วันนี้ (10 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ให้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 แต่ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ว่า ไม่ได้ช้า แต่ดูประหนึ่งเหมือนช้า สำหรับผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจาก ครม.ให้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วนั้นจะต้องผ่านการตรวจสอบประวัติโดยวุฒิสภา โดยจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดยหลังจากตั้ง กมธ.แล้วจะเปิดให้ประชาชนคัดค้านส่งข้อมูลมาได้ กรณีนี้เขาให้เวลา 1 เดือน ถ้าไม่เสร็จขยายต่อได้ คาดว่าประมาณปลาย ธ.ค.น่าจะจบ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของโปรดเกล้าฯ อีก
นายวิษณุกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่าควรแก้ไขกฎหมายนี้ เพราะตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นตำแหน่งเดียวที่จะต้องตรวจสอบประวัติ ถ้าตรวจโดยวุฒิสภาอย่างเดียวไม่มีปัญหา แต่นี่ตรวจโดย กมธ.ของสภาผู้แทนราษฎรด้วยซึ่งต้องไปตามลำดับ คือ สภาผู้แทนราษฎร แล้วค่อยมาวุฒิสภา ฉะนั้น ต้องไปแก้ไขกฎหมายว่าไม่ต้องไปสภาผู้แทนราษฎร
รองนายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ ปัจจุบัน ครม.ได้แต่งตั้ง น.ส.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ รองเลขาธิการ ก.พ.ร.ไปเป็นเลขาธิการ ก.พ.ร.แทนนายปกรณ์แล้ว แต่ยังต้องให้นายปกรณ์รักษาการเลขาธิการ ก.พ.ร.ไปก่อน ยังไม่ต้องข้ามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะถ้าให้นายปกรณ์ไปทำงานเลยทางนี้จะขาดผู้รักษาการจะยิ่งเดือดร้อนไปใหญ่
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบว่าจะใช้เวลาอีกนานหรือไม่ แต่ว่ากรอบมี อยู่ที่สภาจะกำหนด ส่วนใหญ่ประมาณ 1 เดือน