xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอยุธยา เฮ! ศาลปค.เพิกถอนคำสั่งให้ท่าเรือขนถ่ายสินค้า สั่งแก้เสียงดังใน 90 วัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลปค.กลาง พิพากษาเพิกถอน คำสั่งอธิบดีกรมเจ้าท่าที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการท่าเรือขนถ่ายสินค้าจนก่อให้เกิดมลพิษกระทบสุขภาพชาวอ.นครหลวง อยุธยา พร้อมสั่งอุตสาหกรรมจังหวัด-นายกอบต.แก้ปัญหาเสียงดังรำคาญภายใน 90 วัน

วันนี้ (19ธ.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านอ.นครหลวงจ.พระนครศรีอยุธยา ยื่นฟ้องอุตสาหกรรมจังหวัดฯ กับพวก กรณีอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการต่าง ๆ เข้ามาดำเนินกิจการโรงงาน และท่าเรือขนส่งสินค้า จนเป็นเหตุให้เกิดฝุ่นละออง น้ำเสีย และส่งเสียงดังกระทบกระเทือนต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมรวม4คดี โดยคดีหมายเลขแดงที่ ส.49/2562 ที่สมาคมฯและชาวบ้านต. นครหลวง อำเภอนครหลวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับความเดือดร้อนจากการที่ นายประสงค์กลิ่นสวาทหอม กองกิจการท่าเรือคลังสินค้าคนไทยปูนซีเมนต์ถ่ายใต้ชื่อท่าเรือพี.เอ็น.พอร์ท ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ก่อให้เกิดฝุ่นละอองจากปูนซีเมนต์ ขนถ่ายสินค้าเสียงดังจอดเรือสินค้าทางน้ำ และ คดีหมายเลขแดงที่ ส.50/2562ที่สมาคมฯและชาวบ้านอำเภอนครหลวง ได้รับความเสียหายจากบริษัทท่าเรืออยุธยาและไอซีดีจำกัด ซึ่งประกอบกิจการท่าเรือและคลังสินค้าคนขายข้าวข้าวสารบรรจุถุงปุ๋ยเคมีอาหารสัตว์ ซึ่งมีท่าเรือยื่นออกมากลางแม่น้ำป่าสัก ทำให้เกิดปัญหาคลื่นน้ำกระทบตลิ่งหรือท่าน้ำของประชาชน และ เครื่องจักร ก่อให้เกิดเสียงดังรำคาญ

โดยศาลฯ พิพากษาเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมเจ้าท่า ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการท่าเรือขนถ่ายสินค้าบริเวณท่าเรือ พี.เอ็น. พอร์ท. และบริษัท ท่าเรืออยุธยาและไอซีดี จำกัด เปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสได้ โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่อนุญาต พร้อมทั้งให้นายกเทศมนตรีตำบลนครหลวง และนายกเทศมนตรีตำบลอรัญญิก ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ในการแก้ไขเหตุรำคาญเกี่ยวกับฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการท่าเรือขนถ่ายสินค้าดังกล่าว โดยให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด เนื่องจากเห็นว่า การเปลี่ยนประเภทการใช้ท่าเรือดังกล่าว จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 เมษายน 2555 แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่า อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้ให้ความเห็นชอบการเปลี่ยนประเภทการใช้ท่าเรือโดยไม่ปรากฏว่า ผู้ประกอบกิจการท่าเรือได้ดำเนินการจัดทำ EIA จึงเป็นกรณีที่ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด

ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ ส.52/2562ที่สมาคมฯและชาวบ้านอ.นครหลวง เพราะว่าได้รับความเสียหายจากบริษัทจิ้นหยูเฮง จำกัด ซึ่งประกอบกิจการเก็บรักษาและบรรจุปุ๋ยเคมี ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของฝุ่นละอองเสียงรบกวน และ คดีหมายเลขแดงที่ ส.53/2562 ที่สมาคมและชาวบ้านอำเภอนครหลวง ได้รับความ เดือดร้อน เสียหาย จากบริษัทเอสพีอินเตอร์มารีนจำกัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักประกอบกิจการลำเลียงสินค้าลงเรือด้วยระบบสายพาน เก็บรักษา ลำเลียงพืชเมล็ดพืช แป้งมันสำปะหลังก่อให้เกิดฝุ่นละอองเสียงรบกวนจากเครื่องจักร ศาลฯ พิพากษาให้อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 แก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญจากฝุ่นละอองและเสียงดังจากการประกอบกิจการโรงงานเก็บรักษาหรือแบ่งบรรจุปุ๋ยเคมีของบริษัท จิ้นหยู่เฮง จำกัด และการประกอบกิจการโรงงานลำเลียงสินค้าลงเรือด้วยระบบสายพาน และเก็บรักษาหรือลำเลียงพืช เมล็ดพืช หรือผลผลิตจากพืชในไซโลโกดังหรือคลังสินค้าของบริษัท เอส.พี. อินเตอร์ มารีน จำกัด พร้อมทั้งให้นายก อบต. บ่อโพง และนายก อบต. ปากจั่น ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของโรงงานทั้งสองแห่ง ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ในการแก้ไขเหตุรำคาญจากการประกอบกิจการดังกล่าวข้างต้น โดยให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า การประกอบกิจการโรงงานข้างต้นส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม และเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงงานฯ และนายก อบต.ในพื้นที่ตั้งของโรงงานดังกล่าว ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 จึงมีหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการดังกล่าวที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีผู้ใดมาร้องเรียนหรือแจ้งเหตุก่อน และต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก่อนผู้ฟ้องคดีจะนำคดีมาฟ้องต่อศาล อุตสาหกรรมจังหวัดฯ และนายก อบต. ในพื้นที่ ได้เข้าไปตรวจสอบสถานประกอบการดังกล่าว หรือดำเนินการใดๆ ตามอำนาจหน้าที่แล้วแต่อย่างใด กรณีจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติในการกำกับดูแลการประกอบกิจการดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น