เมืองไทย 360 องศา
หลังจากมี 10 “งูเห่า”ของพรรคร่วมฝ่ายค้านออกมาเพ่นพ่านจากการลงมติหนุนองค์ประชุมให้กับฝ่ายรัฐบาลเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน พร้อมๆกับการที่มี 6 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่โหวตสวนทางกับมติพรรคร่วมรัฐบาล มันก็ทำให้เกิดคำถามและมีข่าวคราวตามมาทันทีว่าจะมีการ “ปรับคณะรัฐมนตรี” ตามมาหรือไม่ หรือตามข่าวที่อ้างเป็นรายงานข่าวว่าจะมีการปรับหลังจากผ่านช่วงปีใหม่ไปแล้ว
อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภาในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากท่าทีของ ส.ส.บางคนจากบางพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์และในท่ามกลางที่รัฐบาลมีเสียง “ปริ่มน้ำ” แบบนี้ ที่ทุกเสียงย่อมมีความหมายมันก็เชื่อว่าต้องมีการดำเนินการแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะเรื่องการ “ปรับคณะรัฐมนตรี” ที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงกันอย่างหนาหูหลังทราบผลการโหวตล้มญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ตามมาตรา 44
ถึงกับบอกว่าจะมีการปรับลดโควตารัฐมนตรีจากบางพรรคเช่น พรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่สามารถควบคุมเสียงได้ตามมติวิปรัฐบาล แล้วจะดึงเสียงส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยที่ตามข่าวบอกว่ามี ส.ส.”ฝากเลี้ยง”มาระยะหนึ่งแล้วจำนวนอีกประมาณ 20 คน หลังจาก “ท่อน้ำเลี้ยง”ที่นั่นอุดตันมานานนับปีแล้ว รวมไปถึง ส.ส.อีก 4 เสียงจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่ล่าสุดได้แสดงท่าทีชัดเจนมากว่าพร้อมเข้าร่วมรัฐบาลแล้ว รอเพียงเสียงโทรศัพท์เข้ามาเชิญจากแกนนำในรัฐบาลเท่านั้น
เมื่อพิจารณาตามตัวเลขทางคณิตศาสตร์มันก็ย่อมเป็นคำตอบได้ง่ายว่าการปรับคณะรัฐมนตรีและการปรับเปลี่ยนพรรคการเมืองในรัฐบาลต้องทำแบบนี้เพื่อแก้ปัญหารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำและเพื่อลดอำนาจการต่อรองจากบรรดาสารพัดพรรคการเมืองจำนวนเกือบ 20 พรรค
เพราะในความเป็นจริงมันไม่ง่ายแบบนั้น เริ่มจากการดึงโควตารัฐมนตรีคืนจากพรรคประชาธิปัตย์ตามที่มีรายงานข่าวจริง แค่นี้ก็ยุ่งแล้วเหมือนกับว่า “อ้อยเข้าปากช้าง” ใครจะคายออกมาง่ายๆ อีกทั้งหากทำแบบนี้มันก็ย่อมเกิด “แรงกระเพื่อม”ในพรรคแน่นอน และหากทำแบบนั้นจริงมันก็เหมือนกับว่าพรรคนี้ไม่มีประสิทธิภาพในการคุมเสียงภายใน ขาดเอกภาพเสียหายกันตั้งแต่ผู้บริหารพรรคชุดปัจจุบัน นี่ว่ากันเฉพาะพรรคนี้พรรคเดียวก่อน ยังไม่นับพรรคอื่น เช่น พรรคภูมิใจไทย ที่ออกมา “ดักคอ” ตั้งแต่ต้น สังเกตจากคำพูดของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ถือว่าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหลักอีกพรรคหนึ่ง และได้โควตารัฐมนตรีเกรดเอไปครอบครองหลายกระทรวงก็ออกมา “ตีกัน” แบบทันควัน ในทำนองว่าไม่มีสัญญาณการปรับคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งระบุในทำนองว่า “งูเห่า” ไว้ใจไม่ได้
โดยเขาให้ความเห็นว่าสมควรที่จะ “ดูแลคนในบ้าน”ดีกว่า อะไรทำนองนี้ ความหมายก็คือเป็นการส่งสัญญาณกลับไปว่าไม่เห็นด้วยกับการปรับคณะรัฐมนตรี และคำพูดที่ว่าให้ดูแลคนในบ้านมันก็เหมือนกับว่าให้มีการพูดจาทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ที่เชื่อว่าพวกเขาคงรู้หน้าที่ว่าสมควรแก้ปัญหาอย่างไร “ไม่ควรไปซ้ำเติมเขา”
