xs
xsm
sm
md
lg

เซ็นทรัลวิลเลจ เฮต่อ! ศาล ปค.สูงสุดยืนตามศาล ปค.ให้รื้อสิ่งกีดขวางเปิดทางเข้าห้างฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เซ็นทรัลวิลเลจ (แฟ้มภาพ)
ศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งท่าอากาศยานไทยรื้อสิ่งกีดขวางเปิดทางเข้าเซ็นทรัลวิลเลจ ยันไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของท่าอากาศยานไทย

วันนี้ (11 ธ.ค.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ที่กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยมีคำสั่งให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ดำเนินการรื้อถอนสิ่งกีดขวางใดๆ ออกไปจากเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 บริเวณทางเข้าออกหน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต และยุติการดำเนินการใดๆ อันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์ใดๆ ของ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา และ บริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด และการดำเนินการของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว


โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา และบริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด เพียงขอเปิดใช้ทางเชื่อมระหว่างโครงการกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เพื่อให้ยานพาหนะสามารถผ่านเข้าออก และขอใช้สาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อประกอบกิจการโครงการเท่านั้น ยังไม่ได้มีลักษณะถึงขั้นเป็นการขัดขวางหรือรบกวนการปฏิบัติงานของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ข้ออ้างของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ที่ว่าการเปิดทางเชื่อมจะทำให้การจราจรบริเวณหน้าโครงการหนาแน่นขึ้น กระทบต่อการเดินทางของผู้ที่ต้องการใช้บริการท่าอากาศยาน ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการให้บริการ หรือกระทบต่อแผนพัฒนาท่าอากาศยาน เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันและแก้ไขได้ และส่วนที่อ้างว่าการก่อสร้างโครงการดังกล่าวใกล้เคียงกับทางขึ้นลงท่าอากาศยานอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินอากาศนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องของการก่อสร้างอาคารซึ่งเป็นคนละส่วนกับการทำทางเชื่อมเข้าออกที่พิพาทในคดีนี้

ดังนั้น การที่ศาลฯ จะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ตามคำขอของ บมจ.เซ็นทรัลฯ จึงไม่เป็นการเสียหายหรือเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เป็นที่ราชพัสดุซึ่งอยู่ในความดูแลของ บมจ.ท่าอากาศยานไทยนั้น เป็นเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลจะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของคู่กรณีต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น