล และละเมิดอำนาจศาลอีกคดีก็แล้วกัน เพราะอย่าลืมว่า ทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมาย และเป็นครรลองของศาลนั่นเอง