ที่ผ่านมาเมื่อครั้งที่มีการฟอร์มรัฐบาลใหม่ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทราบกันว่าพรรคภูมิใจไทยได้จับมือแพ็กกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่น เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับพรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรคแกนนำ เพราะรู้ดีว่าหากขาดพรรคใดพรรคหนึ่งไปก็ไม่อาจตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จนทำให้สองพรรคนี้สามารถต่อรองได้โควตากระทรวงเศรษฐกิจไปบริหารเรียบวุธ หรือแม้แต่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ตกไปเป็นของ นายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ในที่สุด
นั่นคือสภาพความเป็นจริงทางการเมืองที่เป็นอยู่ ส่วนใครจะมีความเหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับหรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งหากมีการเปลี่ยนโครงสร้างพรรคร่วมรัฐบาลใหม่พวกเขาก็จะเสียอำนาจต่อรองทันที และเชื่อว่าคงไม่ยอม
ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนความเป็นจริงให้เห็นว่าการปรับคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งนั้นไม่ง่าย จะเรียกว่าเป็น “งานหิน” ก็ว่าได้ ที่สำคัญยังเสี่ยงต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลอีกด้วย เพราะหากไม่สามารถบริหารจัดการหรือรักษาความสมดุลของแต่ละพรรคได้อย่างเหมาะสม ก็จะพังเอาง่ายๆ และหากย้อนอดีตการเมืองที่ผ่านมาก็แทบจะมองไม่เห็นเลยว่าการปรับคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมที่มาจากหลายพรรคการเมืองแล้วจะทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลมั่นคงเป็นเอกภาพมากกว่าเดิม
ในทางตรงกันข้ามเสี่ยงที่จะเกิดความแตกแยก มี “ฝายแค้น”ในรัฐบาลเพิ่มขึ้นกว่าเดิมไปอีก และด้วยสภาพของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีจำนวนมากถึงเกือบ 20 พรรคแบบนี้ ลองหลับตาดูเอาก็แล้วกันว่าเมื่อมีการปรับรัฐมนตรีจากบางพรรคออกไปแล้วจะเกิด “แรงกระเพื่อม” ขนาดไหน และยังไม่รวมพวกพรรคเล็กสารพัดจะขอโควตารัฐมนตรีบ้างจนชุลมุนวุ่นวายไปหมด
หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ก็ต้องบอกว่ามันก็เป็นไปได้ แต่ถือว่า “ยาก” และเสี่ยงต่อแรงกระเพื่อมที่จะตามมา จนถึงขั้นอาจทำให้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องล่มไปในที่สุดก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่หากมองว่าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นการเล่นเกม “ขู่” และกดดันผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ให้ควบคุมเสียงภายในให้เป็นไปในทางเดียวกัน และให้ปรามพวก ส.ส.ในขั้วอำนาจเก่าของพรรคหยุดโจมตีรัฐบาลก็น่าจะเป็นไปได้มากกว่า
ขณะเดียวกันจากปรากฏการณ์ “โหวตสวน” ดังกล่าวก็ทำให้มองเห็นพวก “งูเห่า” หรือพวก ส.ส.ฝากเลี้ยงจากพรรคเพื่อไทยได้ชัดเจนขึ้น และ “เรียกใช้”กันเป็น “จ็อบๆ”ไปสักระยะ ขณะเดียวกันก็เป็นภาพเชิงซ้อนว่าในวันข้างหน้าพรรคเพื่อไทยจะ “เลือดไหล”ออกไปเป็นจำนวนมาก ตราบใดที่ “ท่อน้ำเลี้ยง” ยังอุดตันอยู่แบบนี้ !!